เรื่อง Silicon Valley Bank เป็นอย่างไร?

เมื่อช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่แล้ว มีเหตุการณ์สั่นสะเทือนคนเกือบทั่วโลกก็ว่าได้ คือการล้มละลายธนาคาร Silicon Valley Bank (เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า SVB) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตามไปด้วย Signature Bank ในรัฐนิวยอร์ก และลากไปถึงธนาคาร Credit Suisse ในยุโรป

    การล้มละลายของธนาคาร สองธนาคารแรก ทำให้คนหวาดเสียวและกลัวว่ามันจะมีผลกระทบกับภูมิภาคเรา สำหรับคำถามนี้ แฟนคอลัมน์ต้องปรึกษาหารือกับคนที่รู้เรื่องการเงิน การธนาคารดีกว่าผม แต่สิ่งที่ผมสามารถให้ความรู้ได้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นความรู้รอบตัว เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน

SVB เป็นธนาคารที่มีอายุยาวถึง 40 ปี ถ้าพูดแบบบ้านๆ ธนาคารนี้ไม่ได้เป็นธนาคารสำหรับคนทั่วไป กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ลูกค้าธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเป้าหมายของ SVB คือกลุ่มในด้าน Tech ยิ่งเฉพาะกลุ่มประเภท Start Up Tech ทั้งหลายครับ

ช่วงพีกสุดของ SVB คือช่วงยุคโควิด ที่โลกของเราหยุดหมุนชั่วคราวและทุกคนต้อง Work From Home ไม่ได้หมายความว่า ในช่วงที่ทุกคนทำงานจากบ้านเป็นยุครุ่งเรืองของการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้าน Tech นะครับ แต่หมายความว่า ต่อเมื่อทุกคนอยู่บ้าน เรามีเวลามากขึ้น ทำให้การซื้อของทางออนไลน์มันพุ่งกระฉูด ซึ่งเป็นการซื้อของใช้ทั้งของส่วนตัว เพื่อครอบครัว เพื่อสัตว์เลี้ยงที่บ้าน แต่จำนวนไม่น้อยซื้อเพื่อส่งเสริมอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับการสื่อสารและการทำงาน ไม่ว่าจะหูฟังสำหรับการประชุม ไฟสำหรับส่งเสริมภาพในจอ ขาตั้งสำหรับเครื่องคอมพ์ มีอุปกรณ์สารพัดที่คนซื้อกันช่วงนั้น ด้วยความจำเป็น เพื่อส่งเสริมคุณภาพการทำงาน

แต่บวกกับความจำเป็น ก็มีอุปกรณ์ไร้สาระที่อยากได้มากกว่าต้องการ แต่เนื่องจากอยู่บ้านทั้งวี่ทั้งวัน พอซื้อสิ่งใหม่เข้ามามันทำให้รู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกฉีกแนวจากสิ่งเดิมๆ ที่เกิดขึ้นจำเจๆ ทุกวัน

พอคนซื้อของ หรือซื้ออุปกรณ์เสริม (ที่ผสมผสานกันระหว่างจำเป็นกับไร้สาระ) เป็นจำนวนมหาศาลนั้น เจ้าของบริษัทอุปกรณ์ทั้งหลายไปเปิดบัญชีและฝากเงินไว้กับ SVB ซึ่งตามหลักการแล้ว เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินมีเงินจำนวนเยอะเข้ามาในบัญชีตัวเอง ทางธนาคารต้องเอาเงินไปลงทุนต่อ เพราะธนาคารควรถือเงินสดน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เหมือนธนาคารทั่วไป SVB เลือกซื้อพันธบัตรของรัฐเป็นจำนวนหลายพันล้านเหรียญฯ เพราะพันธบัตรมั่นคง ปลอดภัย และคืนกำไรแน่นอน (ในทฤษฎี) ในอนาคต ทั้งสั้นทั้งยาว

ถึงแม้การลงทุนหรือซื้อพันธบัตรเป็นสิ่งที่ปลอดภัยก็ตาม แต่การลงทุนทุกสิ่งยังมีความเสี่ยงอยู่ดีครับ ปีที่แล้วทางธนาคารกลางของสหรัฐได้ประกาศมาตรการลดเงินเฟ้อที่กำลังขึ้น ผลกระทบคือพันธบัตรที่ SVB ลงทุนหลายพันล้านเหรียญฯ นั้น มีราคาตกทันที เลยลบล้างคุณค่าของตัวพันธบัตรในกะพริบตาก็ว่าได้

แต่สิ่งที่ทำให้ SVB ล้มเร็วขึ้น คืออุตสาหกรรม Tech เหมือนจะชะลอตัว และไม่รุ่งเหมือนยุคก่อนๆ เห็นได้ชัดจากการไล่พนักงานเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Meta กับ Microsoft เป็นต้น ทำให้บริษัทด้าน Tech ที่ฝากเงินไว้กับ SVB ทั้งฝากเงินน้อยลง และหลายรายขอถอนเงินออกด้วยซ้ำ

ต่อเมื่อธนาคารมีเงินสดน้อยอยู่ในมืออยู่แล้ว พอลูกค้าเป็นจำนวนมากแห่เข้ามาขอถอนเงินออก อันนั้นเกิดปัญหาทันที ทางแรกที่จะแก้ไขวิกฤตคือ รีบขายสิ่งที่ลงทุนไปเพื่อมีเงินสดเข้ามา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า สิ่งที่ SVB ลงทุนคือพันธบัตร แต่พอธนาคารกลางของสหรัฐออกนโยบายทำให้พันธบัตรที่เขาลงทุนถูกลดค่าไปเป็นจำนวนมาก พันธบัตรที่ลงทุนไปแล้วต้องขายในราคาขาดทุน แต่เพื่อรับกับสถานการณ์ เขาต้องทำ และในที่สุดก็ขายพันธบัตรเป็นจำนวน 21 ล้านเหรียญฯ ซึ่งขาดทุนไป 1.75 ล้านเหรียญฯ

ในวันที่ 8 มีนาคม ทาง SVB ต้องประกาศระดมหาทุนเพื่อโปะกับส่วนต่างที่ขาดทุนไป ซึ่งการประกาศในครั้งนี้ ทำให้ทั้งลูกค้าและผู้ลงทุนทั้งหลายผวาและตื่นตระหนกขึ้นมา จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Bank Run เหตุการณ์ Bank Run เป็นปรากฏการณ์ที่ลูกค้าธนาคารจำนวนมากแห่มาถอนเงินในเวลาใกล้เคียงหรือพร้อมๆ กัน เพราะไม่มั่นใจกับเสถียรภาพของธนาคารนั้นๆ เนื่องจากธนาคารถือเงินสดน้อยอยู่แล้ว พอลูกค้าแห่ต่อคิวยาวๆ เพื่อถอนเงินสดออก และธนาคารไม่มีเงินสดจะให้เขา อันนั้นล่ะครับเป็นการทำให้ธนาคารต้องล้ม และล้มละลายครับ

และอันนี้คือสาเหตุที่ทำให้ SVB จากเป็นธนาคารลำดับที่ 16 ของสหรัฐ ที่มีทั้งทรัพย์สินและเงินฝากถึง 212 ล้านเหรียญฯ ถึงขั้นต้องล้มละลายภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา จนประธานาธิบดี Joe Biden ต้องเข้ามาจัดการและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายไปกว่านี้ สิ่งที่ทาง Biden ทำคือ รับรองเงินฝากของลูกค้าทุกราย ส่วนผู้ถือหุ้น SVB จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแม้แต่นิดเดียว ซึ่งในสมัยก่อน ช่วงวิกฤต Hamburger เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นสถาบันการเงินและธนาคารที่ล้มละลาย ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้คนทั่วไปรู้สึกไม่พอใจ และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ SVB จะไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือเงินช่วยเหลือแม้แต่นิดเดียว มีแต่ลูกค้าที่จะรับความช่วยเหลือจากรัฐ ตอนนี้ทางรอดของ SVB มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องถูกซื้อจากธนาคารอื่นเท่านั้นครับ หน่วยงานของรัฐจะไม่เข้ามาอุ้มเหมือนเมื่อก่อน

หลังเกิดเหตุการณ์ SVB ส่งผลกระทบให้กับธนาคาร Signature Bank และต่อมา Credit Suisse แต่ดูเหมือนกรณีของ Credit Suisse จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก SVB กับ Signature Bank และดูเหมือน Credit Suisse ได้รับความช่วยเหลือจากการกู้เงินเป็นจำนวน 54 ล้านเหรียญฯ จาก Swiss National Bank

เพื่อเห็นภาพความยิ่งใหญ่เรื่อง SVB การปิดหรือการล้มละลายของธนาคารนี้ เป็นธนาคารของสหรัฐลำดับใหญ่ที่สุด ที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ล้มไป ธนาคาร Signature Bank อยู่ในลำดับที่ 3 ต่อมาครับ ลำดับที่ 1 คือธนาคาร Washington Mutual เมื่อปี 2008 ครับ ที่ถือทั้งทรัพย์สินและมีเงินฝากถึง 386 ล้านเหรียญฯ

วันนี้ถือว่าเป็นการเล่าที่มาที่ไปของเรื่องซับซ้อนและเข้าใจยาก ถือว่าเป็นข้อมูลให้แฟนคอลัมน์ใช้เป็นความรู้รอบตัว เวลาติดตามข่าวคราวเรื่องนี้จะได้ต่อเรื่องได้ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว

คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง

เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ

'BRO!!!!!'

เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า

“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย

ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้