นโยบายแจกปลา

ฟังแล้วนึกภาพตาม

สิ่งที่ "นิพนธ์ พัวพงศกร" นักวิชาการเกียรติคุณ  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งกำลังติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการหาเสียงครั้งนี้ เพื่อออกรายงานทางวิชาการของทีดีอาร์ไอ ออกมาพูด ฟังดูแล้ว...

พรรคการเมืองขายฝันกันเยอะเหลือเกิน

"นิพนธ์" บอกว่า จากการเก็บข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จาก ๘ พรรคการเมือง มีทั้งสิ้น ๗๖  นโยบาย พบว่าในจำนวน ๕๐ นโยบาย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

หาก พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. พรรค ง. ร่วมกันเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในนโยบายดังกล่าว

เกินกำลังของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมีแค่ ๓ ล้านล้านบาท!

เช่นนโยบายที่จะให้เงินผู้สูงอายุหรือเบี้ยคนชรา ปัจจุบันใช้เงินอยู่ประมาณ ๙ หมื่นล้านบาท

หากทำตามนโยบายที่บางพรรคการเมืองได้หาเสียง  จะต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๔ แสนล้านบาท

ขณะที่พรรคการเมืองทุกพรรคซึ่งหาเสียงอยู่ในขณะนี้  ไม่มีพรรคการเมืองไหนบอกว่ามีนโยบายปรับขึ้นภาษี

ฉะนั้นที่มาของเงินนอกจากงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็คือ "กู้"

 “พูดง่ายๆ คุณกำลังหาเสียงวันนี้ โดยนำเงินในวันหน้าที่ลูกหลานของเรา จะต้องทำมาหากิน มาใช้ในการหาเสียงเพื่อจะได้เป็นรัฐบาล อันนี้คือปัญหาที่น่ากลัว โดยที่พบว่ายังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าแล้วจะหาเงินจากที่ไหนมาทำนโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะเพียงพอหรือไม่โดยไม่สร้างความเดือดร้อน”

สิ่งที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอสะท้อนมานี้ ทุกพรรคการเมืองต้องตระหนัก เพราะสุดท้ายแล้วภาระจะตกอยู่กับประชาชน

มาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง บัญญัติว่า... การกําหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คํานึงถึง ความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

 (๑) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ

 (๒) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย

 (๓) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทํารายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดําเนินการ ให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

แต่แทบไม่มีพรรคการเมืองให้ความสนใจกฎหมายมาตรานี้เลย

มีบางพรรคได้รับคำชมว่าระบุถึงที่มาของงบประมาณที่จะนำไปตอบสนองนโยบายอย่างชัดเจน นั่นคือพรรคก้าวไกล

ครับ...ก็สงสัยไม่หายว่าคนชม ต้องโลกสวยขนาดไหน

พรรคก้าวไกลบอกว่ามีงบประมาณเหลือเฟือ แค่โยกงบจากกระทรวงกลาโหม สักหมื่นล้านก็สามารถสร้างสวัสดิการอื่นๆ ให้ประชาชนได้แล้ว

งบกลางก็ตัดไปใช้ได้

คนไม่เป็นรัฐบาลพูดง่ายครับ แต่พอเป็นแล้วก็ไม่ต่างจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา   

พรรคก้าวไกลมีนโยบายปฏิรูปกองทัพให้เล็กลง ใช้งบประมาณน้อยลง ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จภายในปีสองปี

ขณะเดียวกันงบกระทรวงกลาโหมเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ก็อยู่ในระนาบเดียวกัน

ฉะนั้นหากรัฐต้องการเพิ่มรายได้ ไม่กู้ก็ต้องจัดเก็บภาษีเพิ่ม

แต่พรรคการเมืองจะไปสนใจทำไม ในเมื่อไม่ทำตามกฎหมายก็มีแค่โทษปรับเท่านั้น 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๑๒๑ บัญญัติว่า...

"พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง"

นอกจากมีแค่โทษปรับแล้ว อีกประเด็นซึ่งสำคัญกว่ามาก เพราะสิ่งนี้ทำให้กฎหมายเป็นเพียงเสือกระดาษ นั่นคือ "การตรวจสอบ"

หลายพรรคนำเสนอนโยบายตอนหาเสียงไว้มากมาย  แต่พอเป็นรัฐบาล นโยบายกลับหายไปดื้อๆ

ไม่มีอยู่ในนโยบายของรัฐบาล

แต่ไม่เป็นไร เพราะยังมีเรื่องให้ประชาชนเจ็บช้ำน้ำใจกว่านั่นคือ ตอนหาเสียงก็ไปหลอกชาวบ้านว่าทำได้ ได้เป็นรัฐบาล ก็หลอกสภาว่ามีแน่นอน

สุดท้ายหายต๋อม

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เลย นั่นคือนโยบาย ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย ทุกสาย

พรรคการเมืองพ่นน้ำลายกันเวทีเปียก ได้เป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ ๒๐ บาททุกสายแน่นอน

ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย รัฐบาลทักษิณ ตอนที่มีรถไฟฟ้าแค่ สายสองสาย จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาวันนี้ รถไฟฟ้าเกือบ ๑๐ สาย พรรคเพื่อไทยยังเล่นมุกเดิม ๒๐  บาทตลอดสายอยู่

ขนาดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เอานโยบายนี้มาล่อคนกรุงด้วย

สุดท้ายเป็นไง

อย่างที่เห็น ร้องเป็นแพะ

นโยบายประชานิยมกำลังทำให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิพิการ 

ใช่ครับ รัฐสวัสดิพิการ  

ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ

เพราะจ่ายอย่างเดียว ไม่ยอมพูดถึง "รายได้"

รอดูอยู่ครับว่าจะมีพรรคการเมืองไหนหาญกล้าประกาศขึ้นภาษี VAT จาก ๗ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๑๐  เปอร์เซ็นต์ 

พรรคที่ประกาศคือพรรคที่ไม่หลอกประชาชน        

จริงอยู่ครับ ไม่มีพรรคไหนบ้าบิ่นเอาเรื่องการขึ้นภาษีมาหาเสียง แต่อย่างน้อยควรบอกกับประชาชนว่า ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ ต้องแลกมาด้วยอะไร

การขยายฐานภาษี การจัดเก็บภาษีในอัตราที่สามารถรองรับการพาประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการคือสิ่งจำเป็น และประชาชนเองก็ต้องเข้าใจสิ่งนี้

หาไม่แล้ว รัฐบาลที่คิดน้อยก็ใช้วิธีง่ายๆ กู้ กู้ และกู้  โยนภาระให้ลูกหลาน

อย่างที่ทำกันมาตลอด

เก็บเบ็ดไว้ แจกปลากันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บ้านพิษส่องหล้า

นานๆ ทีถึงจะได้เปิดใช้ บ้านพิษณุโลกครับ วานนี้ (๒๖ กันยายน) "มาดามแพ" นำทีมที่ปรึกษา ๕ อรหันต์ทองคำ เปิดบ้านพิษณุโลก ประชุมเรื่องการบ้านการเมือง

'พรรคส้ม' พี่เก๋าหรอ

หันหัวเรือกลับเรียบร้อย... พรรคเพื่อไทยใส่เกียร์ถอย ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลวลงใน ๖ ประเด็นแล้ว

ไม่ใช่จุดยืน เป็นวิถีชีวิต

ไม่ง่ายเสียแล้วครับ... พรรคภูมิใจไทยประกาศจุดยืนสวนทางกับพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะบรรลุเป้าหมายต้องออกแรงเพิ่มอีกหลายเท่า

ชำระบัญชีแค้น

ว่องไวเชียว... วันที่ ๑ ตุลาคมนี้ รัฐบาลเขาจะสุมหัวแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้วครับ "บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม" จะนั่งหัวโต๊ะ เรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาถามว่าจะเอาไงใน ๒ ประเด็น

สภาฯ จะไปทั้งยวง

ระวังจะพังทั้งสภาฯ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ เป็นที่ชัดเจนชนิดไม่แคร์ใคร พรรคเพื่อไทย เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งสิ้น ๖ ประเด็น ประกอบด้วย

ทักษิณ 'ริ' เพื่อไทย 'ยำ'

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญครับ แต่มีการวางแผนมาอย่างแยบยล นับแต่ "ทักษิณ ชินวัตร" เดินทางกลับไทยจวบจนถึงวันนี้ จากนักโทษชาย จนได้รับใบบริสุทธิ์ แต่ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน