มะกัน-จีน-รัสเซีย กับอาวุธสงคราม

เมื่อวานนี้ได้เขียนถึงข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ว่าจีนกำลังจะส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียทำสงครามยูเครน และวอชิงตันกำลังอยู่ในกระบวนการ “ซาวเสียง” พันธมิตรตะวันตกที่จะ “คว่ำบาตร” จีน

จีนปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ก็ยังยืนยันถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโก

จีนบอกว่าปักกิ่งต้องการจะเห็นสงครามนี้สงบ จึงได้เสนอ “แผนสันติภาพ” ไม่ได้ต้องการจะให้สงครามลากยาวออกไป

แต่ข่าวกรองตะวันตกอ้างว่า รัสเซียได้ขออาวุธจากจีนหลายครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนของสงคราม แต่จีนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ข่าวกรองตะวันตกอ้างด้วยว่า ปักกิ่งเพียงแต่ให้ความช่วยเหลือรัสเซียด้วยข้าวของที่ไม่ใช่อาวุธทำลายล้างกัน  เช่น หมวกนิรภัย และวัสดุที่เป็นอะไหล่ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องบิน เท่านั้น

แต่ฝ่ายอเมริกันไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะ ว่าผู้นำจีนกำลังจะเปลี่ยนท่าทีด้วยเหตุผลอันใด แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ Der Spiegel นิตยสารเยอรมัน อ้างว่ากองทัพของรัสเซียกำลังเจรจากับ Xi’an  Bingo Intelligent Aviation Technology ซึ่งเป็นบริษัทของจีน เพื่อซื้อโดรนโจมตี 100 ลำ

รัสเซียใช้โดรนดังกล่าวทั้งในแนวหน้าและตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีระบบไฟฟ้าของยูเครนเป็นประจำ

หนึ่งวันหลังจากรายงานของ Der Spiegel  หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาก็อ้างถึงเจ้าหน้าที่อเมริกันว่าจีนกำลังพิจารณาที่จะส่งกระสุนไปให้รัสเซีย

หากเป็นกระสุนก็อาจจะเข้าข่ายเป็นอาวุธที่ใช้ในสงครามได้

ผู้รู้บอกว่าทั้งรัสเซียและยูเครนใช้กระสุนขนาด 122  มม. และ 152 มม.ของโซเวียตในการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กัน ทั้งสองฝ่ายกำลังพยายามจะควานหากระสุนเหล่านี้มาเติมเต็มที่ร่อยหรอลง

เพราะสู้กันมาเกินหนึ่งปี ยิงกันทั้งวันทั้งคืน คลังแสงทั้งสองฝ่ายก็ย่อมจะหดหาย

รัสเซียพยายามหาพันธมิตรที่จะช่วยส่งกระสุนมาให้ได้ มองไปมองมาก็มีแต่เบลารุสและอิหร่าน ซึ่งก็ไม่ได้มีคลังแสงใหญ่พอที่จะตอบสนองความต้องการของรัสเซีย

ข่าวกรองตะวันตกจึงอ้างว่า รัสเซียจำเป็นต้องขอให้จีนซึ่งเป็นสหายสนิทและมีศักยภาพมากกว่าอิหร่านและเบลารุสช่วยในเรื่องนี้แน่นอน

ข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศระบุว่า จีนอยู่ในฐานะที่จะพลิกสถานการณ์สู้รบได้

หากปักกิ่งตัดสินใจจะกระโดดเข้าข้างรัสเซีย ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้จีนและโลกตะวันตกได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะจีนเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก

บริษัท 8 แห่งติดอันดับล่าสุดของบริษัทอาวุธ 100  อันดับแรกของโลก เป็นข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม

โดย 7 แห่งอยู่ใน 20 อันดับแรก เป็นรองจากอเมริกาเท่านั้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัทอาวุธชั้นนำของจีนเติบโตขึ้นอย่างมาก

มองอีกด้านหนึ่ง สงครามก็ยังอาจเปิดโอกาสให้จีน “รีเซต” หรือปรับสมดุลความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับรัสเซีย หลายปีที่ผ่านมาจีนต้องนำเข้าเทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย

ระหว่างปี 2017 ถึง 2021 ร้อยละ 81 ของการนำเข้าด้านกลาโหมของจีนมาจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นล่าสุดของจีน

ดังนั้น วันนี้จีนมีโอกาสที่จะพลิกกลับกลายเป็น "หุ้นส่วนทางอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน” สำหรับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซีย

มีการตั้งข้อสงสัยว่าแทนที่จะส่งแค่ชุดอุปกรณ์พื้นฐาน  จีนสามารถช่วยรัสเซียหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ โดยส่งส่วนประกอบไฮเทคสำหรับโดรน ขีปนาวุธร่อน และอาวุธที่มีความแม่นยำอื่นๆ

ขณะเดียวกันรัสเซียอาจจะตอบแทนด้วยการตอบสนองความต้องการของจีนด้านเทคโนโลยีสำหรับ rd-180  ซึ่งเป็นเครื่องยนต์จรวดของรัสเซียที่ใช้สำหรับการปล่อยอวกาศ (และอาจเป็นขีปนาวุธนำวิถี) หรือเทคโนโลยีเรือดำน้ำและเครื่องยนต์เจ็ต

ในอีกแง่หนึ่ง สี จิ้นผิง คงไม่ต้องการให้ปูตินแพ้สงคราม แม้จะไม่อยากให้จีนถูกลากเข้าไปร่วมสงครามก็ตาม

จีนเห็นชาติตะวันตกโหมส่งอาวุธทันสมัยอย่างต่อเนื่องให้ยูเครน ก็ย่อมจะประเมินได้ว่ารัสเซียคงกำลังเผชิญกับความท้าทายหนักหนาสาหัสในสนามรบ

ต้องไม่ลืมว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนปูตินสั่งทหารบุกยูเครนนั้น ปูตินบินไปปักกิ่งเพื่อร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

ในโอกาสนั้นรัสเซียและจีนเฉลิมฉลองมิตรภาพที่ "ไม่มีขีดจำกัด" ของทั้งสอง

สี จิ้นผิงคงจะเข้าใจคำว่า “รัสเซียชนะสงครามยูเครนได้ยาก แต่ก็แพ้ไม่ได้”

ตรงนี้คือความลำบากใจอย่างยิ่งสำหรับผู้นำจีนวันนี้ ปักกิ่งคงจะชอบความคิดที่จะให้รัสเซียทำสงครามต่อเนื่อง เพื่อหันเหพลังงานของอเมริกาไปยังยุโรป และออกห่างจากอินโด-แปซิฟิกอันเป็นเวทีสำคัญสำหรับปักกิ่ง

ถ้าจีนจะช่วยรัสเซียก็ต้องทำอย่างไม่เปิดเผย ซึ่งก็ทำไม่ได้ง่ายนักในภาวะที่มีการตรวจสอบข้อมูลกันอย่างละเอียดโดยทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งนี้

จีนจึงค่อนข้างจะงุนงงที่มีการกล่าวหาจีนเรื่องช่วยรัสเซียในจังหวะนี้

หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน เคยบอกผู้นำยุโรปว่าจีน “จะไม่จัดหาอาวุธให้รัสเซีย” แน่นอน

โดยอ้างว่าจีนจะไม่ส่งอาวุธไปยังประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนหลีกเลี่ยงมาตลอด

ดังนั้น เราจึงกำลังเห็นการประลองกำลังด้านการเมืองและการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นนี้อีกหนึ่งประเด็น ที่ทับซ้อนมากับความขัดแย้งเรื่องอื่นๆ ระหว่างสองมหาอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน

ทะเลจีนใต้

บอลลูนสอดแนม

การแบน TikTok

และวาทกรรมของนักการเมืองในรัฐสภาและนักวิชาการของทั้งสองฝ่าย ที่ปล่อยหมัดใส่กันอย่างไม่ยั้งมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ