สหรัฐฯส่งทหารเพิ่มไต้หวัน ยกระดับความตึงเครียดกับจีนทันที

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ “ฉิน กัง” เปิดแถลงข่าวครั้งแรกกับสื่อเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ย้ำว่าเรื่องไต้หวันเป็น “เส้นแดงห้ามผ่าน” สำหรับสหรัฐฯ

และหากวอชิงตันยัง “เร่งความเร็วบนเส้นทางที่ผิด ก็จะเกิดผลร้ายที่เป็นมหันตภัยในความสัมพันธ์ของเราแน่นอน”

แต่อเมริกายังเดินหน้าเรื่องไต้หวันต่อ

ขณะที่สงครามยูเครนยังร้อนแรงอยู่ สหรัฐฯก็ยกระดับอุณหภูมิการเมืองกับจีนกรณีไต้หวันเพิ่มขึ้นมาอีก

ด้วยข่าวที่ว่าวอชิงตันเตรียมส่งทหารอเมริกันไปประจำการไต้หวันจากเดิม 20-30 คนเป็น 200 คนเป็นอย่างน้อย

แม้ตัวเลขรวมจะไม่สูง แต่ปักกิ่งก็ต้องเต้นเพราะนี่คือความจงใจของสหรัฐฯที่จะยั่วยุจีน

เพราะสหรัฐฯยังอ้างกฎหมาย “ความสัมพันธ์กับไต้หวัน” ของตนเป็นเหตุผลของการเสริมกำลังทางทหารให้ไต้หวัน

โดยอ้างว่าป้องกันไม่ให้ปักกิ่งคิดจะบุกไต้หวันด้วยกำลังทหาร

กฎหมายที่ว่านี้สะท้อนถึงการเรียกร้องให้เพิ่มความร่วมมืออย่างเปิดเผยกับไต้หวัน

เพื่อพยายามกำหนดว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนกองทัพของเกาะได้ดีที่สุดอย่างไร

ในอดีต รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายสาธารณะค่อนข้าง “คลุมเครือ” ในประเด็นนี้

โดยเขียนไว้ในกฎหมายว่าสหรัฐฯจะช่วยไต้หวันเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันตัวเองจากภัยรุกราน

ไม่ได้ระบุว่าจะต้องส่งทหารมาช่วยไต้หวันรบหากจีนแผ่นดินใหญ่บุก

โดยทางการแล้ว สหรัฐฯก็ยังประกาศว่าวอชิงตันยังคงยึดมั่นในนโยบาย 'จีนเดียว'

เอกสารทางการของสหรัฐฯจะเขียนว่า

“จนถึงทุกวันนี้ จุดยืน 'จีนเดียว' ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่: สหรัฐฯ ยอมรับ เป็นรัฐบาลตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวของจีน แต่ยอมรับจุดยืนของจีนที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น”

“ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงรักษาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนและมีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน”

แต่ในช่วงหลังนี้มีการถกแถลงกันในเรื่องของจุดยืนนี้ร้อนแรงขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหลายครั้งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศยืนยันว่าวอชิงตันจะเข้าไปเกี่ยวข้องหากเกิดเหตุการณ์ที่จีนรุกรานไต้หวัน

แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวออกมา “ชี้แจง” เพิ่มเติมด้วยการอธิบายว่าสหรัฐฯ ยังคงยืนหยัดนโยบายจีนเดียว และจะไม่ถอยห่างจากนโยบายดังกล่าว

เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างเป็นทางการ

แต่ในทางปฏิบัติ วอชิงตันกลับทำประหนึ่งว่าคำว่า “จีนเดียว” เป็นเพียงนโยบายบนกระดาษเท่านั้น

เพราะยังเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯ ที่จะส่งไปประจำการบนเกาะไต้หวัน

นั่นย่อมทำให้ปักกิ่งเดือดดาลและถือว่านี่คือการ “ตระบัตรสัตย์” ของวอชิงตัน

ยิ่งผู้นำไต้หวันอย่างประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินด้วยแล้วก็ยิ่งตอกย้ำสม่ำเสมอว่าสหรัฐฯกับไต้หวันยังคงความสัมพันธ์ทั้งด้านความมั่นคงและการทูต (ไม่ต้องพูดถึงด้านเศรษฐกิจ) อย่างต่อเนื่องและยังจะขยายตัวไปเรื่อย ๆ

ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างไทเป ปักกิ่ง และวอชิงตันเข้าสู่ภาวะตึงเครียดเป็นพิเศษด้วยปัจจัยที่โยงกันหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทเรื่องดินแดนเหนือไต้หวันและทะเลจีนใต้

กรณี “บอลลูนสอดแนมจีน” ที่สหรัฐฯยิงตกเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ

หรือการรุกคืบอย่างเร่งรัดของจีนเองและการลงทุนอย่างหนักหน่วงในเทคโนโลยีทางทหารและระบบอาวุธระดับสูง

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯอ้างว่าจะพยายามหามาตรการที่จำเป็นเพื่อ “หลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ลุกลามต่อไป” ในขณะที่ มั่นใจว่าไต้หวันสามารถป้องกันตัวเองได้

“สิ่งที่ยากต่อการตัดสินอย่างหนึ่งคือสิ่งที่จีนไม่พอใจอย่างแท้จริง” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวกับสื่อ WSJ ของสหรัฐฯที่เปิดเผยแผนสหรัฐฯที่จะส่งทหารมะกันไปประจำการบนเกาะไต้หวันเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้

การปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ ในไต้หวันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ไต้หวันส่งกำลังทหารเข้าประจำการที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ ตอกย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ขยายตัวระหว่างสองประเทศ

จีนจะตีความอย่างไรนั้นดูไม่ยาก เพราะต้องตีความว่าเป็นการแสดงความเป็นศัตรูของสหรัฐฯต่อจีนแน่นอน

อุณหภูมิตรงช่องแคบไต้หวันยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อหน่วยข่าวกรองสหรัฐอ้างว่ามีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้สั่งให้กองทัพจีน “เตรียมพร้อมภายในปี 2027” ที่จะบุกไต้หวัน

ข้อความนี้ไม่ได้มาจาก “แหล่งข่าว” หากแต่มาจากปากของผู้อำนวยการของซีไอเอเลยทีเดียว

นายวิลเลียม เบอร์นส์บอกว่าตอนนี้จีนยังไม่พูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และสหรัฐฯก็ยังไม่เชื่อว่าจีนจะมีศักยภาพในการบุกยึดไต้หวันได้ในช่วงนี้

และสี จิ้นผิงก็อาจจะกำลังสรุปบทเรียนของรัสเซียในการทำสงครามยูเครนเพื่อประเมินว่าปักกิ่งจะเดินหน้าเรื่องไต้หวันอย่างไร

ผู้อำนวยการซีไอเอบอกว่าสหรัฐฯ ต้อง “จริงจัง” กับแนวคิดของสี จิ้นผิงเรื่องนี้

แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางทหารกับไต้หวันได้ยากก็ตาม

“อย่างน้อย เราก็ได้รับทราบตามที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าประธานาธิบดีสีได้สั่งให้กองทัพจีน PLA ซึ่งเป็นผู้นำทางการทหารของจีนเตรียมพร้อมที่จะบุกไต้หวันในปี 2027 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะตัดสินใจบุกในปีนั้นหรือปีอื่น ๆ เช่นกัน” เบิอร์นส์บอกกับ Face the Nation ของ CBS

ไต้หวันและจีนแยกทางกันในปี 1949 หลังสงครามกลางเมืองที่ยุติลงโดยพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมแผ่นดินใหญ่

ไต้หวันคือเกาะที่ปกครองตนเองนี้เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศอธิปไตย แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติหรือประเทศสำคัญใดๆ

ในปี 1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ยอมรับรัฐบาลอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่งและตัดความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับไต้หวัน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายTaiwan Relations Act หรือกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน

กลายเป็นการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาถึงทุกวันนี้

ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวว่ากองกำลังอเมริกันจะปกป้องไต้หวันหากจีนพยายามรุกราน

ทำเนียบขาวกล่าวว่านโยบายของสหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในการระบุชัดเจนว่าวอชิงตันต้องการเห็นสถานะของไต้หวันได้รับการแก้ไขอย่างสันติ

ผอ. ซีไอเอเชื่อว่าถ้าจีนศึกษาประสบการณ์ของปูตินในยูเครน นั่นอาจจะทำให้ต้องคิดอะไรใหม่เกี่ยวกับไต้หวันก็ได้

นั่นอาจจะเป็นการสรุปของซีไอเอเองก็ได้

เพราะสี จิ้นผิงยืนยันมาตลอดว่าปักกิ่งจะพยายาม “รวมชาติ” กับไต้หวันอย่างสันติจนสุดความสามารถ

แต่หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ “เราก็จะไม่ลังเลที่จะทำเช่นนั้น”

ท้ายที่สุดอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ของผู้นำจีนเมื่อเวลานั้นมาถึง!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ