พอเกิดสงครามยูเครน ปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าในภาวะที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรโดยตะวันตก คือเส้นทางการขนส่งที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน และให้มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของห่วงโซ่การขนส่งหรือ logistics
คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่าเมื่อเกิดสงคราม สินค้าตัวไหนที่ยังพอจะมีมาร์จินหรือทำกำไรได้ แม้ค่าขนส่งและต้นทุนอย่างอื่นจะสูงขึ้นก็จะยังดิ้นรน
ส่วนที่มีโอกาสขาดทุนก็ต้องทิ้งไปก่อน ทำให้ยอดซื้อขายระหว่างไทยกับรัสเซียในปีที่แล้วร่วงลง 43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวิเคราะห์แล้วก็พบว่าไม่ใช่สินค้าทุกตัวจะแย่หมด
“มีสินค้าบางตัวที่เห็นทิศทางเพิ่มขึ้น ในปีที่ผ่านมาสินค้าที่เพิ่มขึ้นคือการส่งออกภาคอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋อง...
และที่เราแปลกใจมากขึ้นคือ การส่งออกข้าวสารไปรัสเซียเพิ่มขึ้นถึงกว่า 300 เปอร์เซ็นต์”
ในช่วงวิกฤตสงครามมีปัญหา 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือราคาพลังงานที่พุ่งสูง
และเรื่องที่สองคือการขาดแคลนอาหาร หรือปัญหา “ความมั่นคงทางอาหารหรือ food security”
สงครามจึงมีทั้งวิกฤตและโอกาส
หมวดสินค้าที่แย่ลง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึง chips และเซมิคอนดักเตอร์ที่ขาดแคลน
แต่การส่งออกชิ้นส่วนสินค้าพลาสติกกลับโตขึ้น ยอดส่งออกยางรถยนต์อาจจะทรงๆ และอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่แม้ว่าแนวโน้มความต้องการอาหารจะสูงขึ้นในภาวะสงคราม และปัญหาการขนส่งและการออก L/C ก็ยังมีอยู่
“แต่ผมเชื่อว่าถ้ามีแนวโน้มที่ดี ผู้ส่งออกยังไงก็ต้องหาวิธี...” คุณเกรียงไกรบอก
แต่คุณเกรียงไกรก็ยอมรับว่า จากการประเมินแล้วเชื่อว่าสงครามคงลากยาวออกไป
“เราก็เตรียมแผนเอาไว้...เราเริ่มจับทางเส้นทางการขนส่งที่มีการปรับตัว”
สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางขนส่งที่หลบหลีกการคว่ำบาตรได้ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ
รัสเซียก็ได้ปรับตัวอย่างมาก เช่นท่าเรือที่รัสเซียเคยใช้เป็นหลักในการเชื่อมโยงกับยุโรปคือ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
แต่วันนี้ท่าเรือที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ
ท่าเรือวลาดิวอสต็อก ทางตะวันออกไกล (Far East) ของรัสเซีย
ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียได้ปรับยุทธศาสตร์ด้านขนส่ง ตั้งแต่เมื่อคราวตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อ 9 ปีก่อน ตอนที่รัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครนมาเป็นของตนเมื่อปี 2014
ปูตินปรับนโยบายจาก Look West มาเป็น Look East คือหันมาทางตะวันออกมากขึ้น
เมื่อใช้นโยบาย Look East ดินแดนส่วนที่ใกล้เอเชียที่สุดก็คือวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับจีนและเกาหลี
ท่าเรือนี้รับและส่งสินค้าไปประเทศจีนมากที่สุด เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ ซึ่งมีการทำ contract farming กันมาก โดยเฉพาะการชักชวนคนจีนไปลงทุนด้านการเกษตรที่รัสเซีย
“วันนี้จีนประเทศเดียวไปเช่าที่รัสเซีย 60-70 ล้านไร่ในการทำการเกษตร เช่นปลูกธัญพืชรวมถึงข้าว...”
เป็นเศรษฐกิจทางตะวันออกไกลหรือ Far East Economy ของรัสเซีย
“ขณะนี้ไทยและประเทศอื่นๆ ในย่านนี้ก็ใช้ท่าเรือนี้เพิ่มขึ้น แต่ค่าขนส่งยังสูงอยู่เพราะเส้นทางจากท่าเรือวลาดิวอสต็อกไปเมืองหลวงมอสโกยาวมาก ระยะทางไกลกว่าบินข้ามประเทศเสียอีก...”
ดังนั้นค่าขนส่งก็ยังแพงมหาศาลอยู่
“แต่ในอนาคต ผมเชื่อว่าเส้นทางนี้จะดีขึ้น...” คุณเกรียงไกรบอก
ขณะเดียวกัน รัสเซียก็กลัวว่าเส้นทางขนส่งทางน้ำอื่นๆ อาจจะถูกปิดกั้น จึงจะมีเส้นทางใหม่ไปทาง Arctic คือขึ้นไปทางขั้วโลกเหนือ
เนื่องจากภาวะโลกร้อน หิมะในแถบนี้เริ่มละลาย จึงเอาเรือตัดหิมะไปเปิดเส้นทางเดินเรือไว้
เส้นทางขั้วโลกเหนือก็ไปเชื่อมต่อเป็นรอบวงใหญ่สำหรับการขนส่งทางน้ำได้เช่นกัน
“อีกเส้นทางหนึ่งคือ North-South Corridor หรือระเบียงเหนือ-ใต้ ซึ่งก็จะผ่านอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน และไปถึงอินเดีย...”
คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เสริมว่า
“นี่เป็นการแสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า มาตรการแซงก์ชันของตะวันตกที่จะกดดันให้รัสเซียต้องแพ้นั้นไม่ได้ผล...และหากสงครามยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ประชาชนในประเทศยุโรปเองก็อาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลของตนสนับสนุนยูเครนโดยให้พวกเขารับภาระเหล่านี้...”
คุณเกรียงไกรยืนยันว่า เศรษฐกิจของรัสเซียแม้จะโดนคว่ำบาตรแต่ก็ยังแข็งแกร่งอยู่จนถึงวันนี้
“เรื่องจีดีพีที่ทางตะวันตกคิดว่าถ้าใช้มาตรการคว่ำบาตร แล้วผลผลิตมวลรวมของรัสเซียจะต้องหดตัวอย่างแรงถึง 20% ขึ้นไป แต่ถึงวันนี้ติดลบเพียง 2% เศษๆ เท่านั้น ขณะที่จีดีพีของประเทศยุโรปหลายแห่งเละกว่ารัสเซียด้วยซ้ำ”
เราจึงควรจะทำความเข้าใจกับท่าเรือวลาดิวอสต็อกให้มากกว่านี้
ท่าเรือแห่งนี้เปิดโอกาสให้รัสเซียเข้าถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ขยายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และสัมผัสกับทะเลญี่ปุ่น สำหรับการจราจรทางน้ำจำนวนมากในเอเชีย
ท่าเรือวลาดิวอสต็อกกว้างขวางใหญ่โต ครอบคลุมพื้นที่ 55 เฮกตาร์ และยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสำหรับรัสเซีย
วลาดิวอสต็อกมีสถิติในการจัดการสินค้า 24 ล้านตันในปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 13.9 ล้านตันในทศวรรษนี้อย่างเห็นได้ชัด
มีท่าเทียบเรือ 15 ท่าสำหรับการดำเนินงานทั่วไป ความลึก 10-15 เมตร
เครือข่าย Vladivostok มีความสัมพันธ์หลักกับท่าเรือในเอเชีย กว่าร้อยละ 45 ของการค้าผ่านเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนรวมกัน
นี่คือมุมมองด้าน logistics และห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ที่กำลังปรับตัวเป็นการใหญ่เมื่อเกิดสงคราม
และนี่ก็เป็นอีกมิติหนึ่งของผลพวงของความขัดแย้ง ที่คนไทยเราต้องเกาะติดและทำความเข้าใจอย่างมีสติอย่างต่อเนื่อง
เพราะเมื่อเราไม่รู้ว่าสงครามจะยุติเมื่อใดและอย่างไร เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความไม่แน่นอนระดับโลกเช่นนี้ไปอีกยาวนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ