ข้อสังเกตการปรับท่าทีของไทยต่อ สงครามยูเครนในสหประชาชาติ

ครบรอบ 1 ปีสงครามยูเครน สมาชิกสหประชาชาติลงมติอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากยูเครน

เสียงที่เห็นด้วยคือ 141 ต่อเสียงค้าน 7 เสียงที่ “งดออกเสียง” อยู่ที่ 32 ชาติ

ที่น่าสนใจสำหรับคนไทยคือ รัฐบาลไทยตัดสินใจลงคะแนนสนับสนุนข้อมตินี้

ลงมติทางเดียวกับเพื่อนอาเซียนอีก 7 ประเทศคือ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, สิงคโปร์, กัมพูชาและเมียนมา

ที่เมียนมาลงมติอย่างนี้ทั้งที่รัฐบาลทหารพม่าใกล้ชิดกับรัสเซีย ก็เพราะผู้แทนของพม่าประจำสหประชาชาติยังเป็นนักการทูตคนเดิมคือ Kyaw Moe Tun ที่ตั้งโดยรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี

เพราะคณะกรรมการสหประชาชาติที่รับผิดชอบเรื่องพิจารณาตัวแทนของแต่ละประเทศในยูเอ็นยังไม่ได้พิจารณาชื่อทูตพม่าคนใหม่ที่รัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย เสนอมา

ส่วนเวียดนามและลาวตัดสินใจงดออกเสียง คงเพราะ “เกรงใจรัสเซีย”                  อันเป็นแนวเดียวกับจีนและอินเดียที่งดออกเสียงเช่นกัน

ส่วน 7 ประเทศที่ลงมติยืนเคียงข้างรัสเซียอย่างเต็มที่นั้น เป็นกลุ่มประเทศที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นสหายสนิทของมอสโก            

นั่นคือ เกาหลีเหนือ, ซีเรีย, เบลารุส, มาลี, นิการากัว และเอริเทรีย

ไทยเรากลับมายกมือสนับสนุนข้อมติครั้งนี้แตกต่างไปจากคราวที่แล้วที่ “งดออกเสียง”

คราวนั้นเป็นญัตติประเด็นเรื่อง “บูรณภาพแห่งดินแดน” ซึ่งได้รับการอธิบายจากกระทรวงต่างประเทศว่า เพราะเราไม่ต้องการกดดันรัสเซียจนปิดโอกาสการหาทางออกจากวิกฤต

คราวนั้นไทยเราเป็นเสียงส่วนน้อยในบรรดาสมาชิกอาเซียนที่ตัดสินใจลงมติเช่นนั้น

ครั้งนี้ไทยกลับมาโหวตเหมือนเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ในอาเซียน

ซึ่งก็อาจจะทำให้คนที่เคยวิพากษ์กระทรวงต่างประเทศในการลงมติคราวที่แล้วเริ่มเห็นว่ารัฐบาลไทยกลับมายืน ณ จุดที่ตอบคำถามของประชาคมโลกได้ดีกว่าครั้งก่อน

 

กระทรวงต่างประเทศไทยออกรายงานในเรื่องนี้ว่าอย่างนี้

ไทยลงมติสนับสนุนข้อมติล่าสุดของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เรียกร้องให้มีการยุติสงครามในยูเครนทันที เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะครบ 1 ปีของการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งมี 141 ชาติสมาชิกให้การสนับสนุน คัดค้าน 7 ประเทศ และงดออกเสียงอีก 32 ประเทศ

ก่อนการลงคะแนน นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้กล่าวคำอธิบายถึงเหตุผลในการลงคะแนนของไทย ก่อนการประชุมฉุกเฉินสมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก โดย “มติชน” ได้แปลถ้อยแถลงดังกล่าวที่มีรายละเอียดดังนี้

1.ประเทศไทยยืนหยัดแน่วแน่ต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งในตัวอักษรและในจิตวิญญาณ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องยึดมั่นในหลักปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานของนานาอารยประเทศ

2.ไทยยึดมั่นในสิทธิของประชาชนต่อการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันเป็นสากลและไม่อาจต่อรองได้ ข้อพิจารณาในมนุษยธรรมจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการเลือกปฏิบัติ

3.เราขอเรียกร้องให้สหประชาชาติดำเนินความพยายามในเรื่องการทูตเชิงป้องกันอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด เพื่อปกป้องพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และไม่ปล่อยให้มันเป็นส่วนหนึ่งของละครเกี่ยวกับศีลธรรมที่เปลี่ยนสถานการณ์อันซับซ้อนอย่างยิ่ง ให้กลายเป็นเพียงเรื่องของความดีและความชั่ว ตามด้วยการชี้นิ้วและการประณาม

4.ควรต้องมีการใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์และการเจรจาพูดคุยเพื่อยุติข้อพิพาท เพราะเมื่อมันปะทุขึ้นแล้ว เราจะต้องไม่เติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ความพยายามทั้งหมดของสหประชาชาติควรมุ่งเน้นไปที่ “การไม่กระทำให้เกิดอันตราย” ดังคำปฏิญาณของฮิปโปเครตีส

5.ในวันครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน เราเรียกร้องให้ชาติสมาชิกขององค์กรอันทรงเกียรตินี้ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อโลกโดยรวม และเพื่อคนกว่า 8 พันล้านคน ที่เป็นเพียงผู้ไม่มีส่วนรับรู้ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ต้องแบกรับผลกระทบจากสงครามในหนทางที่ต่างกันไป เพื่อให้กระบวนการสันติภาพได้เริ่มต้น เราต้องพยายามที่จะเข้าใจถึงต้นตอของความขัดแย้ง บนพื้นฐานของความเป็นจริงและไม่มองอย่างคับแคบ และหลีกเลี่ยงความคิดเห็นเพียงในเชิงอำนาจและศีลธรรม

โลกนี้กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับประเทศที่มีอุดมการณ์และรูปแบบการเมืองการปกครองที่หลากหลายจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่างและสถานภาพในการดำรงอยู่

6.อาวุธที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การต่อสู้ยิ่งรุนแรงขึ้น ยิ่งการต่อสู้ย่ำแย่ลง ผู้คนก็ทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้น การคว่ำบาตรที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้ความเจ็บปวดของผู้คนรุนแรงขึ้น และมันไม่เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การประณามก็มิได้ส่งผลในการสร้างน้ำหนักเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการปฏิบัติ

7.ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยกระดับความพยายามทางการทูต เพื่อให้เกิดการเจรจาที่จะนำไปสู่ทางออกสำหรับความขัดแย้งในยูเครน สงครามในยูเครนเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังเป็นอันตรายอย่างที่สุดที่ส่งผลคุกคามต่อภูมิรัฐศาสตร์ การเงินการคลัง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และต่อสมดุลของโลกในภาพรวม

8.มีการกล่าวกันว่า จริงๆ แล้วการทูตก็คือการต่อยอดให้สงครามยืดเยื้อต่อไปในอีกรูปแบบหนึ่ง สงครามไม่อาจยุติลงได้ด้วยการส่งมอบอาวุธที่ร้ายแรงยิ่งกว่า มันจะไม่ยุติลง เว้นแต่ว่าจะเป็นการทำลายล้างและการล้มตายของผู้คนทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงจุดประสงค์และตัวเลือกเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ สงครามสามารถยุติลงได้จากการหาข้อตกลงและการเจรจา ด้วยการยึดแนวทางที่ทำให้เกิดผลขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดในเชิงอุดมคติ และไม่ใช่แนวคิดที่ว่าผู้ชนะจะต้องได้ทุกอย่าง ดั่งในอิสยาห์ 1:18 ที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกชาติจะต้องมาหาเหตุผลร่วมกัน

การปรับท่าทีของรัฐบาลไทยต่อสงครามยูเครนเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยการทูตไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างน่าสนใจ

หากกระทรวงต่างประเทศฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแนวทางวิเคราะห์ของผู้ที่เกาะติดสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้การดำเนินการทูตของไทยในเวทีระหว่างประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว