เรื่องลุงตู่ลงการเมือง ในปี พ.ศ. 2562 กับ พ.ศ. 2566 (ตอนที่ ๕)

 

การที่ลุงตู่ตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐในปี พ.ศ. 2562 อาจจะเป็นเพราะสองเหตุผลสำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ขั้วการเมืองฝั่งทักษิณสามารถเชิญทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคไทยรักษาชาติ สอง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้น                 

หลังจากที่ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงวันนี้ ก็รวมเวลาทั้งสิ้นเกือบ 9 ปีถ้านับแต่ตั้งปี พ.ศ. 2557 และขณะนี้ ถ้าไม่เกิดพลิกผันขนาดหนัก ก็ดูจะมีความชัดเจนแน่นอนแล้วว่า ลุงตู่จะรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566                           

สมมุติว่า ลุงตู่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม หากไม่มีอะไรพลิกผันขนาดหนัก ลุงตู่ก็จะเป็นนายกรัฐมนนตรีได้อีกเพียง 2 ปีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  

คำถามคือ ภายใน 2 ปี ลุงตู่จะทำอะไรให้ประเทศได้มากมายเสียจนจำเป็นจะต้องลงแข่งเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการลงทุนลงแรงลงทรัพยากรต่างๆมหาศาลเพื่อได้ ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และยังจะต้องไปรวบรวมเสียงของ ส.ส. ของพรรคอื่นในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้เสียงเกิน 250 เพื่อขอสานต่อสิ่งที่ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่

ในเรื่องของผลงานของลุงตู่ ก็มีทั้งที่ถูกด้อยค่าจนเกินไป และที่ให้ค่าเกินจริง แต่ที่เป็นผลงานจริงๆก็มีไม่น้อยเลย

หลายคนคิดว่าการไปต่อของลุงตู่ เกิดจากการที่ลุงตู่หลับหูหลับตาหลงคำเยินยอจากคนใกล้ตัวและไม่ยอมเปิดหูเปิดตาฟังเสียงคนที่ด่าทอปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม คิดว่าลุงตู่เองก็คงตระหนักดีว่า ที่ตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 นั้นไม่ใช่ว่าชนะเลือกตั้ง แต่อาศัยเสียงของ ส.ว. ที่พ่วงมากับการทำประชามติรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560                    

และหากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งการแข่งขันเลือกตั้งยากเย็นยิ่งกว่าปี 2562 ลุงตู่ย่อมยิ่งต้องรู้ว่า ได้เป็นเพราะการให้ ส.ว. มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี และสังคมรับดีรู้ว่า ส.ว. มาจากไหน        

หากผลเลือกตั้ง พรรครวมไทยรักษาชาติไม่ได้ ส.ส. มาเป็นอันดับต้นๆ แต่ลุงตู่ยังสามารถรวบรมเสียง ส.ส. พรรคต่างๆได้เกิน 250 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดย ส.ว. เทคะแนนให้  ใครบอกว่า ลุงตู่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างาม ก็เข้าข่ายดันทุรังหลับหูหลับตาเต็มที            

เชื่อว่า ลุงตู่เองก็ตระหนักดีเช่นกัน  แต่กระนั้น ลุงตู่ก็ยังยืนยันที่จะ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”  

อะไรทำให้ลุงตู่ยืนหยัดทนทานขนาดนี้ ?   

ถ้าจะถามว่า นอกจากภารกิจการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศต่างๆแล้ว มีภารกิจสำคัญอะไรอีก ?     

ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะพบว่าเมื่อย้อนเวลากลับไปวันที่ วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 จะพบว่าเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว ต่อมาอีกสี่เดือน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต         

ดังปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ประกาศฉบับพิเศษ เล่ม 89 ตอนที่ 200 วันที่ 28 ธันวาคม 2515 ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

“ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

________________

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงเหตุการณ์ในบ้านเมืองอันเป็นมาตลอดจนปัจจุบัน ทรงพระราชวิจารณ์เทียบเคียงความเป็นไปในสกสมัยและปรสมัยในทางนิยมแห่งประชาชนพลเมืองเหล่าต่างๆ หลายแบบหลายเหล่าโดยถ้วนถี่ ทรงพระราชดำริเป็นแน่วแน่ในพระราชหฤทัยว่า ฉันใดจะเป็นความผาสุก จะยังให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งแก่พลเมืองหมู่ใหญ่ ฉันใดจะส่งเสริมธรรมจริยานุวัตรอันควรจะยึดถือเป็นหลักสืบไป ฉันนั้นจักทรงพระอุตสาหะปฏิบัติบรรหารให้เรียบร้อยเป็นยุติธรรม และให้เป็นที่ตั้งแห่งความสามัคคีทั่วหน้า       

ก็โดยราชนีติอันมีมาในแผ่นดินนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมราชโอรสซึ่งจะทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ทรงพระเจริญวัยสมควรแล้ว ย่อมโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระอิสริยยศตั้งแต่งไว้ในตำแหน่ง สมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร ในกาลปัจจุบันประชาชนทั้งหลายตลอดถึงชาวต่างประเทศทั่วไปในโลก ย่อมพากันนิยมยกย่องว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทควรจะทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยมและขัตติยราชประเพณี ตามความเห็นชอบเห็นดีของมหาชนและผู้บริหารประเทศทุกฝ่าย เฉลิมพระเกียรติยศให้สมบูรณ์ตามตำแหน่งทุกประการ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร มุสิกนาม พระราชทานพรให้ทรงพระเจริญสิริสวัสดิ์ ทรงมั่นอยู่ในขัตติยราชธรรมทศพิธอันเป็นหลักของผู้ปกครองบ้านเมืองในสยามประเทศนี้ ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ทั้งบุญญานุภาพแห่งพระสยามเทวาธิราช และเทพดาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงอภิบาลรักษาให้ทรงวัยวัฒนายุกาล ทรงพรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติพิพัฒมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏกฤดา บารมีมโหฬาร ตลอดจิรัฏฐิติกาลเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 เป็นปีที่ 27 ในรัชกาลปัจจุบัน”

จากพระราชประเพณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 พ.ศ. 2515 พบว่า ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ ซึ่งหลังจากนั้น ก็อาจจะมีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมารให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 4 ของไทย            

หลังจากพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมารให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแล้ว ถือว่าได้มีการแต่งตั้งองค์พระรัชทายาทอย่างเป็นทางการ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์รัชทายาทไว้ดังนี้                       

“มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

มาตรา ๒๔ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทําต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้           

มาตรา ๑๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์มาทํารัฐพิธีก็ได้”

การมีองค์พระรัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการถือเป็นดัชนีหนึ่งของเสถียรภาพความต่อเนื่องและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะประมุขของระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข                   

แต่สองปีที่เหลือจากแปดปี ลุงตู่อยู่ได้ถึงเมื่อไร ?  บ้างว่า ลุงตู่อยู่ได้ถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568  เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้นับการเป็นนายกรัฐมนตรีของลุงตู่ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560  แต่บางกระแสบอกว่า ลุงตู่อยู่ได้เกินวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568 เพราะมีช่วงที่ไม่นับว่าลุงตู่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย...       

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489

นิด้าโพล ชี้ผลสำรวจคะแนนนิยมการเมืองล่าสุด คนหนุน ‘เท้ง’ นั่งนายกฯ ส่วนมาดามแพฯ ร่วงอันดับ 2

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567”

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร