จีนเสนอ “แผนสันติภาพยูเครน” 12 ข้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในโอกาสครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน ปฏิกิริยาจากทั้งรัสเซียและยูเครนก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปทางลบอย่างที่คาดกัน
สหรัฐฯต่างหากที่ทำท่าจะบอกปัดโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนอ้างว่าดูจะสาระของข้อเสนอแล้วรัสเซียดูเหมือนจะได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว
แต่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกีบอกว่าเขาเห็นประโยชน์จากข้อเสนอนี้ และทันทีทันใดนั้นก็บอกว่าเขามีแผนที่จะขอพบกับผู้นำสี จิ้นผิง ของจีน
เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของปักกิ่งในการยุติสงครามในยูเครน
แม้ว่ารายละเอียดของข้อเสนอสันติภาพของจีนจะยังฟังดูกว้าง ๆ และไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องที่รัสเซียยึดดินแดนบางส่วนของตนไป
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ต้อนรับข้อเสนอของจีน
โดยบอกว่ารัสเซียกับจีนมีความเห็นสอดคล้องต้องกันในเรื่องนี้
แต่รัฐบาลรัสเซียเองก็ย้ำว่าข้อตกลงเรื่องสันติภาพใดจะต้อง “ยอมรับความจริงใหม่ว่าด้วยเรื่องของพรมแดน”
นั่นหมายความว่ามอสโกยังยืนหยัดเรื่องจะต้องได้ดินแดนบางส่วนคืนจากยูเครน
ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยูเครนรับไม่ได้เป็นอันขาด
ดังนั้นแม้ข้อเสนอของจีนจะเป็นการเปิดประตูสำหรับการเจรจาทางการทูต เพื่อให้มีการยุติการสู้รบ แต่หากลงรายละเอียดเรื่องเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายเมื่อใดก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้อีก
กระนั้นก็ตาม ต้องถือว่าข้อเสนอของจีนเป็นการทำให้เกิดแสงสว่างเล็ก ๆ ที่ปลายอุโมงค์ในอันที่จะทำให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราวขึ้นมาได้
แทนที่จะสู้รบกันอย่างหนักหน่วงต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด
เซเลนสกีบอกว่าข้อเสนอแผนสันติภาพของปักกิ่งส่งสัญญาณว่าจีนจะมีส่วนร่วมในการค้นหาสันติภาพ
“ผมอยากจะเชื่อจริงๆ ว่าจีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย” ผู้นำยูเครนบอก
หลักใหญ่ใจความของข้อเสนอจีนคือการเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพและเคารพอธิปไตยของชาติ
แต่ไม่ได้ระบุชัด ๆ ถึงเรื่อง “บูรณภาพแห่งดินแดน” หรือ territorial integrity
ซึ่งเป็นหัวใจของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียวันนี้
เพราะยูเครนยืนยันนั่งยันว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้นั้นรัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครน “ทั้งหมด”
นั่นรวมถึงดินแดนทางด้านตะวันออก, ทางใต้และคาบสมุทรไครเมีย
ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างจะหวังได้ยากว่ามอสโกจะยอมตามนั้นด้วย
เอกสาร 12 ประเด็นของจีนไม่ได้ระบุเจาะจงว่ารัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครน
และยังประณามการใช้ "การคว่ำบาตรฝ่ายเดียว"
ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าจีนวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรของยูเครนทางตะวันตกที่คว่ำบาตรรัสเซียมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อนตอนที่รัสเซียผนวกไครเมียและส่งทหารเข้ามาช่วยสองแควันด้านตะวันออก (Donetsk และ Luhansk) ที่ประกาศแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางยูเครน
ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ยกย่องข้อเสนอสันติภาพของจีน “เรามีมุมมองเดียวกับปักกิ่ง” กระทรวงต่างประเทศในกรุงมอสโกระบุในถ้อยแถลง
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯแอนโทนี บลิงเคนบอกว่าอ่านข้อเสนอสันติภาพของจีนแล้วก็ยังสงสัยว่าจีนจะวางตัวเป็นคนกลางได้อย่างไรหากยังไม่ได้ออกมาประณามการที่รัสเซียรุกรานยูเครน
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาบลิงเคนกล่าวหาว่าปักกิ่งกำลังพิจารณาที่จะจัดหาอาวุธและเครื่องกระสุนให้กับรัสเซีย
เป็นคำกล่าวอ้างที่ปักกิ่งปฏิเสธอย่างหนักแน่น
ต่อมาอีกไม่กี่วัน สื่ออเมริกันรายงานอีกครั้งว่ารัฐบาลจีนกำลังพิจารณาส่งโดรนและกระสุนปืนใหญ่ไปยังมอสโก
เมื่อถูกถามถึงข้อเสนอสันติภาพของจีนประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวกับ ABC News ว่า: "[ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ของรัสเซีย] ปูตินปรบมือให้กับข้อเสนอนี้ แล้วมันจะเป็นผลดีได้อย่างไร?
“ผมไม่เห็นสิ่งใดในแผนการที่จะระบุว่ามีบางสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อใครอื่นนอกจากรัสเซีย” เขากล่าวเสริม
นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่าอ่านจากเนื้อหาของข้อเสนอ จีนก็ดูเหมือนจะยังยืนข้างรัสเซีย
หรืออาจจะเป็นเพราะจีนต้องการหาทางลงให้กับปูตินด้วยการจัดทำข้อตกลงสันติภาพเพื่อเปิดทางให้สงครามยุติได้โดยรัสเซียไม่ต้องเสียมากไปกว่านี้
“แผนสันติภาพ” ของจีนได้รับการเปิดเผยหลังจากนายหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของประเทศเยือนกรุงมอสโก ซึ่งเขาได้พบกับปูตินและนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ต่อมาสองวันเท่านั้น ปักกิ่งก็เผยโผแผนสันติภาพนี้อย่างเอิกเกริก
หลังการพบปะของหวังอี้กับผู้นำรัสเซียสำนักข่าวซินหัวของจีนอ้างคำพูดของเขาว่า ปักกิ่งเต็มใจที่จะ "เพิ่มความไว้วางใจทางการเมือง" และ "เสริมสร้างการประสานงานเชิงกลยุทธ์" กับมอสโก
แต่นอกเหนือจากสหรัฐฯแล้ว เจ้าหน้าที่ตะวันตกต้อนรับข้อเสนอล่าสุดอย่างมีเงื่อนไข
เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าวว่า ปักกิ่ง "ไม่มีความน่าเชื่อถือมากนัก" เพราะ "ไม่สามารถประณามการรุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมาย"
ในการแถลงข่าวที่กินเวลายาวนานเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของสงครามในกรุงเคียฟเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เซเลนสกีย้ำว่าชัยชนะ "จะรอเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" หากพันธมิตร "เคารพต่อคำสัญญาและรักษากำหนดเวลา"
นั่นหมายถึงการที่ตะวันตกจะต้องเร่งส่งอาวุธหนักมาให้ได้ทันการกับการรุกรอบใหม่ของยูเครนหลังการสิ้นสุดของหน้าหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนเรียกว่า Spring Offensive
ประเทศแรกที่ส่งรถถังหนักมาให้คือโปแลนด์
ซึ่งได้ส่งมอบรถถัง Leopard II ที่ผลิตในเยอรมันจำนวนสี่คันให้กับยูเครนแล้ว และพร้อมที่จะส่งมอบเพิ่มเติมอีกเยอรมนีรับปากจะจัดหารถถัง Leopard ทั้งหมด14 คัน โดยสเปนและแคนาดาก็ส่งรถถังมาสมทบเช่นกัน
สหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุดของยูเครนให้คำมั่นว่าจะส่งรถถัง M1 Abrams จำนวน 31 คัน และสหราชอาณาจักรกำลังจัดหารถถัง Challenger 2 จำนวน 14 คัน
แต่ความหวังที่จะได้เครื่องบินรบเช่น F-16 จากตะวันตกคงจะยังเป็นความหวังต่อไป
ไบเดนบอกว่าขณะนี้ยูเครนยังไม่มีความจำเป็นต้องมีเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอย่าง F-16
แต่ก็ไม่ได้บอกปัดเสียเลยทีเดียว
เพียงเน้นว่า “ณ ตอนนี้” ยังไม่มีการส่งมอบ
แต่เป็นที่รู้กันว่าประเทศตะวันตกหลายชาติกำลังผลักดันให้ส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนตามที่ร้องขอ
ท่ามกลางความเสี่ยงว่าจะทำให้รัสเซียต้องตอบโต้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์พลังทำลายล้างสูงเช่นกัน
ภาพวันนี้ - เข้าสู่ปีที่สองของสงคราม - เรากำลังเห็นการศึกที่รุนแรงขึ้นพร้อมกับการโยนหินถามทางเรื่องการเจรจาสันติภาพ
วันนี้เสียงปืนของเหล่าบรรดาแม่ทัพนายกองในสมรภูมิยังดังกว่าเสียงกระซิบกระซาบของนักการทูตในห้องแอร์เป็นไหน ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว