ผมตั้งวงสนทนาหลายวงในช่วงหลังนี้เกี่ยวกับเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI กับความสัมพันธ์กับมนุษย์
หนึ่งในคำถามสำคัญคือเจ้า AI จะมาแย่งอาชีพอะไรของคนบ้าง?
มีความเห็นทำนองว่าอาชีพต่อไปนี้จะไม่มีวันถูกทดแทนโดยปัญญาประดิษฐ์เพราะเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่หุ่นยนต์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่มีทางเอาชนะคนได้
เช่นอาชีพครู, ทนายความ, ซีอีโอ, นักการเมือง, ผู้จัดการทรัพยากรมนุษย์, นักร้อง, ศิลปิน, นักเขียน, นักจิตวิทยา, จิตแพทย์, พระหรือผู้นำด้านจิตวิญญาณ, หมอผ่าตัด, นักกีฬาอาชีพ, นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์
แต่มาถึงวันนี้ผมชักจะไม่ค่อยแน่ใจเสียแล้วว่าอาชีพทั้งหมดที่ว่านั้นจะยัง “ปลอดจากภัยคุกคามของ AI” หรือไม่เพียงใด
โดยเฉพาะเมื่อเจ้า ChatGPT มาประกาศศักดาอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งหน้าที่งานรูทีนหรืองานประจำกำลังจะถูกแย่งงานค่อนข้างแน่นอน
เช่นมนุษย์เงินเดือนคนทำงานออฟฟิศ
เพราะ AI ที่กำลังพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกทีนั้นพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเขียนจดหมายสมัครงาน เขียนเรียงความ ร่างบทความ
อีกทั้งยังช่วยผลิตหนังสือเด็ก ช่วยแต่เพลง และแม้แต่คิดมุกตลกได้
เพราะมันเข้าไปค้นหาเนื้อหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้จากแหล่งข้อมูลมโหฬารที่สามารถ generate หรือสร้างเนื้อหาได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน
เก่งกว่าคล่องกว่าและรวดเร็วกว่ามนุษย์
ChatGPT อาจจะยังมีข้อบกพร่องและจุดอ่อนอยู่ในช่วงที่กำลังอยู่ระหว่างทดลอง
แต่หากมีการพัฒนาและแก้ไขข้ออ่อนด้อยไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยมันอาจทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดก็ได้
อย่างน้อยมีข่าวว่า Google (ซึ่งกำลังถูกท้าทายโดย ChatGPT โดยตรง) ก็ยอมรับเข้าทำงานหากเจ้า ChatGPT มาสมัครงาน
เพราะหากดูจากศักยภาพของมันในช่วงนี้ หากมาสอบสัมภาษณ์ Google อาจรับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานเขียนโค้ดมือใหม่ได้เลย
เพราะมันเก่งกว่าเด็กจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป
เท่านี้ก็ทำให้หลายวงการหนาวแล้ว
ถ้าเอามาใช้ตอบโต้กับลูกค้า ก็มีร่องรอยว่ามันมีความสามารถที่น่าสนใจทีเดียว
พนักงาน Amazon บอกว่าเท่าที่ได้ลองใช้ ChatGPT ในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าก็ทำงานได้ไม่เลว
เรียกว่าเก่งกว่า chatbot ปัจจุบันที่นำมาใช้ในการตอบคำถามของลูกค้าอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
หากเป็นเช่นนี้ อาชีพอะไรกำลังถูกคุกคามหากมนุษย์ในตำแหน่งเหล่านั้นไม่รีบปรับตัวและเพิ่มทักษะของตนเองให้ยังมีคุณค่าต่อองค์กร?
Business Insider อ้างว่าจากการสำรวจความเห็นของผู้รู้ในวงการต่าง ๆ น่าจะสรุปได้ว่าตำแหน่งต่อไปนี้อาจจะเสี่ยงกับการถูกทดแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เช่น ChatGPT
หรือเทคโนโลยีด้านนี้ที่อาจจะ “ฉลาด” มากขึ้นกว่าวันนี้อีก
อาชีพที่โดนกระทบในกลุ่มแรก ๆ น่าจะเป็นงานด้านเทคโนโลยีอันได้แก่พนักงานเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล
การเขียนโค้ดและโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ChatGPT และเครื่องมือ AI ที่คล้ายกันอาจเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ในอนาคตอันใกล้
ยุ่งแน่ถ้า ChatGPT สามารถเขียนโค้ดได้เร็วกว่าและแม่นยำกว่าคน
นั่นแปลว่าบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ต้องการพนักงานด้านนี้น้อยลง
แปลต่อไปว่าสถาบันการศึกษาที่สอนเรื่องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในทุกระดับชั้นก็หมดสภาพ ถ้าไม่ปรับหลักสูตรหรือเปลี่ยนแนวทางการสอนก็มีอันต้องปิดตัวลงไป
ตำแหน่ง “วิศวกรซอฟต์แวร์” ที่เคยเฟื่องฟูและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากก็กำลังจะกลายเป็นอดีต
เหมือนกับครั้งหนึ่งใครต่อใครก็ต้องเรียนนิเทศศสตร์และ MBA เพราะเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
แต่วันนี้เพราะ “ความป่วน” ของเทคโนโลยีที่มา disrupt อาชีพทั้งสองนี้จึงกลายเป็นวิชา “อาทิตย์อัสดง” หรือ (Sunset industries) ไป
แต่นักวิเคราะห์บางคนก็แย้งว่าความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้อาจจะไม่หนักหน่วงรุนแรงและฉับพลันอย่างที่คิด
ในช่วงแรกนั้น AI อาจจะสวมบทเป็น “ผู้ช่วย” คนเขียนโค้ดก่อน ยังไม่มาทดแทนได้ทั้งหมด
แต่แม้จะมองว่า AI มาช่วยงานเท่านั้นก็ประมาทไม่ได้เป็นอันขาด
เพราะนั่นหมายความว่าทักษะที่เคยเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดนั้นกำลังจะเปลี่ยนทิศทางไปแล้วอย่างชัดเจน
ใครยังฝืนกระแสด้วยการยืนกระต่ายขาเดียวว่า “ฉันยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่” ก็คงจะกลายเป็นคนตกยุคตกสมัย...และตกงานได้ในไม่ช้านี้
งานอีกด้านหนึ่งที่เข้าข่ายถูกทดแทนได้คืองานด้านสื่อที่ผมเคยคุ้นเคย
ไม่ว่าจะเป็นด้านโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, หรืออาชีพผลิตเนื้อหา งานเขียนสาระด้านเทคนิค รวมถึงสื่อสารมวลชน
ทั้งนี้เพราะ AI สามารถอ่าน เขียน และเข้าใจข้อมูลในรูปข้อความ
และยังสามารถวิเคราะห์และตีความข้อมูลจำนวนมหาศาลในเวลาไม่กี่วินาที
ตรงนี้แหละที่มนุษย์ต้องยอมพ่ายเพราะคนมีช่วงเวลาที่เหนื่อย, เพลีย, มีอารมณ์ขึ้นลง
แต่เจ้า AI ทำงานโดยไร้อารมณ์ผันแปร และทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพราะมันไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนเหมือนคน
แต่ตรง “ตีความ” นี่อาจจะยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันว่า AI ทำได้ดีกว่ามนุษย์จริงหรือ
แต่ก็เกิดคำถามต่อมาว่าทุกวันนี้มนุษย์ใช้สมองในการ “วิเคราะห์-ตีความ” มากน้อยเพียงใด
ถ้าใช้สมองเพื่อการนี้เพียง 10-20% ก็แปลว่าอาจจะถูก AI ยึดครองอิทธิพลไปถึง 80-90%
นั่นคือสัญญาณอันตราย!
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Paul Krugman เขียนในนิวยอร์ก ไทมส์ว่า ChatGPT อาจรายงานข่าวและเขียนข่าวได้ดีกว่าคนข่าวที่เป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ
ผมในฐานะคนข่าวไม่อยากจะเชื่อ และหากจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้จะต้องออกมาคัดค้านแนวคิดเช่นนี้ทันที
ต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ผมยังไม่สามารถหาเหตุผลที่น่าเชื่อได้มาแย้งเขาได้
ที่ยิ่งทำให้คนในวงการสื่อต้องตกใจกว่านั้นก็คือข่าวที่บอกว่า เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี CNET ได้เริ่มใช้เครื่องมือ AI ที่คล้ายกับ ChatGPT เขียนบทความออกมานับสิบชิ้น
จริงที่ว่าบทความเหล่านั้นยังมีข้อผิดพลาดบกพร่องอยู่ แต่ก็สามารถแก้ไขหรือ edit ได้
นั่นแปลว่าคุณภาพของงานของ AI ในการเขียนบทความสำหรับสื่อนั้นเริ่มจะดีขึ้นตลอดเวลา
BuzzFeed ก็เพิ่งประกาศว่า จะใช้เทคโนโลยีจากผู้พัฒนา ChatGPT สร้างเนื้อหารูปแบบเนื้อหาใหม่ ๆ ตามมา
งานตำแหน่งอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมตัวตั้งรับการรุกรุกคืบของ ChatGPT คือด้านกฎหมาย, การเรียนการสอน, งานด้านการเงินเช่นนักวิเคราะห์ทางการเงินหรือที่ปรึกษาด้านการเงินส่วนตัว
อาชีพนักบัญชีก็ใช่ว่าจะปลอดจากภัยคุกคามเพราะหากเกี่ยวกับตัวเลขและการประเมินผลข้อมูลเกี่ยวกับสถิติ AI ย่อมมีความคล่องแคล่วและช่ำชองกว่าคนในหลาย ๆ ด้าน
ยกเว้นการ “วิเคราะห์และตีความ” ซึ่งยังเป็นศิลปะที่สำคัญสำหรับมนุษย์
หากมนุษย์ตั้งใจจะพัฒนาความสามารถด้านนี้อย่างจริงจัง
อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัย เพราะมีมากมายหลายกรณีที่ AI สามารถวาดภาพและออกแบบได้อย่างคล่องแคล่ว
คุณภาพอาจจะยังเทียบไม่ได้กับคนที่เก่งจริง ๆ บางคน แต่ถ้าผลงานกราฟฟิกดีไซน์ของ AI อยู่เหนือ “มาตรฐานเฉลี่ย” ก็ย่อมจะทำให้คนในวงการนี้ต้องเริ่มกังวลอย่างจริงจังแล้ว
นี่เป็นเพียงบางส่วนของการวิเคราะห์จากเวทีต่าง ๆ ที่ผมเฝ้ามองและศึกษา
สัญญาณทั้งหมดบอกว่านี่คือ Wake-up Call หรือเสียงปลุกให้เราตื่นดังกระหึ่มสำหรับทุกอาชีพที่ยังคิดว่า “ยังไง ๆ ก็ไม่มีอะไรมาทดแทนฉันได้”
เพราะนั่นคือความเข้าใจผิดอันใหญ่หลวงของชีวิตมนุษย์วันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว