ผู้คนในหลายวงการกำลังวิเคราะห์ว่าหาก ChatGPT ที่สามารถตอบคำถามของมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาดและแม่นยำในระดับที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
คำถามในหลายๆ วงการวันนี้ก็คือ หากมันฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ เจ้าโปรแกรมนี้จะมีผลกระทบต่ออาชีพและสังคมโลกโดยส่วนรวมอย่างไรบ้าง
ผมกำลังเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเกิด Personal Computer หรือ PC เป็นครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน
ตามมาด้วยมือถือ หรือ smart phones เช่น Iphone ที่มีความชาญฉลาดจนทุกวันนี้มนุษย์ขาดมันไม่ได้อีกต่อไป
ครั้งนี้ ChatGPT กำลังจะเขย่าโลกอย่างรุนแรงแบบเดียวกันเช่นนั้นหรือไม่
นั่นคือคำถามที่น่าสนใจที่เราต้องหาคำตอบให้ได้
ที่อเมริกาอันเป็นจุดกำเนิดของ ChatGPT (โดยบริษัท OpenAI) เหล่าบรรดานักการเมืองและนักวิเคราะห์ก็กำลังถกแถลงประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง
ประเด็นที่เหล่าบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ วิเคราะห์กันอยู่ขณะนี้เน้น 2 เรื่องหลัก
คือผลกระทบด้านบวกและลบต่อการศึกษาและความมั่นคงแห่งชาติ
ที่เขาต้องลุกขึ้นมาทำความเข้าใจก็เพราะ ChatGPT ได้สร้างกระแสความสนใจอย่างสูง
มีผู้ใช้ 100 ล้านคนต่อเดือน หลังเปิดตัวได้ไม่กี่เดือน
สร้างสถิติเป็นโปรเเกรมคอมพิวเตอร์ที่มีอัตราเติบโตของผู้ใช้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว
และพร้อมกับความน่าตื่นเต้นก็คือ ความกังวลว่ามันจะมีผลกระทบทางลบอย่างไร
เช่น วิตกกันว่าจะใช้มันเพื่อเผยเเพร่ข้อมูลบิดเบือนอย่างไร
ทันทีทันใดก็มีคนแสดงความกังวลว่าจะมีผลกระทบในแวดวงการศึกษาทันทีอย่างไร
เพราะกลัวว่านักเรียน นักศึกษาอาจใช้ ChatGPT ช่วยทำการบ้านหรือทำ-ข้อสอบเเทนตัวเอง
ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงพอสมควร หากไม่มีการปรับระบบการเรียนการสอนให้ใช้คุณสมบัติทางด้านบวก แทนที่จะให้ผลด้านลบมาครอบงำแทน
ส.ส.เทด ลิว จากพรรคเดโมเเครต หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ของสภาผู้เเทนราษฎรสหรัฐฯ แสดงความเห็นผ่านบทความใน New York Times ว่าเขาเห็นปัญหานี้ทั้ง 2 ด้าน
ด้านดีคือจะใช้ AI ช่วยให้สังคมพัฒนาในอนาคตอย่างไร้ขีดจำกัด
แต่ด้านลบคือ กังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้า “ปัญญาประดิษฐ์” อันชาญฉลาดนี้อยู่นอกเหนือการถูกตรวจสอบ
หรือหากไม่มีกฎเกณฑ์มากำกับควบคุมไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
ว่าแล้วแกก็ลองใช้ ChatGPT ทำงานให้ตัวเองทันที
นั่นคือให้มันเขียนญัตติที่จะเสนอต่อสภา
ร่างญัตตินั้นเรียกร้องให้สภาคองเกรสให้ความสนใจกับวิวัฒนาการของ AI ที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกวัน
สาระบางตอนที่ ChatGPT ช่วยเขียนให้กับ ส.ส.คนนี้บอกว่า
"เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการพัฒนาและการใช้ AI จะเป็นไปอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับหลักจริยธรรม รวมทั้งเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันทุกคน"
และเสริมต่อว่า "ประโยชน์จากการพัฒนา AI ควรกระจายสู่สังคมอย่างกว้างขวาง และความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์จะต้องถูกจำกัดให้อยู่ในระดับต่ำ"
ที่น่าทึ่งคือ ข้อความนี้เขียนโดย ChatGPT ที่เป็น AI เองโดยแท้
ที่เป็นประเด็นร้อนในเหล่าบรรดานักการเมืองของสหรัฐฯ ที่กำลังพยายามจะร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแล AI นั้นมีความกังวลว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้การตัดสินใจของ AI นั้นหลีกเลี่ยง “อคติ” ในการประมวลผล
ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเหยียดคนบางกลุ่ม สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบบนพื้นฐานของผิว, เพศและสถานภาพทางสังคมที่โยงกับเรื่องที่อยู่อาศัย หรือโอกาสการจ้างงาน เป็นต้น
เพราะหากมีการป้อนข้อมูลที่มีความลำเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจจะนำไปสู่โปรแกรมที่เอียงกระเท่เร่จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่เกิดจาก “ปัญญาประดิษฐ์” ได้เช่นกัน
ความกังวลหลักๆ ที่เกิดขึ้นในระยะแรกคือ ความกลัวว่า AI อาจจะถูกใช้ในการช่วยนักเรียนทำข้อสอบหรือทำการบ้านโดยที่เจ้าตัวไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทเรียนนั้นๆ เลย
หรือแม้แต่ครูผู้สอนเองก็อาจจะใช้มันเพื่อหลบเลี่ยงการเตรียมการสอนอย่างที่คนเป็นครูควรจะต้องทำ
ความกังวลนี้เองที่ทำให้โรงเรียนในนครนิวยอร์กและนครซีเเอตเติลประกาศห้ามใช้ ChatGPT ไปแล้วก่อนหน้านี้
เพราะตัวบริษัท OpenAI ที่เป็นเจ้าของ ChatGPT เองก็ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นตัวการที่สร้างปัญหานี้
โดยออกเเถลงการณ์ว่า "เราไม่ต้องการให้ ChatGPT ถูกใช้เพื่อการเบี่ยงเบนจุดประสงค์ที่เเท้จริง" ด้านการศึกษา
และประกาศว่าทางบริษัทยินดีรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งรัฐบาลและผู้กำกับดูแลประชาชนทั่วไปเพื่อปรับปรุงให้ระบบนี้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง
และย้ำว่า "มันไม่เร็วเกินไปที่" ผู้กำกับดูเเล หรือ regulators จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อีกทั้งยังมีความกังวลด้านความมั่นคงของประเทศอีกด้วย
เพราะกลัวว่าบุคคลหรือองค์กรนอกรัฐบาลอาจใช้ระบบ AI สร้างข้อมูลบิดเบือนที่อาจเป็นภัยต่อสหรัฐฯ ได้
มีคนลองเขียนเข้าไปถามเจ้า ChatGPT นี้เองว่าควรจะต้องมีวิธีกำกับดูเเลเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวเองอย่างไร ก็ได้รับคำตอบจาก AI เองว่า
"โมเดลของ AI ของเรามีความเป็นกลาง ข้าพเจ้าไม่มีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เฉพาะเจาะจง ที่อาจจะ หรืออาจจะไม่ถูกใช้เพื่อกำกับดูเเลระบบเอไอเเบบเดียวกับข้าพเจ้า"
แต่ก็เสริมว่า หากจะมีการกำกับดูแลก็ควรคำนึงถึงหัวข้อที่ regulators ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ความเป็นส่วนตัว อคติ ความเป็นธรรม และความโปร่งใสในการประมวลผล
นี่คือการตอบคำถามที่เกี่ยวกับตัวเอง...ยังพยายามจะ “ดำรงความเป็นมืออาชีพ” อย่างน่าสนใจ
มีความ “ไม่ธรรมดา” อยู่หลายๆ มิติทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ