บอกลาบราซิล

ขออนุญาตท่านผู้อ่านยกยอดการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลไปเป็นวันอาทิตย์หน้าซึ่งจะเป็นวันอาทิตย์สุดท้ายที่ผมจะพบกับท่านผู้อ่านในหน้า 4 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์แห่งนี้ครับ เวลากว่า 4 เดือนที่ผมมาใช้ชีวิตในอเมริกาใต้กำลังเดินทางมาถึงวันสุดท้าย อากาศอบอุ่นขึ้น หน้าหนาวกำลังจะสิ้นสุด น่าเสียดายที่ไม่สามารถอยู่ต่อจนถึงฤดูใบไม้ผลิ แต่ใจหนึ่งก็คิดถึงเมืองไทยเต็มที่ ผมออกจากพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลนครเซาเปาโลเมื่อฟ้ามืดลงแล้ว เดินเท้าประมาณ 2 กิโลเมตรไปยังสี่แยกใหญ่ที่ถนน Rua da Consolacao ตัดกับถนน Avenida Paulista ตำรวจกำลังตั้งแถวรับมือกลุ่มผู้ประท้วงที่รวมตัวกันบนถนน ผมไม่ได้รอดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพราะจะต้องกลับไปเก็บกระเป๋าและเดินทางไปขึ้นเครื่องบินเวลาตี 1 ครึ่งคืนนี้

นั่งรถไฟใต้ดินแค่สถานีเดียวไปโผล่ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อ St. Marche ใกล้ที่พัก ซื้อกาจาซา สุรากลั่นพื้นบ้านจากน้ำอ้อยกลับไปศึกษาต่อที่เมืองไทย รวมถึงกาแฟสดบดแล้วจำนวนหนึ่งไปฝากญาติมิตร ผมซื้อของที่ร้านนี้หลายครั้งจึงรู้ว่าแคชเชียร์ช่องริมสุดฝั่งซ้ายพูดภาษาอังกฤษได้ ทำให้ข้อข้องใจบางอย่างคลี่คลายได้ง่ายขึ้น อาทิกรณีที่แคชเชียร์ร้านค้าถามหมายเลข CPF ซึ่งเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลูกค้าทุกครั้งตามที่ผมเคยอธิบายไป

การจัดกระเป๋าเก็บข้าวของใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วก็ออกจากห้องไปนั่งดื่มเบียร์ในห้องรับแขกซึ่งกลางวันถูกใช้เป็นร้านอาหารขายมื้อเที่ยงให้กับคนงานในละแวกนี้ เบียร์ยี่ห้อ Brahma และ Bohemia อย่างละกระป๋องหมดลงตอนเวลาราว 3 ทุ่มครึ่ง ผมเดินไปลา Tais เจ้าของเกสต์เฮาส์ และ Isabelle ลูกสาวของเธอ ทั้งคู่พูดว่า “โบอา วิอาเจ” ขอให้เดินทางปลอดภัยโชคดี

ช่วงเวลาเดียวกันนี้นางแบบสาวคนที่ผมพูดถึงเมื่อตอนที่แล้วผู้ซึ่งเคยทำงานอยู่เมืองไทยเรียกรถอูเบอร์ไปส่งที่สถานีรถบัส Terminal Tiete เพื่อเดินทางกลับเมืองเวอร์จิเนีย รัฐมีนัสเซไรส์ เธอว่าอูเบอร์สะดวกกว่าเยอะ ทำไมผมจะต้องลากกระเป๋านั่งรถไฟสองสามต่อให้ลำบากแถมยังใช้เวลานานกว่าจะถึงสนามบิน ผมอธิบายว่าอยากรู้วิธีการเดินทางโดยใช้บริการขนส่งสาธารณะ เธอยักไหล่ ผมกล่าวลา “โบอา วิอาเจ” เธอพูดกลับมาว่า “โชคดี”

รถไฟใต้ดินสาย 4 สีเหลือง (Linha 4 - Amarelo) วิ่งขึ้นเหนือไปสิ้นสุดที่สถานี Luz ผมไม่ได้ทำการบ้านไว้ดีพอว่าจากนี้จะต่อรถไฟอีกสายไปสนามบินอย่างไร รู้แต่ว่ารถไฟไปสนามบินไม่ใช่รถไฟใต้ดิน แต่เป็นรถไฟลอยฟ้าชานเมืองสาย 13

ออกจากรถไฟสาย 4 ผมเดินดูป้าย Linha 13 ไปเรื่อยๆ ป้ายนี้โผล่มาให้เห็นอยู่เป็นระยะ แต่สุดท้ายป้าย Linha 13 ก็หายไปเฉยๆ แล้วมีป้าย CPTM มาแทน ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่ามันคือรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะในเซาเปาโลเขตชานเมือง ซึ่ง CPTM ย่อมาจาก Companhia Paulista de Trens Metropolitanos ส่วนรถไฟใต้ดินในเขตเมืองหรือเมโทรนั้นให้บริการโดยรัฐวิสาหกิจอีกราย ชื่อ CMSP ย่อมาจาก Companhia do Metropolitano de Sao Paulo

ผมมองหาคนที่คิดว่าพูดภาษาอังกฤษได้ เห็นหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินมา จึงเข้าไปถามทาง แต่ดันพูดเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Aeroporto ชายหนุ่มพูดกลับมาเป็นภาษาโปรตุเกสเช่นกันซึ่งผมไม่เข้าใจแม้แต่คำเดียว ผมจึงต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ “Which way to walk to the train to the airport ?” ชายหนุ่มก็ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษ แล้วชี้มือบอกทาง ผมเดินไปตามที่เขาบอก หันกลับมาทั้งคู่ยังยืนนิ่งมองผมอยู่ คงเพื่อให้แน่ใจว่าผมเดินถูกทาง

ชานชาลาที่ 5 ของสถานีรถไฟ Luz นครเซาเปาโล

ชานชาลาของรถไฟสาย 13 สีเขียวหยก (Linha 13 - Jade) เป็นชานชาลาลอยฟ้า ชานชาลาที่ 5 เขียนว่า Expresso Aeroporto อยู่ร่วมชานชาลากับรถไฟอีกสาย เขียนว่า Estudantes ผมต้องเดินผ่าน Estudantes นี้ผ่านเทิร์นสไตล์หรือคอกหมุนที่เป็นแท่งเหล็กเข้าไป พื้นที่หลังคอกหมุนนี้เขียนว่า Aeroporto – Guarulhos ซึ่ง Guarulhos คือชื่อสนามบินนานาชาตินครเซาเปาโล ไม่มีการเก็บค่าโดยสารเพิ่มจากที่จ่ายค่าเมโทรมา 4.40 เรียล หรือประมาณ 30 บาท เพิ่งมารู้ขณะเขียนคอลัมน์อยู่เวลานี้ว่าที่จริงแล้วค่าตั๋วรถไฟไปสนามบินราคา 8.60 เรียล แต่สาบานได้ว่าตอนนั้นผมไม่เห็นจุดให้จ่ายเงินซื้อตั๋วจริงๆ

เมื่อนั่งลงที่มานั่งรอรถไฟ ผมมีเวลาใช้มือถือเข้าอินเตอร์เน็ต แล้วก็พบว่ารถไฟไปสนามบินมีชั่วโมงละเที่ยว ผมเพิ่งพลาดเที่ยว 4 ทุ่ม จะต้องรอถึง 5 ทุ่ม หมายความว่าอาจจะมีเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงที่สนามบิน

ระหว่างนั่งรอรถไฟ ชายหนุ่มรูปร่างอ้วนท้วนนั่งอ่านหนังสืออยู่ คงเห็นผมมีอาการกระวนกระวาย เขาเดินเข้ามาคุยเป็นภาษาอังกฤษ ให้ข้อมูลว่ารถไฟสายไปสนามบินมีแค่ 3 สถานี คือสถานี Luz นี้ สถานี Guarulhos – CECAP ที่เขาจะลง และสถานี Aeroporto - Guarulhos เมื่อออกจากสถานีปลายทางแล้วให้ผมเดินไปทางขวามือซึ่งจะมีทางเดินเชื่อมจากสถานี

ภายในรถไฟสาย 13 ไปสนามบินนานาชาติ Guarulhos

รถไฟมาตรงเวลา ผมลากกระเป๋าล้อเลื่อนและแบกเป้ใบใหญ่อีกใบเข้าไปในรถไฟ หนุ่มอ้วนนั่งเยื้องๆ กัน ก่อนที่เขาจะลงที่สถานี Guarulhos – CECAP ก็ยังอุตส่าห์เดินมากำชับว่าถึงสถานีสนามบินแล้วต้องเดินต่ออย่างไร

ผมเดินตามที่หนุ่มอ้วนบอกมา ปรากฏว่าไม่เห็นสนามบิน มีแต่รถชัตเทิลบัสจอดอยู่ และตอนนี้ก็รู้แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินจากสถานีรถไฟฟ้าไปยัง Terminal 2 อาคารที่ระบุในตั๋วโดยสาร ผมถามคนแถวนั้นจนแน่ใจว่าต้องขึ้นรถชัตเทิลบัสคันไหน ขึ้นไปรออยู่หลายนาทีกว่ารถจะออก พอทำท่าจะออก มีคนในชุดทำงานของสนามบินวิ่งมาที่รถ คนขับก็เปิดประตูให้ เป็นอย่างนี้สามสี่ครั้ง

ชัตเทิลบัสวิ่งไปบนถนนใหญ่อีกประมาณ 3 กิโลเมตร รถจอดแต่คนลงไม่กี่คน ผมต้องถามหนึ่งในนั้นว่าเทอร์มินัล 2 ใช่มั้ย เขาบอกว่าใช่ ลงจากรถแล้วต้องเดินอีกมากกว่า 100 เมตรกว่าจะถึงหน้าอาคาร 2 เหลือเวลาก่อนเครื่องออกไม่ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง

พนักงานหนุ่มประจำเคาน์เตอร์เช็กอินพูดภาษาอังกฤษดีมาก บอกว่าประตูขึ้นเครื่องอยู่ใกล้ๆ ตรงนี้เอง เขาชี้ไปทางขวามือ แล้วบอกว่า “ผมขอให้คุณรอตรงนั้น” ผมไม่เข้าใจเลยว่าเขาหมายถึงอะไร

ผมเดินไปทางขวามือ เห็นป้ายเขียน “ในประเทศ” และ “ระหว่างประเทศ” แต่ไม่มีเลนหรือช่องแบ่งออกจากกัน เดินๆ อยู่ป้ายข้อความหายไป ยังโชคดีที่เดินถูกทางจนถึงจุดตรวจสัมภาระและทันขึ้นเครื่อง สรุปได้ว่าการสื่อสารด้วยป้ายบอกทางของสนามบิน Guarulhos มีปัญหา และตัวพนักงานเช็กอินก็มีปัญหา ถ้าผมรออยู่ตรงที่เขาบอกก็คงตกเครื่อง ที่มีปัญหาอีกอย่างคือราคาสินค้าในร้านค้าดิวตี้ฟรีที่แพงมาก สุราพื้นบ้าน “กาจาซา” คล้ายสินค้าตัวอย่าง ขวดเล็กจิ๋วไม่ถึงกั๊ก ราคาเท่ากับขวดลิตรที่ผมซื้อจากร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมือง

บรรยากาศการเข้าคิวตรวจสัมภาระขึ้นเครื่องสนามบิน Guarulhos

สายการบิน Ethiopian Airlines เที่ยวนี้พนักงานต้อนรับเป็นสุภาพสตรีทั้งหมด ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวเอธิโอเปีย หลายคนไม่รู้วิธีปฏิบัติตนยามอยู่บนเครื่องบิน นั่งเก้าอี้ได้แล้วปรับพนักพิงทันที เครื่องขึ้นได้ยังไม่ตั้งลำก็ลุกขึ้นหยิบของบนชั้นวางเหนือศีรษะ ลุกจะไปห้องน้ำก็มี แอร์โฮสเตสต้องคอยปรามกันจ้าละหวั่น

มีนักกรีฑาที่ต่อเครื่องมาจากโคลอมเบียหลายคน พวกเขาเพิ่งแข่งกรีฑาชิงแชมป์โลกเสร็จโดยกวาดเหรียญประเภทวิ่งมาราธอนมาได้หลายเหรียญ ลุกขึ้นร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองและเดินไปเดินมาไม่หยุดหย่อน กัปตันประกาศแสดงความยินดีกับนักกีฬาและทีมงาน คนบนเครื่องปรบมือและส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราว สาวบราซิลที่นั่งข้างๆ ผมแสดงอาการรำคาญในช่วงแรกๆ ต่อมาเธอเหมือนจะยิ้มได้ คงเพราะหายง่วงไปแล้วนั่นเอง

มีโอกาสได้คุยกันจึงรู้ว่าเธอออกจากบ้านที่บราซิลมาตั้งแต่ยังสาว ทำงานในกาสิโนที่มาเก๊านานหลายปี จากนั้นย้ายไปเมืองไทย ทำงานที่พัทยา ผมถามว่าทำอะไรที่พัทยา เธอตอบว่าเต้นโชว์ แต่เวลานี้ไม่ได้เต้นแล้ว มาบราซิลได้ปีกว่า กำลังกลับเมืองไทยเพื่อไปหาแฟนหนุ่มชาวฟินแลนด์

ตอนเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินกรุงแอดดิสอาบาบามีเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ผมจึงได้รู้ว่าสินค้าตัวเดียวกันในร้านค้าดิวตี้ฟรีแต่ละร้านแตกต่างกันมาก ใครที่มีโอกาสแวะที่นี่ก็ควรเปรียบเทียบราคาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ

ผู้โดยสารชาวจีนที่สนามบิน Addis Ababa Bole International Airport ประเทศเอธิโอเปีย

ขณะเข้าแถวเพื่อขึ้นชัตเทิลบัสไปยังเครื่องบิน สาวบราซิลขอผมแลกที่นั่งกับผม ที่นั่งอยู่ห่างกันคนละแถว คนละฝั่งของตัวเครื่องบิน สาเหตุเพราะเธอเข้าห้องน้ำบ่อยจึงอยากนั่งริมทางเดิน ผมยินดีให้เธอแลก ที่นั่งเดิมของเธออยู่ริมหน้าต่าง

รถชัตเทิลบัสในสนามบิน 2 คันส่งผู้โดยสารที่หัวเครื่องคันหนึ่ง ที่ท้ายเครื่องคันหนึ่ง พนักงานต้อนรับปล่อยให้ขึ้นเครื่องจากบันไดทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้คนไปติดกันอยู่บนเครื่องนานมาก เพราะคนที่ขึ้นจากหัวเครื่องหลายคนที่นั่งอยู่ท้ายเครื่อง ส่วนคนที่ขึ้นท้ายเครื่องจำนวนหนึ่งมีที่นั่งอยู่หัวเครื่อง ช่วงนี้เกือบได้เห็นคนจีนวางมวยกับคนเอธิโอเปียเพราะไม่ยอมหลีกทางให้กัน

 

ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขอให้ผมเดินไปหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง เจ้าหน้าที่ตรวจวัคซีนพาสปอร์ตของผมแล้วก็ติดสติ๊กเกอร์รับรองให้ที่อกเสื้อ

มีคนที่เดินทางจากบราซิลมาเมืองไทยก่อนหน้านี้บอกผมว่าไม่มีด่านตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนไข้เหลือง และเขาผู้นั้นก็ไม่เคยฉีด ปกติแล้วคนที่เดินทางมาจากประเทศที่อยู่ในลิสต์การระบาดของไข้เหลืองจะต้องฉีดวัคซีนมาก่อน หากยังไม่เคยฉีดก็จะต้องฉีดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชายผู้นี้ก็กะว่าจะมาฉีดวัคซีนไข้เหลืองที่สุวรรณภูมิ แต่เมื่อไม่มีการตรวจสอบเขาก็เข้าประเทศโดยไม่ได้ฉีดวัคซีน

ไข้เหลืองคือโรคไข้เลือดออกอันเกิดจากไวรัสที่ติดต่อผ่านการถูกยุงกัด ทั้งยุงลาย ยุงไข้เหลือง และยุงอื่นๆ อาจทำให้ผู้ที่รับเชื้อตายได้ แต่ละปีมีคนต้องสังเวยชีวิตให้กับไข้เหลืองทั่วโลกประมาณ 3 หมื่นราย โดยไวรัสไข้เหลืองพบในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกาและในอเมริกาใต้บางประเทศ รวมทั้งหมด 45 ประเทศ องค์การอนามัยโลกประกาศให้ผู้ที่เดินทางไปยังประเทศเหล่านั้นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง โดยฉีดครั้งหนึ่งมีผลในการป้องกันเป็นระยะเวลา 10 ปี ผมเองฉีดก่อนเดินทางไปอเมริกาใต้เรียบร้อยพร้อมกับวัคซีนอีกสารพัดตามที่หมอแนะนำ

สำหรับทวีปอเมริกาใต้ ประเทศที่มีความเสี่ยงไข้เหลืองได้แก่ โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู อาร์เจนตินา ปารากวัย เวเนซุเอลา และบราซิล ซึ่งบราซิลนั้นคงจะเสี่ยงกว่าประเทศใดๆ เพราะป่าแอมะซอนมีพื้นที่อยู่ในบราซิลมากกว่าประเทศอื่นๆ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านนี้ให้ข้อมูลกับผมว่าช่วงหลายเดือนก่อนบ้านเรามีปัญหาเรื่องโควิด จึงมีการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศเฉพาะเรื่องการตรวจเชื้อและการฉีดวัคซีนโควิด พอโควิดซาลงก็เลยกลับมาเข้มงวดกับไข้เหลืองอีกครั้ง

ผมถามว่าถ้าก่อนหน้านี้มีคนไม่ฉีดวัคซีนไข้เหลืองเข้าราชอาณาจักรมาและมีเชื้อไข้เหลืองมาด้วย ใครจะรับผิดชอบ

ยิ้มหวานของเธอคือคำตอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อริยสัจ 4...หลักการดีที่ควรใช้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้คนนับถือศาสนาพุทธมากกว่า 92% และในคำสอนของศาสนาพุธก็มีอริยสัจ 4 เป็นหลักที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงไปสู่ความสงบ

โชคดี...ที่ตายก่อน!!!

เห็นข่าวคราวว่าด้วย หลานสาว ชาวไทยรายหนึ่ง...ซึ่งน่าจะเป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่ได้โดดเด่น โด่งดัง ใดๆ มาก่อนเลย แต่เมื่อเธอโพสต์คลิปวิดีโอ โดยตัวเธอเองนั่ง

ปรับฮวงจุ้ยหรือ?

ไม่รู้จะเป็นเรื่องฮวงจุ้ยหรือกลัวฟ้า กลัวฝน กลัวไฟจะชอร์ตกันแน่ เพราะตั้งแต่ ผบ.ต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล แม่ทัพใหญ่สีกากี กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

หรือจะรอให้ประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลว

สถานการณ์บ้านเมืองของไทยเรามีอาการน่าเป็นห่วง เพราะคนรักชาติที่มีอยู่มากกว่าคนชังชาติทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นคนหมู่มากที่นิ่งเฉย (Passive Majority) ทำได้อย่างมากก็คือ

อนุสติจากไดโนเสาร์ตัวสุดท้าย!!!

อย่างที่ว่าไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นแหละว่า...โดยความเป็นไปของ กฎเกณฑ์ธรรมชาติ หรือจะเรียกว่า กฎวิทยาศาสตร์ ไปจนถึง กฎของพระผู้เป็นเจ้า