อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อหวนมองสงครามยูเครนน่าจะได้คำตอบว่าเป็นเพียงฉากหนึ่งของการช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ เหมือนนิยายเรื่องเก่าที่นำมาแสดงใหม่ สหรัฐกับรัสเซียยังคงอยู่ ส่วนยูเครนกลายเป็นซาก
ตั้งแต่เริ่มรบกัน รัฐบาลสหรัฐกับพวกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการอำนาจนิยม ยูเครนเป็นเมืองหน้าด่านของสมรภูมิ แทบทุกเวทีนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) ผู้นำยูเครนจะประกาศสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย นักการเมืองกับนักวิชาการตะวันตกหลายคนแสดงความคิดเห็นสนับสนุนเซเลนสกีอย่างแข็งขัน วิพากษ์ความเป็นอำนาจนิยมของรัฐบาลรัสเซีย
เมื่อยูเครนเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถทำลายหน่วยรบรัสเซีย สื่อตะวันตกจะเสนอข่าวเชิดชูสดุดีกองทัพยูเครน ความกล้าหาญและเสียสละ หากกองทัพยูเครนสูญเสียจะประโคมความโหดเหี้ยมเลวร้ายของกองทัพรัสเซีย ความไร้มนุษยธรรม
เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในที่ประชุมสุดยอดอียู เหล่าผู้นำอียูเห็นพ้องที่จะสนับสนุนยูเครนรบกับรัสเซียต่อไป เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า พวกผู้นำอียูจะสนับสนุนจนกว่าจะชนะศึก เซเลนสกีย้ำเป็นการรบเพื่อปกป้องเสรีภาพของอียูทั้งมวล
สงครามฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม:
รัฐบาลไบเดนชี้ว่าทุกวันนี้อเมริกายังเป็นผู้นำโลก (world’s leading power) อยู่เหนือชาติอื่นในด้านต่างๆ เพราะสหรัฐมีรากฐานค่านิยมที่เหนือกว่า กองทัพอเมริกันยังไร้ผู้เทียมทาน การร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนยิ่งเพิ่มขยายพลังอำนาจ
ด้วยการที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกประกาศว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม เป็นอีกเหตุผลที่แพ้ไม่ได้ รัฐบาลไบเดนจะต้องรับความรับผิดชอบอย่างไรถ้า “ฝ่ายประชาธิปไตยรบแพ้พวกอำนาจนิยม” อย่าลืมสหรัฐมักอ้างว่าตนเป็นผู้นำโลกเสรี
แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลสหรัฐยึดถือว่าตนเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ความเป็นประชาธิปไตยของตนลดน้อยลงทุกที มีคำถามว่าสหรัฐเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน ไบเดนพูดเองว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เป็นกึ่งเผด็จการ (semi-fascism) กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อทรัมป์เป็นพวกสุดโต่ง (an extremism-ไม่ใช่พวกประชาธิปไตย) มีผลวิจัยที่บ่งชี้ว่าความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกาลดน้อยถอยลงทุกที
ถ้าศึกนี้สหรัฐเป็นฝ่ายถอยก่อนจะมีคำพูดว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้” เรื่องนี้จะโทษคนอื่นไม่ได้เพราะรัฐบาลสหรัฐกับพวกชูเรื่องนี้เอง ทำไมอเมริกาแพ้ไม่ได้ เคยแพ้มาแล้วหลายครั้ง เช่น สงครามเวียดนาม
มองจากมุมรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินครองอำนาจมานาน ค่อยๆ ฟื้นฟูรัสเซียให้ก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ศึกนี้เป็นศึกใหญ่สุดเกี่ยวพันรอบด้านไม่ว่าจะมองที่ตัวเอง มองที่รัฐบาล มองที่ประเทศหรือระบบโลก ไม่ว่ารัฐบาลปูตินเป็นอำนาจนิยมหรือไม่ ปูตินไม่คิดยอมแพ้และคิดว่าตนมีโอกาสชนะด้วยซ้ำ
ตัวอย่างการจัดระบบโลกของสหรัฐ:
ศึกยูเครนมีความสำคัญเพราะสัมพันธ์กับการจัดระเบียบโลกของสหรัฐ เมื่อสงครามดำเนินไปฝ่ายรัสเซียโต้กลับเป็นฝ่ายรุกในการจัดระเบียบโลกด้วย เกิดการกระชับอำนาจในกลุ่ม พวกเดียวกัน เน้นค้าขายกันเองตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมที่สหรัฐยึดถือเรื่อยมา
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Paul Sankey จาก Sankey Research ชี้ว่า มาตรการกดราคาน้ำมันรัสเซียไม่ได้ผลเลย นับจาก 5 ธันวา.ปีที่แล้ว กลุ่ม G7 อียู และออสเตรเลียร่วมกันกดราคาน้ำมันรัสเซียไม่ให้เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หวังสกัดไม่ให้รัสเซียนำกำไรที่ได้ไปใช้ในสงคราม แต่บางประเทศอย่างอินเดีย จีนยังคงซื้อน้ำมันรัสเซียต่อเนื่องและมากขึ้น จีนขายน้ำมันดิบแก่มาเลเซียวันละ 1.5 ล้านบาร์เรล และมาเลเซียก็นำไปขายต่ออีกทอด เป็นตัวอย่างชี้ว่าทำไมมาตรการไม่ได้ผล
Paul Sankey เป็นรายล่าสุดที่ออกมาพูดว่ามาตรการคว่ำบาตรพลังงานไม่ได้ผล เป็นข้อสรุปเดิมๆ เหมือนเมื่อหลายเดือนก่อน คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไบเดนยังพยายามบังคับใช้ต่อไป มีหลายเหตุผลคือ
1) สหรัฐสามารถขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้น
ผลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สหรัฐผลิตก๊าซธรรมชาติเหลือเฟือแต่ส่งออกไม่ได้ เพราะต้นทุนการขนส่งสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะเทียบกับการขนก๊าซสู่ยุโรปผ่านระบบท่อของรัสเซีย สงครามยูเครนทำให้รัฐบาลสหรัฐมีข้ออ้างว่ายุโรปต้องเลิกซื้อพลังงานรัสเซียและให้ไปซื้อจากประเทศอื่นๆ ในการนี้คือซื้อจากสหรัฐด้วยนั่นเอง มีข้อมูลชัดเจนว่าตอนนี้ยุโรปซื้อก๊าซสหรัฐแม้ราคาจะแพงกว่าเป็นเท่าตัว
2) ยุทธศาสตร์ควบคุมประเทศด้วยพลังงาน
ทุกคนรู้ดีว่าพลังงานเป็นเสมือนเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจสังคม ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลสหรัฐใช้คือต้องการให้พันธมิตร มิตรประเทศของตนซื้อใช้พลังงานด้วยกันเอง (ห้ามซื้อใช้ของศัตรู) แม้ระบบนี้ยังไม่สมบูรณ์แต่เป็นความพยายามที่รัฐบาลสหรัฐใช้ควบคุมประเทศต่างๆ (ใครแตกแถวจะมีปัญหาซื้อพลังงานยาก)
3) รักษาเปโตรดอลลาร์
อีกเหตุผลคือเพื่อรักษาการใช้สกุลเงินดอลลาร์ที่นับวันจะสั่นคลอน การควบคุมผู้ซื้อผู้ขายนี่แหละคือวิธีการรักษาเปโตรดอลลาร์
ดังนั้น แม้ว่าสงครามยูเครนจะทำให้เงินเฟ้อพุ่ง สินค้าขึ้นราคา รัฐบาลสหรัฐยืนยันคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียต่อไป ปล่อยให้ประชากรโลกหลายร้อยล้านคนทุกข์ยาก การจัดระเบียบโลกนี่แหละที่กินเวลาและกระทบแทบทุกประเทศทั่วโลก
ยูเครนยิ่งรบยิ่งพัง:
เมื่อประเมินการศึกยูเครนครบ 1 ปี มีข่าวที่ชี้ว่ารัสเซียรุกกินดินแดน ข่าวการสูญเสียของรัสเซีย สื่อตะวันตกมักโหมข่าวความอ่อนแอของกองทัพรัสเซีย พยายามชี้นำให้คิดว่ารัสเซียจะแพ้ ในขณะที่บางสื่อนำเสนอการถอยร่นของฝ่ายยูเครน คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่าผลัดกันรุก ผลัดกันรับ แต่โดยสรุปแล้วยูเครนเป็นฝ่ายตั้งรับ สูญเสียดินแดนมากขึ้นตามลำดับ แม้รัฐบาลสหรัฐกับพวกยังยืนยันสนับสนุนยูเครนต่อไป จัดส่งอาวุธร้ายแรงมากขึ้นตามลำดับ
ในอีกด้านหนึ่ง ขึ้นกับแผนรัสเซียว่าจะเปิดฉากรุกหนักหรือต้องการทำศึกยืดเยื้อลากยาว หรือเป็นเพราะศักยภาพกองทัพรัสเซียมีเท่านั้น นาโตที่ช่วยอยู่เบื้องหลังต้านทานรัสเซียอย่างแข็งขัน อีกทั้งรัสเซียสูญเสียกำลังพลไม่น้อย สูญเสียทางเศรษฐกิจมากเช่นกัน เมื่อการศึกครบ 1 ปีจึงดูเหมือนว่าอาจต้องรบต่ออีกเป็นปีๆ
ยูเครนยิ่งรบยิ่งพัง และพังเศรษฐกิจสังคมบางประเทศ สหรัฐทนได้ดีแต่บางประเทศไม่ใช่ เกิดคำถามว่าพันธมิตรอเมริกาบางประเทศจะทนอยู่ในสภาพเงินเฟ้อพุ่ง สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดินได้อีกนานแค่ไหน
3 ทศวรรษนับจากประกาศเอกราชแยกตัวออกจากโซเวียตรัสเซีย บัดนี้ยูเครนกำลังเผชิญภัยความมั่นคงแห่งชาติครั้งใหญ่สุด รัฐบาลเซเลนสกีที่ได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็นฮีโร่ของฝ่ายประชาธิปไตย แต่วิเคราะห์แล้วอนาคตไม่แน่นอน แผ่นดินยูเครนถูกรุกรานและแบ่งออกไป ระบบเศรษฐกิจพังทลาย เสียหายมหาศาล นับวันประเทศมีแต่จะกลายเป็นเศษซาก คนตายทุกวัน ล่าสุดชาวยูเครน 15.3 ล้านคน กับอีกกว่า 4 ล้านคนที่ลี้ภัยในต่างแดน อยู่ได้ด้วยอาหาร สิ่งของบรรเทาทุกข์จากสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆ
ประชาชนยูเครนหลายสิบล้านคนกำลังทุกข์ยากเพื่อประชาธิปไตยยุโรป เพื่อการอยู่ดีมีสุขของคนต่างชาติ หวังว่ารัฐบาลชาติประชาธิปไตยจะไม่ลืมเรื่องนี้ ตอบแทนคนยูเครนสมกับราคาที่พวกเขาจ่ายไป
อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อหวนมองสงครามยูเครนอีกครั้ง น่าจะได้คำตอบว่ายูเครนเป็นแค่สมรภูมิหนึ่งของฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย เป็นเพียงฉากหนึ่งของการช่วงชิงแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเท่านั้น เหมือนนิยายเรื่องเก่าที่นำมาแสดงใหม่ สหรัฐกับรัสเซียยังคงอยู่ ส่วนยูเครนเหลือแต่ซาก
นี่ยังไม่เอ่ยถึงประชากรโลกหลายร้อยล้านคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกกระทำต่อรัสเซีย เงินเฟ้อพุ่ง สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด