ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของไทยตอนนี้ที่กำลังได้รับความนิยมคงไม่พ้นภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง 100% แบบเต็มกำลัง แต่ใช่ว่าในประเทศไทยจะมีแค่อีอีซีเท่านั้นที่จะต้องให้ความสนใจ เพราะยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน

และเมื่อมาดูตามยุทธศาสตร์ใหม่ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570) คือการมุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน คือการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

ถือเป็นกลยุทธ์ที่บีโอไอให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยนโยบายและหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ บีโอไอได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1.พื้นที่เป้าหมายศักยภาพสูง ซึ่งจะมีส่วนในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ, นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและบริหารจัดการที่ดีในภาคอุตสาหกรรม

และเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (SKP) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึง Digital Park & Digital Valley เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน 

2.พื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับภาคและระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ทั้งในส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค, พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และเมืองต้นแบบ เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ และพื้นที่ 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เพื่อกระจายรายได้และลดความยากจนข้ามรุ่น รวมถึงเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ

สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เป็นการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์ในแต่ละภาค โดยบีโอไอจะนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับศักยภาพและอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ดังนี้ 1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน หรือ Creative LANNA 2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม.และพื้นที่โดยรอบ และ EEC และ 4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ

เมื่อดูตามแผนยุทธศาสตร์ของบีโอไอแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้จำเป็นจะต้องฝากความหวังไว้กับแค่พื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่จะเข้าไปพัฒนาแหล่งชุมชนกระจายไปในหลายๆ จังหวัดของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และกระจายการลงทุนให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จของแบรนด์กับการใช้Meta

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 700 ล้านคน และมี GDP รวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร