หวาดเสียว...
วานนี้ (๑๔ กุมภาพันธ์) นายหัวชวน บอกว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถคุมองค์ประชุมสภาผู้แทนฯ ได้
รัฐบาลก็คุมไม่ได้
องค์ประชุมจึงไม่ค่อยมีความแน่นอน
จึงทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าการประชุมในวันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์นี้ องค์ประชุมจะพร้อมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
ขนาดประธานสภาผู้แทนฯ ยังให้คำตอบไม่ได้ ก็ต้องไปดูที่หน้างานแล้วล่ะครับ
ล่ม ไม่ล่ม
ทำไมต้องมีองค์ประชุม สำคัญอย่างไร แค่ไหน
องค์ประชุม เป็นเงื่อนไขในการกำหนดจำนวนต่ำสุดของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมและสามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้
ถ้าไม่ครบก็ประชุมไม่ได้
องค์ประชุมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยสาระสำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒๖ บัญญัติเกี่ยวกับองค์ประชุมของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๖/๒๕๕๑ มีความอันเป็นสาระสำคัญว่า
...การกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแสดงเจตนาในลักษณะของมติที่ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการประชุมสภาที่ใช้อยู่ในนานาประเทศ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่างๆ ที่ใช้บังคับตลอดมา ล้วนมีบทบัญญัติว่าด้วยองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นองค์ประชุม
การที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ประกอบกันเป็นองค์ประชุมไว้ ก็เพื่อให้การประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ ของสภาเป็นไปด้วยความรอบคอบ และมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับการตรากฎหมายนั้น กฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคนในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในการพิจารณาทุกวาระ และเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประชุมไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาย่อมมีความหมายว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาที่มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม
จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่ได้
และหากมีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาที่ไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้...
นั่นคือความสำคัญขององค์ประชุม
เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ
แต่ระยะหลังมานี้ การใช้อำนาจนิติบัญญัติ ถูกนำมาเป็นเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านมากขึ้นจนมีนัยสำคัญ
ศรัทธา เสื่อมลง!
นิสัยบางอย่างเป็นแล้วแก้ยาก
มีคนบอกว่า ใกล้เลือกตั้งก็แบบนี้แหละ ส.ส.หวงพื้นที่ รอสภาสมัยหน้าเดี๋ยวก็ดีเอง
มันก็ใช่ใกล้เลือกตั้ง ส.ส.เลือกไปหาเสียงมากกว่าประชุมสภา
แต่ที่ผ่านมาองค์ประชุมถูกนำมาเป็นเกม เล่นกันเองในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ตรงนี้จะอธิบายกันอย่างไร
ถ้าบอกว่าเพื่อความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น กรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แบบนี้ฉิบหายครับ
ต่อไปจะไม่มีคำว่ากฎหมายรัฐบาล
แต่จะเป็นกฎหมายพรรคร่วมรัฐบาลแทน
หากคุยกันไม่รู้เรื่องก็กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล
ต่างคนต่างโหวตรัฐบาลพัง!
ครับ...ในภาพรวมมีการนำองค์ประชุมสภาไปเล่นเกมต่อรองการเมืองในหลากหลายรูปแบบ
และการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ก็เช่นกัน
อาจได้เห็นการนับองค์ประชุมเพื่อปิดเกม
อย่าคิดว่าเฉพาะฝั่งรัฐบาลเป็นคนขอนับ ฝ่ายค้านก็อาจขอนับองค์ประชุมให้จบๆ ไปเช่นกัน
หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อน และฝ่ายที่ถูกโจมตีไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้
กรณีอาจมีการขอนับองค์ประชุม ซึ่งแน่นอนว่านับเมื่อไหร่มีโอกาสล่มเมื่อนั้น
แต่โดยทั่วไปแล้วการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ฝ่ายค้านมักไม่มีหลักฐานเด็ดที่จะถล่มรัฐบาล
โอกาสนำข้อมูลที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนมาอภิปรายจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในศึกซักฟอกรัฐบาลแบบลงมติ บ่อยครั้งฝ่ายค้านนำข้อมูลตัดแปะจากสื่อมวลชนมาอภิปรายด้วยซ้ำ
ฉะนั้นเป็นเวทีให้ ส.ส.ใหม่ฝึกลับฝีปากเสียมากกว่า
เพียงแต่ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งกว่า ๓ เดือนหลังจากนี้
จึงพิเศษกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
เมื่อเป้าหมายอยู่ที่การเลือกตั้งสิ่งที่จะเห็นจากการอภิปราย อาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง
อาจไม่เห็นการซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะแก้ปัญหาสักเท่าไหร่
แต่จะเห็น ส.ส.เน้นอภิปรายปัญหาในพื้นที่เลือกตั้งของตนเองแทน
จะเรียกว่า ซูเปอร์กระทู้ถามก็ได้
แน่นอนครับมีเรื่องโจมตีรัฐบาลแน่ๆ เช่น มาเก๊า ๘๘๘, ตู้ห่าว แต่ก็หยิกเล็บเจ็บเนื้อ โดนลูกหลงกันทั่วหน้าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
เรื่องตำรวจ ก็อย่างที่เคยเขียนถึง "ทักษิณ" คือผู้สร้างรัฐตำรวจ
ฉะนั้น การอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ วันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์ คือการหาเสียงของฝ่ายค้านและรัฐบาล
ฝ่ายค้านด่ารัฐบาลเพื่อดิสเครดิตได้ทุุกเรื่อง
ส่วนรัฐบาลประกาศผลงานได้ทุกชิ้น
อยู่ที่ใครพูดเก่งกว่ากัน
และประชาชนเชื่อใครมากกว่ากัน
เดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนีคุก-ตั้งบ่อน
ก็ยังเงียบๆ อยู่ครับ... ครบกำหนด ๑๕ วัน บรรดาหมอๆ โรงพยาบาลตำรวจ และกรมราชทัณฑ์ ต้องส่งเอกสารหลักฐานการรักษาตัว "นักโทษเทวดา" ให้แก่แพทยสภาแล้ว
ปั้น 'จีดีพีเลือด'
เชื่อเถอะครับ... ที่รัฐบาลพ่อเลี้ยงประกาศจะปั้นจีดีพีให้โตพรวดๆ นั้น ทำได้จริง
กาสิโนต้องเร่งด่วน!
ไม่รู้จะแปลความอย่างไรครับ... นอกจากรัฐบาลลักไก่! ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาสะกิดรัฐบาลเอากลับไปทำเสียให้ถูกต้อง ให้มันครบวงจรจริงๆ
จะล้มทั้งกระดาน
น่าเห็นใจครับ... วานนี้ (๑๒ มกราคม) หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ "พล.ต.ท. นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์" รูดซิปปากแน่น ใส่กุญแจอีก ๑๔ ชั้น ไม่บอกนักข่าวว่าส่งเอกสาร หลักฐาน การรักษาตัว "นักโทษเทวดา" ไปให้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา แล้วหรือยัง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์