ลา ‘รีโอ’ กลับ ‘เซาเปาโล’

บทเพลง The Girl from Ipanema ในหัวจบลงไป จากรูปปั้นของ Tom Jobim (ผู้แต่งทำนองเพลงนี้ขึ้นมาเมื่อ 60 ปีก่อน) บนทางเดินริมชายหาดอิปาเนมาช่วงใกล้จะสุดฝั่งตะวันออกของหาด เมื่อเดินไปอีกนิด หาดก็เปลี่ยนชื่อเป็น “อาปัวดอร์” (Apoador) แม้หาดจะมีความต่อเนื่องกันชนิดไม่เห็นรอยต่อก็ตาม

ในทะเลนอกหาดอาปัวดอร์มีคนเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่เป็นจำนวนมาก พวกที่ขึ้นไปนั่งชมคนเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่บนโขดหินที่จุดสิ้นสุดหาดชื่อหินอาปัวดอร์ก็มีไม่น้อย

มหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณหาดอาปัวดอร์และหินอาปัวดอร์
ชายหาดอิปาเนมา

ถัดจากหินอาปัวดอร์คือหาดเล็กๆ ชื่อชีอาบู (Diabo) แปลว่า “ปีศาจ” จากตรงนี้คาดว่าน่าจะเดินไปตามช่องทางธรรมชาติทะลุออกชายหาดโคปาคาบานาได้โดยต้องผ่านป้อมชายฝั่ง ชื่อ “ป้อมโคปาคาบานา” ไป แต่ผมไม่เสี่ยง จากหาดปีศาจผมเดินย้อนไปทางหาดอิปาเนมาจนพบซอยที่ทะลุไปออกถนนเลียบหาดโคปาคาบานา

หาดปีศาจ Diabo
รูปปั้น “โดริวัล คายิมี” ศิลปินผู้มีความสามารถหลากหลาย และเป็นอีกหนึ่งตำนานบอสซาโนวา
รูปปั้น “การ์ลูส ดรุมมอนด์ จี อันดราจี” กวีผู้ยิ่งใหญ่
“อาอีร์ตุง เซนา” ยอดนักแข่งฟอร์มูลาวันผู้ล่วงลับ

เดินไปบนถนนเลียบหาดโคปาคาบานาอีก 3 กิโลเมตรกว่าจะถึงที่พัก เก็บกระเป๋า เช็กเอาต์แล้วคิดว่าจะนั่งเมโทรจากสถานี Siqueira Campos ในย่านโคปาคาบานาไปยังสถานี Cidade Nova ทางเหนือของเมือง จากนั้นเดิน 1.5 กิโลเมตรไปยังสถานีรถบัส Novo Rio

นึกขึ้นได้ว่าตอนมาถึงรีโอเมื่อ 3 วันก่อนก็คลำทางจากสถานีรถบัส Novo Rio หาเมโทรสถานี Cidade Nova ไม่เจอมาแล้ว หากวันนี้นั่งเมโทรไปถึงสถานี Cidade Nova ก็อาจเดินไปสถานีรถบัสไม่ถูก แล้วต้องเรียกแท็กซี่จากแอปอูเบอร์อยู่ดี คิดได้ดังนี้เลยใช้แอปอูเบอร์เรียกรถให้มารับที่หน้าสถานีเมโทร Siqueira Campos ยอมทำผิดเจตนารมณ์ในการเดินทางที่เน้นใช้บริการขนส่งสาธารณะอีกครั้ง

ไม่นานรถอูเบอร์ก็มาถึง ก่อนรถวิ่งเข้าอุโมงค์ Túnel Rebouças ผมก็ได้เห็นประติมากรรมพระเยซูมหาไถ่ Cristo Redentor แบบชัดๆ ไม่มีเมฆหมอกบดบัง สายไปแล้ว ผมกำลังจะกลับเซาเปาโล ได้แต่หวังว่าวันข้างหน้าจะมีโอกาสกลับมารีโออีกครั้งและมีเวลามากกว่าหนนี้เพื่อขึ้นไปยังยอดเขา “กอร์โกวาดู” ให้จงได้

การเรียงลำดับที่น่าเอาอย่าง ทะเล-ชายหาด-ทางเท้า-ทางจักรยาน-ถนน-อาคาร

สำหรับอุโมงค์รถยนต์ Túnel Rebouças นี้มีความยาว 2,800 เมตร เชื่อมรีโอโซนเหนือและโซนใต้ ใช้เวลาก่อสร้าง 5ปี สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 1967 ถือเป็นอุโมงค์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในรีโอ ซึ่งในรีโอมีถนนอุโมงค์อยู่ด้วยกันทั้งหมด 22 สาย ถนนอุโมงค์ที่ยาวที่สุดมีชื่อว่า Tunel Marcello Alencar ยาว 3,382 เมตร มุดใต้ดินขนานชายฝั่งตะวันออกของรีโอที่เรียกว่าฝั่งท่าเรือ และวิ่งผ่านใต้ย่านเมืองเก่าของรีโอ ถนนอุโมงค์นี้นอกจากยาวสุดในรีโอแล้วก็ยังยาวที่สุดในบราซิลอีกด้วย เปิดใช้ต้อนรับโอลิมปิกฤดูร้อน “รีโอ 2016”

คลื่นทะเลบริเวณชายหาดโคปาคาบานา เจ้าหน้าที่ต้องปักธงแดง

นครรีโอเดจาเนโรมีลักษณะภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหินและภูเขาน้อยใหญ่ ในอดีตผู้คนต้องเดินทางอ้อมไปมาเป็นระยะทางไกล ไม่เช่นนั้นก็ต้องข้ามเขาหลายลูก เมื่อรถยนต์เริ่มมีมากจึงได้มีการสร้างอุโมงค์ขึ้น อุโมงค์แรกสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1887 ชื่อ Túnel da Rua Alice ความยาว 229 เมตร เป็นทางลัดระหว่างโซนเหนือและใต้ทางเดียวในเวลานั้น หากไม่ต้องการเดินทางผ่านเขตเมืองที่พลุกพล่าน จนกระทั่งมีอุโมงค์ Túnel Santa Bárbara ในปี ค.ศ. 1963 ความยาว 1,357 เมตร และอุโมงค์ Túnel Rebouças เมื่อ ค.ศ. 2016 ตามที่ได้กล่าวถึงไป

พระเยซูมหาไถ่บนยอดเขากอร์โกวาดู

ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร รถอูเบอร์ใช้เวลาวิ่งประมาณ 15 นาที ถือว่าสะดวกรวดเร็วกว่าใช้บริการรถไฟฟ้า ค่ารถ 25 เรียลซึ่งก็ถือว่าไม่แพงหากเทียบกับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ๆ ของบราซิล

รถบัสบริษัท Penha ออกจากสถานีขนส่ง Novo Rio เวลา 14.15 น. เว็บไซต์ที่ผมจองระบุไว้ว่าจากรีโอเดจาเนโรถึงเซาเปาโลใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง จะถึงสถานีขนส่ง Terminal Tiete ในเซาเปาโล 20.15 น. เอาเข้าจริงล่าช้าไป 1 ชั่วโมง

เรื่องความล่าช้าของรถบัสระหว่างเมืองในบราซิลถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับว่าในทุกๆ แพลตฟอร์มการจองจะบอกเวลาถึงปลายทางให้เร็วกว่าความเป็นจริงเข้าไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นมาตรฐาน

ผมต้องส่งข้อความทาง WhatsApp ไปบอก “ไตส์” เจ้าของเกสต์เฮาส์ว่าจะถึงช้ากว่าที่เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ จาก 3 ทุ่มเลื่อนเป็น 4 ทุ่ม เธอตอบกลับมาว่า “ใจเย็นๆ มาถึงกี่โมงก็ได้” แน่นอนว่าเธอพิมพ์เป็นภาษาโปรุเกสก่อนแล้วจึงใช้ฟีเจอร์แปลให้เป็นภาษาอังกฤษ

ไตส์มีลูกสาวชื่อ “อิซาเบล” น่ารัก หัวฟู หน้าตาจิ้มลิ้ม อายุ 10 ขวบ ตอนที่ผมพักที่เกสต์เฮาส์รอบที่แล้วซึ่งเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ไตส์อยู่คนเดียว และผมจำได้ว่าเธอพูดบางอย่าง ประมาณว่าวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีคนมาพักด้วย ระบุว่า “มาย ซัน” พอเจอเธอและอิซาเบล ผมเลยต้องบอกว่า “นี่ไม่ใช่ซันนะ นี่คือดอเตอร์” เธอก็หัวเราะ “ซิง ซิง ดอเตอร์ ดอเตอร์”

อิซาเบลพูดภาษาสเปนได้นิดหน่อย ผมเองพูดคำที่จำเป็นได้เป็นคำๆ พูดเป็นประโยคไม่ได้ แต่เราก็พูดกันพอรู้เรื่อง ถ้าไม่เข้าใจก็ใช้กูเกิลทรานสเลต นอกจากนี้เธอยังเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน พูดได้บางคำ ก่อนผมเข้านอนเธอพูดว่า “กู้ดไนต์” ส่วนแม่ของเธอกล่าว “โบอา นอยชี” ทั้งคู่ยังไม่นอนแม้เวลาล่วงไปเกือบตี 1 แล้ว

สายๆ วันต่อมาระหว่างนั่งเขียนคอลัมน์อยู่ในห้องที่คล้ายเป็นร้านอาหาร ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินออกมาจากห้องซึ่งแต่เดิมเป็นระเบียงหน้าบ้านของชั้นสอง ระเบียงนี้ถูกกั้นให้เป็นห้องพักอีกห้องหนึ่ง

ผู้หญิงวัย 20 กลางๆ ถึงปลายๆ หน้าตาคล้าย “เปเนโลเป ครูซ” รูปร่างผอมสูง หุ่นนี้คือหุ่นของนางแบบ และผมมั่นใจมากว่าเธอเป็นนางแบบ คงเข้ามาเช็กอินตอนดึกมากแล้ว ไตส์ยังไม่ตื่นนอน แสดงว่าเมื่อคืนรอรับผู้หญิงคนนี้

เธอดูหยิ่งๆ และคุยโทรศัพท์อยู่เกือบตลอดเวลา แล้วตอนที่เดินออกมาจากห้องน้ำที่ผู้เข้าพักทุกห้องใช้ร่วมกัน ก็ตรงมาที่ผมโดยที่มือถือแนบกับลำตัว พูดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ “คุณมาจากเมืองไทย ?” ผมถามกลับไปว่า “คุณรู้ได้อย่างไร ?” เธอว่า “ฉันเห็นยาสีฟันในห้องน้ำ มันเป็นภาษาไทย ฉันรู้ เพราะฉันเคยอยู่เมืองไทย”

แล้วผมก็สิ้นข้อสงสัย เธอเป็นนางแบบจริงๆ ทำงานที่กรุงเทพฯ และพักอาศัยบนเกาะพีพี เธอกลับมาบราซิลเมื่อปลายปี 2564 เพราะที่เมืองไทยงานของเธอหดหายอันเนื่องมาจากภัยโควิด

เธอนั่งรถบัสมาจากบ้านที่เมืองเวอร์จิเนีย รัฐมีนัสเซไรส์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครเซาเปาโลประมาณ 300 กิโลเมตร เธอเข้าเซาเปาโลมาเพื่อทำผมโดยเฉพาะ คืนนี้ก็จะนั่งรถบัสกลับ “เมืองที่ฉันอยู่ไม่มีสนามบินน่ะ” เธอว่า และสาเหตุที่พักที่นี่เพราะสามารถเข้ามาเช็กอินได้แม้หลังเที่ยงคืน และเป็นแห่งเดียวที่เธอรู้จักที่อนุญาตให้ผู้เข้าพักอยู่เลยเที่ยงวันไปจนถึงค่ำโดยไม่คิดเงินเพิ่ม

แม่ครัวซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นแม่ของ “ไตส์” กำลังทำอาหารอยู่ในครัว มีผู้ชายหลายคนทยอยขึ้นมานั่งโต๊ะกินมื้อเที่ยง บางคนก็ใส่ห่อกลับไป แต่ละคนมาในชุดทำงานแบบลุยๆ ลักษณะเป็นช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างทำถนน ที่ผมสงสัยว่าทำไมห้องรับแขกดูคล้ายร้านอาหารก็หมดคำถาม เป็นร้านอาหารที่ขายเฉพาะมื้อเที่ยง และลูกค้าก็คือผู้ชายอาชีพช่างอันหลากหลายในละแวกนี้

ผมขอให้นางแบบสาวถามแม่ครัวว่าขายมื้อเที่ยงให้ผมด้วยได้ไหม ก็ได้รับคำตอบว่า “ยินดี” แม่ครัวกวักมือเรียกให้ผมเข้าไปเลือกเมนูในครัว มีข้าวสวย เส้นสปาเก็ตตี มันฝรั่งอบ เนื้อสเต็ก เนื้อตุ๋น ถั่วในซอสข้นๆ และสลัด ผมชี้ไปที่สปาเก็ตตี มันฝรั่ง เนื้อตุ๋น ถั่ว และสลัด คุณป้าแม่ครัวก็ตักทั้งหมดใส่ในจานใบใหญ่ใบเดียวกัน รสชาติอร่อยใช้ได้ และราคาถูกมาก แค่ 20 เรียล หรือ 140 บาทเท่านั้น ปกติแซนด์วิชชิ้นหนึ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ประมาณ 14 – 15 เรียลเข้าไปแล้ว

เขียนคอลัมน์เสร็จในเวลาบ่าย 2 โมง ออกเดิน 2.6 กิโลเมตรไปยังพิพิธภัณฑ์ฟุตบอล Museu do Futebol ซึ่งผมจะเขียนถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในวันอาทิตย์หน้า

ตอนค่ำที่ผมกลับมายังที่พักก็ได้พบกับนางแบบสาวของเราอีกครั้ง เธอเปลี่ยนสีผมจากดำเป็นสีบลอนด์ ยังมีสีดำแซมอยู่เล็กน้อย เธอเดินจากห้องของเธอไปเข้าห้องน้ำหลายรอบ ทุกรอบจำเป็นต้องผ่านผมที่นั่งดื่มเบียร์อยู่

ออกจากรีโอมุ่งหน้าเซาเปาโล

ผมลืมไปว่ายังไม่ได้พูดเรื่องสีผมของเธอ จึงทักขึ้น “คุณดูดีมากเมื่อทำผมสีนี้” เธอกล่าวขอบคุณและยิ้ม

เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเธอยิ้ม แล้วมาดหยิ่งก็หายไปทันที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่างกล้า...ช่างมั่น รับประกันด้วยตำแหน่ง

ในขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเป็นห่วงเป็นใยว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดตามที่มีการลงนามความเข้าใจร่วม (MOU) 44

จาก...'ต้มยำกุ้ง' ถึง 'ต้มยำกบ'

ด้วยเหตุเพราะ ความคิดถึง อย่างสุดซึ้งถึงเพื่อนเก่า เพื่อนแก่ อย่าง เพื่อนแป๊ะ (โดย แป๊ะ รายที่ว่านี้ออกไปทาง เทพบุตร หรือคนละคนกับ แป๊ะ ปิศาจ) ที่ห่างหายไม่ได้เจอะหน้า เจอะตา

ทิศทางใหม่ 'สีกากี'

การจัดทัพปรับทิศ "กรมปทุมวัน" ในยุค ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ กุมบังเหียน "แม่ทัพใหญ่สีกากี" น่าสนใจ น่าติดตาม

ลัคนาพิจิกกับเค้าโครงชีวิตปี 2568

ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่คู่ครองและหุ้นส่วน หลังพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ชีวิตรับแนวลบเหตุการณ์ใหญ่ทยอยรออุบัติรอบทิศ เตรียมกลั่นพลังทั้งก๊อกสำรองสู้สุดๆ เพราะก๊อกหลักหรือดาวใหญ่ออกแนวลบ

4 กลุ่มชั่วน่ากลัวเป็นนักหนา กลุ่มที่ 5 ยิ่งน่าสยอง

ณ เวลานี้ หลายคนมองประเทศไทยด้วยความห่วงใยว่า ประเทศไทยของเราที่เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก ทั้งการลงทุน การทำมาค้าขาย การเข้ามาพำนักยามชรา และการมาท่องเที่ยว

ลิ้นงู...ที่อยู่ในปากงู!!!

ถึงแม้นจะพะงาบๆ อยู่ห่างๆ...ไม่มีโอกาสได้ลงลึก เจาะลึก ในรายละเอียด ด้วยเหตุเพราะสุขภาพ สังขาร ร่างกาย และอาจด้วยความห่างเหิน ห่างหาย กับใครต่อใครมานานแสนนาน