ไม่กี่วันก่อนกองทัพรัสเซียบุกข้ามพรมแดน นาโตประกาศจะไม่ส่งทหารเข้าช่วยรบเนื่องจากยูเครนไม่เป็นสมาชิกนาโต ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐไม่คิดทำสงครามกับรัสเซีย ในเบื้องต้นศึกยูเครนจึงเป็นการปะทะระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ในเวลาต่อมามีทหารรับจ้างกองกำลังอาสาจากหลายประเทศเข้าร่วมสมรภูมิ
สันติภาพเกิดได้ถ้าต้องการ:
กองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ปีก่อน ไม่กี่สัปดาห์ต่อมามีการเจรจาหยุดยิงหลายรอบ ปลายเดือนมีนาคมได้ข้อสรุปว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโตและได้รับประกันความมั่นคงโดยทำเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ มีผู้ค้ำประกันหลายชาติ เช่น อังกฤษ จีน สหรัฐ ตุรเคีย ฝรั่งเศส
ความเป็นกลางของยูเครนยังรวมถึงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ไม่เป็นที่ตั้งฐานทัพต่างชาติ ไม่เข้ากลุ่มร่วมมือทางทหารใดๆ ส่วนประเด็นสถานะของไครเมีย สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (Donetsk People's Republic) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ (Luhansk People's Republic) จะต้องหารือต่อไป
แนวข้อตกลงนี้ยูเครนสามารถอยู่อย่างสันติกับรัสเซียได้ตลอดไป แต่แล้วรัฐบาลยูเครนเปลี่ยนท่าที ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว สงครามจึงดำเนินต่อไป
ยูเครนรบได้เพราะอาวุธต่างชาติ:
เมื่อการรบผ่านไปไม่นานรัฐบาลยูเครนเริ่มร้องขอความช่วยเหลือ รัฐบาลสหรัฐกับพวกเริ่มส่งอาวุธเบาให้ก่อน แต่เมื่อการศึกยืดเยื้ออานุภาพอาวุธที่ส่งให้ก็ร้ายแรงขึ้นเช่นกัน สะท้อนขีดความสามารถของกองทัพรัสเซีย ในระยะหลังประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ร้องขอความช่วยเหลือแทบทุกสัปดาห์ เห็นชัดว่าการที่กองทัพยูเครนรบต่อได้เพราะอาวุธและเสบียงที่ได้จากต่างชาติ สหรัฐเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่สุด วันใดที่เลิกส่งเสบียงอาวุธ กองทัพยูเครนจะไม่สามารถรบต่อทันที
มีข้อมูลว่าปีที่แล้วนาโตส่งมอบรถถังหลายร้อยคันแก่ยูเครน เช่น T-72 กับ M-55Ss (ปรับปรุงจาก T-55) ตอนนี้กำลังพิจารณาส่งรถถังที่ตะวันตกผลิต เช่น M1 Abrams, Challenger 2 และ Leopard 1 กับ 2 รวมทั้งเครื่องบินรบอย่าง F-16
ด้าน Vyacheslav Volodin ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียเตือนว่า ยิ่งส่งอาวุธทรงอานุภาพเข้ายูเครนมากเท่าไร ยิ่งจะ “นำโลกสู่หายนะที่ทำลายประเทศพวกเขาเอง” กระตุ้นให้รัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธหนักเช่นกัน
บางครั้งยูเครนพยายามโจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เช่น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เกิดเหตุวินาศกรรมสะพานไครเมีย รัสเซียตอบโต้ด้วยการเปิดฉากโจมตีโรงไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟฟ้าทั่วประเทศ ทำให้ยูเครนขาดแคลนทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำประปา ชาวยูเครนหลายล้านคนตกอยู่ในความมืดท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บในฤดูหนาว
ทันทีที่สงครามปะทุ ประธานาธิบดีเซเลนสกีร้องขออาสาสมัครนานาชาติเข้าร่วมรบกับยูเครน ปลายปี 2022 สื่อรัสเซียเผยมีทหารรับจ้างชาวโปแลนด์กว่าหมื่นคนเข้าร่วมศึกยูเครน ถ้านับครูฝึกทหารยูเครนจะต้องเพิ่มอีก 2,000 นาย ตัวเลขนี้จริงหรือเท็จไม่อาจทราบได้ แต่การฝึกทหารโดยชาตินาโตนั้นเป็นจริง ทหารต่างชาติในนามทหารรับจ้างหรืออาสาสมัครมีจริง รวมทั้งจากสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ทหารรับจ้างไม่ใช่ของแปลกใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ยูเครนสามารถรบกับรัสเซียได้จนถึงบัดนี้
ทางด้านรัสเซียมีหน่วยรบหรือทหารรับจ้างที่เรียกรวมๆ ว่า Wagner มีบทบาทในแนวหน้าชัดเจน
การส่งมอบความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ให้อาวุธหนัก การเข้ามาของทหารรับจ้าง ทั้งหมดส่อว่าต่างฝ่ายต่างไม่อยากแพ้ รัสเซียไม่อยากแพ้ สหรัฐกับพวกก็ไม่อยากแพ้ สงครามจึงต้องดำเนินต่อไป
สงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย:
ดังนั้นภาพสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้นำต่อต้านรัสเซียที่รุกกรานยูเครน ร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติช่วยยูเครนป้องกันตนเอง
เมื่อมีฝ่ายสหรัฐก็มีฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย
ปลายปี 2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำ จีนกับรัสเซียร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมความมั่นคงโลก 2 ประเทศจะเชื่อมต่อกันมากขึ้น ร่วมมือด้านพลังงานมากขึ้น โลกอยู่ระหว่างเลือกแนวทางสงครามเย็นหรือสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ จีนกับรัสเซียต่อต้านความเป็นเจ้า การเมืองเชิงอำนาจ ยึดมั่นบทบาทของยูเอ็น เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นด้วยหาก BRICS จะมีสมาชิกเพิ่ม
ปี 2022 การค้าจีน-รัสเซียสูงถึง 190,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะปิโตรเลียมจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เป็นตัวอย่างการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม สาเหตุหนึ่งว่าทำไมการคว่ำบาตรไม่ได้ผล รัสเซียสามารถสู้ศึกต่อไป
ศึกนี้จะจบเมื่อไร:
รบมา 1 ปี 2 ฝ่ายเสียชีวิตนับแสน หลายคนตั้งคำถามว่าจบเมื่อไหร่ ความจริงแล้วการศึกจบได้ทันทีถ้าตกลงเงื่อนไขกันได้ ที่ยังจบไม่ได้เพราะเงื่อนไขไม่ลงตัว (โดยไม่คำนึงปัจจัยอื่นๆ เช่น แรงสนับสนุนจากประชาชน) และเงื่อนไขนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามบริบท เป็นไปได้ว่ารัสเซียจะไม่คืนดินแดนที่ยึดได้ (หรือไม่คืนให้ทั้งหมด) หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากรบต่อไปเพราะยังไม่บรรลุเป้าหมาย
ดังนั้น ผ่านมา 1 ปีสงครามจึงดำเนินต่อไป
ธันวาคมปีก่อนผู้นำยูเครนเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ ในที่ประชุมรัฐสภา ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวสุนทรพจน์ประกาศว่ายูเครนจะสู้ต่อไม่ยอมแพ้ ศึกยูเครนไม่ใช่งานการกุศลแต่เป็น “การลงทุน” สู้เพื่อประชาธิปไตย ตามมาด้วยเสียงตบมือดังสนั่นจากทั้งสภา ด้านประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า “คนอเมริกันรู้ว่าโลกจะเผชิญผลร้ายรุนแรงกว่านี้ถ้าเพิกเฉยต่อการโจมตีอย่างโหดร้ายที่กระทำต่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” จะสนับสนุนเซเลนสกี “นานเท่าที่ต้องการ”
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติระบุว่าสหรัฐจะทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยทั่วทุกมุมโลก เห็นชัดว่ารัฐบาลสหรัฐไม่อาจยอมแพ้และอาจวิเคราะห์ว่าเป็นศึกที่แพ้ไม่ได้ จุดยืนของการเจรจาต้องตั้งบนเงื่อนไขว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่แพ้
การที่สหรัฐพิมพ์เงินดอลลาร์ใช้ได้ไม่จำกัดเป็นจุดแข็งสำคัญ รัฐบาลไบเดนสามารถให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะอาวุธกับด้านมนุษยธรรมชนิดเรียกว่าไม่จำกัด ต่างจากประเทศทั่วไปที่ต้องระวังการใช้งบประมาณ เงินมหาศาลที่ละลายหายไปกับสงคราม ทั้งยังมีแนวคิดยึดทรัพย์รัสเซียที่ฝากไว้ในต่างแดนตามที่ต่างๆ ด้วย โดยนำทรัพย์สินเหล่านี้มาบูรณะฟื้นฟูยูเครน ธนาคารรัสเซียแจ้งว่าเฉพาะเงินตราสำรองของรัสเซียที่ถูกอายัดมีถึง 316,000 ล้านดอลลาร์ กระจายในหลายประเทศ
จะเห็นว่า ทั้งฝ่ายรัสเซียกับสหรัฐล้วนมีเงินถุงเงินถัง สามารถรบกันอีกนาน
Cui Heng จาก Center for Russian Studies of East China Normal University มองว่ารัสเซียจะมีเลือกตั้งในปี 2024 ฝ่ายปูตินแพ้ศึกไม่ได้เพราะจะสัมพันธ์กับการเลือกตั้ง ในทางกลับกันฝ่ายสหรัฐย่อมคาดหวังล้มรัฐบาลปูตินได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นมิตรกับชาติตะวันตก ด้วยเหตุผลนี้ศึกยูเครนน่าจะยืดยาวออกไปอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี การเลือกตั้งทั้งของรัสเซียกับสหรัฐน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ (เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024) ที่สุดแล้วการศึกยุติด้วยการเจรจาเท่านั้น
ดังที่นำเสนอแล้วว่าศึกยูเครนมองได้หลายกรอบ ในกรอบใหญ่สุดคือการจัดระเบียบโลกใหม่ สงครามยูเครนเป็นแค่ชนวนของการจัดระเบียบโลก ถ้ายึดข้อนี้ต้องใช้เวลาหลายปี ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ขึ้นกับความต้องการของมหาอำนาจ ความเป็นไปของประเทศยูเครนไม่ขึ้นอยู่กับคนยูเครนอีกต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด