ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๐): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล  ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความทั้งหมดในพระราชบันทึกข้อ ๑  ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมานำไปเสนอไปแล้ว

ในตอนนี้จะได้นำเสนอ “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑”

สนองพระราชบันทึก

๑. พระราชบันทึกนี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ คือ มีข้อความที่ทรงขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทรงกล่าวว่า ได้คัดค้านอยู่ตลอดเวลา แต่หากไม่ผลจึงได้จำยอมไปนั้น           

ข้อนี้รัฐบาลรู้สึกเสียใจและประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น อุนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงต่อสภาฯว่า ได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงได้นำต้นร่างไปขอให้ทรงแก้ไข ข้อใดที่ทรงขอให้แก้ไข คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ปฏิบัติตาม ดั่งปรากฎในคำแถลงของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามว่า

‘อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่าในร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก....’ (รัฐบาลได้อ้างอิง หนังสือรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๖ หน้า ๓๕๙-๓๖๐)                 

นอกจากนี้ยังได้ยินจากคำบอกเล่าของผู้ที่ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทว่า ได้ทรงพอพระราชหฤทัยในรัฐธรรมนูญนั้นมาก                         

จึงเชื่อว่าได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงมิได้ปรากฏว่าได้ทรงปฏิบัติการอย่างใดที่จะค้านรัฐธรรมนูญนั้น ครั้นมาบัดนี้ปรากฏขึ้นว่ามีข้อความบางอย่างที่ยังทรงข้องพระราชหฤทัยอยู่อีกก็จริงอยู่ แต่เห็นว่าเป้นเรื่องซึ่งเข้าพระทัยผิด ความจริงในทางปฏิบัตินั้นนับว่าได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการแล้ว โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญอันจะทำให้เสียความศักดิ์สิทธิ์ไปโดยไม่จำเป็น ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

๑. ในเรื่องวิธีการเลือกตั้งของสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้น รัฐบาลได้กระทำตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ประกาศก่อนมีการฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อก่อนที่จะนำขึ้นสู่สภาฯ ประธานอนุกรรมการคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทำการติดต่อกับพระมหากษัตริย์  พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้นำมาแจ้งต่ออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ในหลวงทรงโปรดปรานร่างพระราชบัญญัตินั้นมาก  และรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย จะไม่ทรงขอแก้แม้แต่ตัวอักษรแต่ตัวเดียว  อันที่จริงวิธีการเลือกสมาชิกประเภทที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เนื่องจากที่ได้ทรงพระราชปรารภในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ว่า การที่จะให้ผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกประเภทที่ ๑ ต้องได้รับความเห็นชอบ (approval) ของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ ๑ ตามวิธีการในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะสมาชิกประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาถึงครึ่งหนึ่งแล้ว ควรให้สมาชิกประเภทที่ ๑ นั้นสมัครได้โดยไม่ต้องมี approval ดั่งนี้ อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ยอมปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่ปรากฏเลยว่าได้ทรงข้อร้องให้วางวิธีการเลือกคัดสมาชิกประเภทที่ ๒ โดยวิธีอื่น นอกจากที่กล่าวมาแล้ว       

ครั้นเมื่อทรงพระราชปรารภมิได้มีคณะการเมือง และให้เลิกคณะราษฎรตามพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ภายหลังฉลองรัฐธรรมนูญ) จึงได้ทรงพระราชปรารภที่จะให้เลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทั่วๆไป คือทรงหมายถึงข้าราชการชั้นสัญญาบัตรตามที่ปรากฎในพระราชบันทึก รัฐบาลได้คำนึงถึงพระราชปรารภในข้อนี ฉะนั้นก่อนที่จะขอให้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒  รัฐมนตรีหลายนายจึงได้นำรายชื่อไปทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงดำริ  แต่มิได้ทรงทักท้วงประการใด และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ทีเดียว ในการเลือกตั้งนั้นเล่า รัฐบาลก็มิได้เลือกแต่ผู้ก่อการเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในจำนวนสมาชิกประเภทที่ ๒, ๗๘ คนนั้น มีผู้ก่อการเพียง ๔๗ คน และในส่วนตัวบุคคลก็ได้คัดเลือกเอาบุคคลที่เป็นชั้นสัญญาบัตร จะมีที่ไม่ใช่สัญญาบัตรอยู่คนหนึ่ง คือ นายมังกร สามเสน แต่ผู้นี้ก็เคยได้รับราชการในตำแหน่งยกกระบัตรเมืองมาแล้ว ซึ่งพอจะเทียบได้กับชั้นสัญญาบัตร ส่วนวิธีการที่จะให้ข้าราชการสัญญาบัตรเป็นผู้เลือกผู้แทนของตนนั้นเห็นว่า อาจทำให้ข้าราชการประจำแบ่งแยกออกเป็นพรรคพวก เพื่อทำการเมืองเช่นนี้ก็ได้ ซึ่งจักไม่เป็นผลอันพึงปรารถนาในทางราชการ กลับอาจมีผลอันไม่พึงปรารถนายิ่งขึ้นไปกว่าที่จะใช้วิธีการแต่งตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาก็ได้

อันที่จริงเรื่องที่เคยเป็นมาในขณะที่ยังมีสมาชิกแต่ประเภทเดียวนั้น เมื่อทรงรังเกียจผู้ใด เมื่อทราบในพระราชอัธยาศัยแล้ว ผู้นั้นก็ได้ลาออกจากสมาชิกภาพไปแล้วหลายนาย                 

อนึ่ง ที่ว่ากบฏหาพวกได้มากเพราะหยิบยกเอาการตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้นอ้างนั้น ข้อนี้เห็นว่าการที่พวกกบฏหาพวกได้มากนั้น เพราะใช้วิธีหลอกลวง ดังปรากฎในสำนวนต่างๆที่ศาลพิเศษแล้ว”   

ต่อไปคือ พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑   

“ข้าพเจ้าไม่ได้คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรต่อวิธีการที่จะเลือกสมาชิกประเภทที่ ๒ ดั่งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพราะว่า

ก. พระยามโนฯได้สัญญาแก่ข้าพเจ้าว่า อันบัญชีรายนามผู้ที่เสนอให้เป็นสมาชิกนั้น จะส่งมาให้ข้าพเจ้าล่วงหน้าเป็นเวลานานก่อนที่จะตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา                   

ข. และว่าจะเสนอรายชื่อมากกว่าจำนวนสมาชิกที่ต้องการตั้ง เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสเลือกบ้าง และรับจะพิจารณาคำทักท้วงของข้าพเจ้า       

ค. กับว่าอันบัญชีรายนามนั้นจะได้ทำขึ้นให้ตรงต่อหลักการ ซึ่งข้าพเจ้าได้วางไว้ให้แล้วให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จริงอยู่อันข้อสัญญาต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มิได้ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเลย ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะเสนอนามสำหรับคัดเลือกตั้ง พระยามโนฯก็ได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วโดยถูกรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้ร้องขอหลายครั้งหลายหนว่า อันบัญชีรายนามผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งนั้นควรเสนอมาให้ข้าพเจ้าโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อันที่จริงบัญชีรายนามนี้ได้ส่งมาให้ข้าพเจ้าตอนกลางคืน ก่อนวันซึ่งได้กำหนดไว้สำหรับเป็นวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร ความจริงประมาณเพียง ๑๒ ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเริ่มการพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น การที่ทำเช่นนี้ เห็นได้ชัดๆว่ามุ่งหมายที่จะให้ข้าพเจ้าจำต้องเซ็นอนุมติรายนามนั้นไปอย่าหลับหูหลับตา จะแสดงความขัดข้องประการใดก็คงจะทำให้การเปิดสภาผู้แทนราษฎรล่าช้าไปอีก และอย่างไรก็ดี ก็คงจะไม่เป็นผลประการใดเลย   

การที่จะป้องกันมิให้ข้าราชการประจำการไปเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่พึงประสงค์และทำได้โดยง่าย คือ โดยวางเกณฑ์ไว้เสียว่า ข้าราชการนอกประจำการเท่านั้นที่อาจเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ส่วนข้าราชการประจำการนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงเลือกสมาชิกประเภทที่ ๑ อยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอว่าอันสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้น ควรให้ข้าราชการทั้งหมดไม่ว่ายังประจำการอยู่หรือนอกประจำการก็ตามเป็นผู้เลือก ทั้งนี้มิใช่เพื่อที่จะทำให้ข้าราชการประจำการทั้งหลายมีความคิดไปในทางการเมืองยิ่งไปเสี่ยกว่าที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ นอกจากนั้น วิธีการนี้จะมีผลอันพึงประสงค์อย่างยิ่งในอันที่จะกันข้าราชการออกเสียจากวงการเมือง

การที่พวกกบฏสามารถหาสมัครพรรคพวกสนับสนุนการกระทำของเขาได้ โดยการหลอกลวงนั้นอาจเป็นไปได้ สมาชิกในคณะรัฐบาลน่าจะทราบดีอยู่ว่า อันวิธีการชนิดนี้ พวกนักการเมืองอื่นๆในประเทศสยามได้เคยนำไปใช้เป็นผลดีอย่างยิ่งมาแล้วด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก็เป็นความจริงที่ความไม่พอใจในวิธีเลือกผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ อันนี้ได้เพิ่มจำนวนพรรคพวกและผู้เห็นชอบด้วยให้แก่พวกกบฏหลายคน”

ตอนต่อไป จะได้นำเสนอ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑” และ “พระราชบันทึก ข้อ ๒”

(จาก ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 381-384)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490