อีกไม่กี่วันพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ “แอลดีพี” ของญี่ปุ่นกำลังจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก “โยชิฮิเดะ ซูกะ” หนึ่งในนโยบายหรือแนวทางที่ผู้ท้าชิงทั้ง 4 คนประลองกันบนเวทีดีเบตก็คือจุดยืนที่มีต่อจีน และมีถึง 3 คนแสดงออกมาในท่าทีที่แข็งกร้าว
ขณะเดียวกัน ประเทศจีนเวลานี้กำลังมีการรำลึกครบรอบ 90 ปี “อุบัติการณ์มุกเดน” ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นข้ออ้างโจมตีจีนในเช้าวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1931 เป็นจุดเริ่มต้นของ Full-scale Invasion หรือการรุกรานเต็มรูปแบบอันนำไปสู่การยึดครองแมนจูเรียในเวลาต่อมา
โหมโรงก่อนรุกราน
ญี่ปุ่นเคยโรมรันกับจีนในสงครามที่เรียกว่า “สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1” เมื่อปี ค.ศ.1894-1895 เพื่อแย่งชิงราชอาณาจักรเกาหลีที่อยู่ใต้อาณัติของจีนมาอย่างยาวนาน การรบเกิดขึ้นหลักๆ บนคาบสมุทรเกาหลี แมนจูเรียที่อยู่ทางเหนือเกาหลี เกาะไต้หวัน และทะเลเหลือง กองทัพราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ให้กับกองทัพฝ่าย “ฟื้นฟูเมจิ” เกิดสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ทำให้อำนาจในคาบสมุทรเกาหลีเปลี่ยนมือจากจีนไปเป็นของญี่ปุ่น นอกจากนี้จีนยังสูญเสียไต้หวัน เกาะเผิงหู และคาบสมุทรเหลียวตงให้กับญี่ปุ่น (แหลมทางใต้ของมณฑลเหลียวหนิง ปัจจุบันคือเมืองต้าเหลียน)
การเข้ามาของรัสเซียจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเฉพาะการได้สัมปทานเดินรถไฟที่ต่อเชื่อมกับสายทรานซ์ไซบีเรียระหว่างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก-วลาดีวอสต็อก โดยการเชื่อมเส้นทางจากฮาร์บินลงใต้มายังพอร์ตอาร์เธอร์ในเหลียวตงที่รัสเซียเช่าจากจีน ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มเห็นรัสเซียเป็นอุปสรรคของแผนการแผ่อิทธิพลของพวกเขาในเกาหลีและแมนจูเรีย
พิพิธภัณฑ์อุบัติการณ์มุกเดนในมณฑลเหลียวหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน (เครดิตภาพ commons.wikimedia.org/Eurico Zimbres)
ญี่ปุ่นเสนอให้รัสเซียสามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแมนจูเรียได้ โดยแลกกับการให้รัสเซียรับรองอำนาจการปกครองเกาหลีของญี่ปุ่น รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอและเรียกร้องการขีดเส้นแบ่งอิทธิพลกันที่เส้นขนาน 39 องศาเหนือในเกาหลี เมื่อเป็นดังนี้ ญี่ปุ่นเลือกที่จะรบดีกว่า โดยทำการจู่โจมอย่างฉับพลันในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1904 ใส่กองเรือรัสเซียที่พอร์ตอาร์เธอร์
สงครามกินเวลา 1 ปีครึ่ง การรบเกิดขึ้นในแมนจูเรีย คาบสมุทรเกาหลี ทะเลญี่ปุ่น และทะเลเหลือง สุดท้ายจักรวรรดิรัสเซียแพ้ให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่โลกตะวันตกปราชัยแก่กองทัพตะวันออก รัสเซียต้องอับอายขายหน้าชนผิวขาวด้วยกัน สูญเสียอำนาจและอิทธิพลในยุโรปตะวันออก เกิดความไม่พอใจของคนในประเทศ และเป็นเหตุให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียครั้งแรกปี 1905 แม้ว่าจะประสบกับความล้มเหลว
ญี่ปุ่นได้สิทธิเช่าเส้นทางรถไฟแมนจูเรียใต้ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “มันเทตสึ” ของ China Far Eastern Railway ที่รัสเซียเคยได้สัมปทานจากจีน รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ อีกมากที่จีนเคยทำสัญญาอย่างจำยอมกับรัสเซียมาก่อนหน้านี้ (จีนทำสัญญาจำยอมกับชาติยุโรปจำนวนมากมาย) จากนั้นญี่ปุ่นก็ถือสิทธิเข้าบริหารอย่างเด็ดขาดในเขตเส้นทางรถไฟแมนจูเรียใต้ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำการและซ้อมรบทั่วบริเวณ
หลังการปฏิวัติจีนในปี 1911 จีนยังคงแตกแยกและประเทศอยู่ในยุคขุนศึกที่ไร้ความสงบอยู่นานหลายปี กระทั่งตั้งหลักได้ก็เริ่มเรียกร้องว่าสนธิสัญญาต่างๆ ที่ลงนามกับญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นธรรมต่อจีนและประกาศเป็นโมฆะ ทั้งเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ชาวญี่ปุ่น (รวมถึงเกาหลีและไต้หวัน) ที่ตั้งรกรากและทำมาหากินในจีนต้องออกไปตัวเปล่าโดยไม่มีค่าชดเชยใดๆ ญี่ปุ่นโดยกองทัพคันโตอันเกรียงไกรก็ตอบโต้ด้วยการวางระเบิดสังหาร “จาง จั้วหลิน” ขุนศึกแห่งแมนจูเรียในปี 1928
จีนเริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 1929 กรณีการเดินรถไฟ Chinese Eastern Railroad ในแมนจูเรียตอนเหนือจนนำไปสู่การสู้รบ กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตเอาชนะกองทัพของ “จาง เสี่ยวเหลียง” ขุนศึกแมนจูเรียคนใหม่ บุตรชายจาง จั้วหลิน ผู้ล่วงลับ และรัสเซียก็ยืนยันสิทธิในกิจการรถไฟในแมนจูเรียตอนเหนือต่อไป ความปราชัยของจีนครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเห็นความอ่อนแอของกองทัพจีนอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันก็มองว่ากองทัพแดงโซเวียตแกร่งขึ้นมาก เห็นทีจะต้องเร่งพิชิตแมนจูเรียซึ่งครอบคลุมตะวันออกเฉียงเหนือของจีนทั้งหมด
เดือนเมษายน ปี 1931 “จาง เสี่ยวเหลียง” เดินทางไปประชุมกับ “เจียง ไคเช็ก” ที่ “หนานจิง” เมืองหลวงจีนตอนนั้น ได้ข้อสรุปว่าจีนจะต้องยืนยันสิทธิในดินแดนแมนจูเรียอย่างถึงที่สุด เวลาไล่เลี่ยกันนี้ฝ่ายกองทัพคันโตของญี่ปุ่นก็เริ่มวางแผนในการรุกรานแมนจูเรียครั้งใหญ่
อุบัติการณ์มุกเดน
“มุกเดน” คือเมืองที่เกิดเหตุ ปัจจุบันมีชื่อว่า “เสิ่นหยาง” อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง ทหารญี่ปุ่นแอบวางระเบิดในเวลาค่ำของวันที่ 18 กันยายน 1931 ใกล้ๆ รางรถไฟ จุดวางระเบิดไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นบริเวณรางที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่ได้ตั้งอยู่บนสะพานที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อขบวนรถไฟ อีกทั้งวางในจุดที่ใกล้พอที่รางจะเสียหายแค่บางส่วน แต่ก็ไกลพอที่จะไม่เป็นอันตรายต่อขบวนรถไฟของญี่ปุ่นเอง ความสำคัญของจุดวางระเบิดอยู่ที่ห่างจากกองทหารรักษาการณ์เป่ยต้าหยิงของจีนเพียง 800 เมตร เพื่อให้ปุถุชนอนุมานได้ว่าทหารจีนเป็นฝ่ายก่อวินาศกรรม
เวลา 22.20 น. ได้เวลาจุดระเบิด รางรถไฟเสียหายนิดหน่อยเพียงฝั่งเดียว ยาว 1.5 เมตร รถไฟวิ่งผ่านไปได้โดยไม่ยากเย็น เข้าจอดที่สถานีเสิ่นหยางเวลา 22.30 น.
เพื่อให้ข้อกล่าวหาจีนวางระเบิดรางรถไฟของญี่ปุ่นมีความสมบูรณ์ เช้าวันต่อมาทหารญี่ปุ่นก็ระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่ค่ายทหารจีนให้เหมือนเป็นการเอาคืน กองทัพของจาง เสี่ยวเหลียง ถูกทำลาย ทหารจีนถอยหนี ในเย็นวันเดียวกันญี่ปุ่นก็ยึดมุกเดนได้เบ็ดเสร็จ ทหารญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ร้อยเอาชนะกองทหารของจีนที่มีถึง7 พันนาย ทหารจีนตายประมาณ 500 ส่วนญี่ปุ่นสูญเสียเพียง 2 ชีวิต
พลเอกชิเกโร ฮอนโจ ผู้บัญชาการกองทัพคันโต ซึ่งอยู่ที่กองบัญชาการในเขตเช่าคาบสมุทรเหลียวตงไม่รู้แผนการมาก่อน แต่ก็เห็นดีด้วยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังพันเอกเซชิโร อิตางากิ และพันโทคันจิ อิชิวารา ผู้วางแผนรายงานเหตุการณ์ให้ทราบ จากนั้นพลเอกฮอนโจก็ย้ายกองบัญชาการไปยังมุกเดน และได้ขอกำลังเสริมจากที่ประจำการอยู่ในเกาหลีโดยทันที
มีการต่อต้านและตอบโต้จากฝ่ายจีน แต่เพียง 5 เดือนหลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็กำราบได้อยู่หมัด ทั้ง 3 มณฑล ได้แก่ เหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮย์หลงเจียง ที่ประกอบกันเป็นภูมิภาคแมนจูเรียก็อยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเรียกร้องไปยังสันนิบาตชาติให้เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งองค์กรสันติภาพที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ได้มีมติให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากแมนจูเรีย แต่ญี่ปุ่นยืนยันจะแก้ปัญหาโดยการเจรจาตรงกับรัฐบาลจีน
มกราคม 1932 สหรัฐประกาศจะไม่รับรองรัฐบาลญี่ปุ่นในแมนจูเรีย และในกลางเดือนเดียวกันคณะกรรมการสันนิบาตชาติ นำโดย “วิกเตอร์ บูลเวอร์-ลิตตัน” เดินทางไปจีนเพื่อสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่แล้วในเดือนมีนาคม 1932 ญี่ปุ่นก็ประกาศตั้ง “แมนจูกัว” หรือประเทศแมนจูขึ้นเป็นรัฐหุ่นเชิด มีเมืองหลวงชื่อซิงกิง และได้อัญเชิญ “ปูยี” หรือ “ผู่อี๋” จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนแห่งอดีตราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจูขึ้นเป็นประมุขแมนจูกัว (แต่เพียงในนาม) จากนั้นญี่ปุ่นก็มีแผนส่งชาวอาทิตย์อุทัยเข้าไปตั้งรกรากประมาณ 5 ล้านคน
เดือนตุลาคมปีเดียวกันรายงานผลการสืบสวนตรวจสอบที่เรียกว่า “ลิตตันรีพอร์ต” ถูกนำเสนอออกมาเปิดเผยให้ชาวโลกได้ทราบว่า การบุกจีนเมื่อปีก่อนนั้นไม่ใช่การป้องกันตนเองของญี่ปุ่นแต่อย่างใด แม้รายงานจะไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าเป็นการจัดฉากลวงโลกก็ตาม
สันนิบาตชาติสรุปว่า แมนจูกัวคือผลจากการรุกรานทางทหารของญี่ปุ่นในแผ่นดินจีน และแม้จะรับรองให้ญี่ปุ่นคงบทบาทในแมนจูเรียต่อไปได้ เนื่องจากดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมานานหลายปี แต่ไม่รับรองแมนจูกัวในสถานะรัฐเอกราช เมื่อเป็นเช่นนั้นญี่ปุ่นก็ประกาศถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติในต้นปี 1933
นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งนับการรุกรานจีนของญี่ปุ่นว่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง 14 ปี ตั้งแต่ปี 1931 จนถึง 1945 แต่บางคนก็แยกออกเป็น 2 ช่วง โดยชี้ว่าช่วงแรกนั้นเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 1932 ส่วนช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี 1937 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
ในปี 1937 เริ่มเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ซึ่งก็คือการเริ่มสงครามโลกในฝั่งเอเชียบูรพา จีนสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนไปนับสิบล้าน เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นมากมายหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองหนานจิง สตรีชาวจีนถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนนับไม่ถ้วน เกิดการสังหารหมู่จนเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือที่เรียกว่า Asian Holocaust
แมนจูกัวดำรงสถานะอยู่เรื่อยมาจนญี่ปุ่นถูกสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ เป็นอันปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ 2 กันยายน 1945 แมนจูกัวที่ถูกโซเวียตเข้ายึดได้ในปลายสงครามถูกส่งคืนแก่จีน
ชาวญี่ปุ่นก็เจ็บปวดและสูญเสีย
หนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ในญี่ปุ่นไม่นานมานี้ เขียนโดย “ทาคาโนริ เทซุกะ” เป็นเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นที่ย้ายเข้าไปตั้งรกรากในแมนจูกัว เทซุกะเคยสัมภาษณ์อดีตผู้ย้ายถิ่นฐานหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินและบ้านเรือนได้มาจากการยึดเอาจากชาวจีนเจ้าของเดิม แต่สุดท้ายก็ยินดีรับไว้ เพราะในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างหนัก การย้ายมาสู่แมนจูกัวจึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นความหวังอันเรืองรอง
ไดอารีของ “โมริ คุรุมิซาวะ” นายกเทศมนตรีเขตคาวาโนะในจังหวัดนากาโนะ ถือเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญในหนังสือเล่มนี้ คุรุมิซาวะได้เดินทางโดยรถไฟด่วนจากเมืองปูซานขึ้นไปยังเมืองซิงกิงพร้อมกลุ่มผู้ย้ายไปตั้งรกรากในเดือนมีนาคม ปี 1944 เขากลับมาชักชวนชาวนากาโนะให้ย้ายไปยังแมนจูกัวตามนโยบายรัฐบาล ที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนและช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้กับผู้อพยพ ชาวญี่ปุ่นประมาณ 270,000 คนข้ามทะเลไปเพื่อเป็นเจ้าของที่ดินและมีชีวิตที่ดีในแมนจูเรีย เฉพาะชาวจังหวัดนากาโนะแห่กันไปถึงราว 33,000 คน
ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 กองทัพญี่ปุ่นละทิ้งแมนจูเรียไปราว 3 ใน 4 ของพื้นที่ และได้เกณฑ์พลเรือนอายุ 18-45 ปีไปเป็นทหารเพื่อทดแทนพวกที่ตายไปเรื่อยๆ
เดือนสิงหาคม 1945 ผู้ตั้งรกรากที่มาจากการชักชวนของคุรุมิซาวะฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก โดยมีถึง 73 คนเป็นสตรีและเด็ก ตัวคุรุมิซาวะที่อยู่ในญี่ปุ่นก็ตัดสินใจลาโลกในปีต่อมา ไดอารีหน้าสุดท้ายของเขาหายไป แต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเคยตีพิมพ์ไว้
“ผมเสียใจที่ผลักดันให้เกษตรกรญี่ปุ่นย้ายไปยังสถานที่แบบนั้น ผมไม่สามารถดูแลพวกเขาได้อีกแล้ว โปรดมอบบ้านและทรัพย์สินที่เหลือของผมให้กับพวกเขา”
หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอเรื่องของผู้นำท้องถิ่นบางคนที่ไม่ยอมเข้าไปมีบทบาทในการโน้มน้าวชาวบ้านให้ย้ายถิ่นฐานไปยังแมนจูเรีย “ทาดาสึนะ ซาซากิ” นายกเทศมนตรีเขตโอชิมาโจะในจังหวัดนากาโนะ ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1987 ว่าหลังจากเดินทางไปดูพื้นที่ในแมนจูเรียเป็นเวลา 1 เดือนเมื่อปี 1938 ก็รู้ว่าเรือกสวนไร่นามีชาวจีนเป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่าหากมีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไปตั้งรกรากก็คงต้องไปยึดมาจากเจ้าของเดิม
ตอนจบของสงคราม ชาวญี่ปุ่นประมาณ 1.55 ล้านคน ทั้งเกษตรกรและผู้ที่เข้าไปทำอาชีพอื่นยังคงอยู่ในแมนจูเรีย กองทัพโซเวียตต้อนทั้งทหารและพลเรือนไปยังค่ายแรงงานในไซบีเรียและที่อื่นๆ ราว 575,000 คน ในจำนวนนั้นต้องเสียชีวิตไป 55,000 คน เด็กกำพร้าจำนวนมากถูกชาวจีนเลี้ยงให้เติบโต ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นให้การรับรองประมาณ 2,800 คน ในฐานะ “War Orphans” และมี 2,557 คนได้รับอนุญาตให้กลับญี่ปุ่น
หลายปัจจัยประกอบกันในช่วงเวลานี้ทำให้กระแสต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนกลับมาอีกครั้ง พวกเขาร่วมกันบอยคอตสินค้าทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ต้นเดือนที่ผ่านมาช็อปปิ้งสตรีทใหม่หมาดในเมืองต้าเหลียนชื่อ “ลิตเติลเกียวโต” สร้างด้วยเงินลงทุน 6 พันล้านหยวน ต้องถูกสั่งปิดไม่มีกำหนด เพราะถูกชาวเน็ตจีนกดดันอย่างหนักหลังเปิดบริการได้เพียง 2 สัปดาห์
พวกเขามองว่าลิตเติลเกียวโตคือการรุกรานรอบใหม่ในรูปแบบที่ต่างออกไป.
อ้างอิง
- globaltimes.cn/page/202109/1234578.shtml
- japantimes.co.jp/news/2021/09/23/national/history/manchuria-settlers-research/
- en.wikipedia.org/wiki/Mukden_Incident
- en.wikipedia.org/wiki/First_Sino-Japanese_War
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว
หมดปัญญา...เทวดาต้องรอด
เวลานี้ มีคนบางคนทำผิดกฎหมาย ไม่ให้ค่ารัฐธรรมนูญ บดขยี้กระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ แล้วปรากฏว่าเขาไม่มีความผิดใดๆ ไม่มีหน่วยงานใด ไม่มีกฎหมายมาตราใดจะเอาโทษเขาได้
ว่าด้วยความสำคัญของ 'จังหวะ' และ 'โอกาส'
อาทิตย์นี้...ก็ 22 ธันวา.เข้าไปแล้ว อีกแค่ไม่กี่วันก็ถึงช่วงจังหวะ คริสต์มาส ที่คงมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง บทเพลงอันสุดจะซาบซึ้ง ตรึงใจ ไม่ว่าประเภท จงกระเบน-จงกระเบน (Jingle Bells)
ตั้ง'นายพล'ไปต่อ
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จำนวน 41 นาย ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด
พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7
“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA