เมโทรหรือรถไฟฟ้าในนครรีโอเดจาเนโรมีอยู่ด้วยกัน 3 สาย รวม 41 สถานี ครอบคลุม 58 กิโลเมตร ดูเหมือนน้อยและหลายคนอาจคิดว่ามีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของเมืองที่มีมากกว่า 12 ล้านคน
ความจริงแล้วรีโอมีสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าสักเท่าไหร่ ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้แก่ รถไฟแบบปกติ, รถราง, รถรางแบบ Light Rail, BRT และรถเมล์ จึงช่วยกันทำหน้าที่เติมเต็มการเดินทางให้กับทั้งชาว Carioca และนักท่องเที่ยว
ออกจากสนามฟุตบอลมาราคานา 4 โมงเย็นกว่าๆ ผมเดินไปซื้อตั๋วรถไฟฟ้าที่สถานีมาราคานา โดยซื้อ 3 ใบเผื่อไว้ใช้ในครั้งต่อไป ตั๋วมีลักษณะเป็นการ์ดเหมือนบ้านเรา ใช้แล้วสอดคืนตั๋วตอนออกจากสถานี ไม่เหมือนกับรถไฟฟ้าที่เซาเปาโล มีตั๋วเที่ยวเดียวแบบกระดาษ ตอนออกจากสถานีเดินออกไปได้เลย
รถไฟฟ้าที่เซาเปาโลนั้นมีเคาน์เตอร์ขายตั๋วโดยพนักงาน แต่ที่รีโอผมไม่เห็น ต้องซื้อกับตู้ โดยมีตู้ให้เลือก 2 ชนิด คือตู้ที่ซื้อด้วยเงินสดอย่างเดียว และตู้ที่ซื้อโดยใช้ได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต ผมซื้อด้วยบัตรเครดิตเพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ แต่ทำให้คิวที่ต่อท้ายยาวเกือบ 10 คน เพราะผมซื้อตั๋วคราวละ 3 ใบไม่เป็น ต้องซื้อทีละใบ ได้ตั๋วครบแล้วก็หันไปยกมือขอโทษพวกที่กำลังเข้าคิว
ระหว่างนั่งไปก็เกิดเปลี่ยนใจจากที่จะตรงไปยังที่พักย่านโคปาคาบานา เลือกแวะกลางทาง ลงที่สถานี Carioca โผล่ขึ้นจากสถานีสู่ย่าน Centro ใจกลางนครรีโอเดจาเนโร โดยคำว่า Carioca นี้คือชื่อเรียก “ชาวรีโอ” และยังมีความหมายว่า “จากรีโอ” และ “สำเนียงการพูดแบบรีโอ”
ที่มาของ Carioca (อ่านว่า “คาริออกะ”) ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในทางวิชาการคือชื่อของเผ่า Carijó (คาริจอ) ชนพื้นเมืองชาว “กวารานี” ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ของบราซิลก่อนการเข้ามาตั้งอาณานิคมของโปรตุเกส
ย่าน Centro มีอาคารที่ลักษณะสถาปัตยกรรมโดดเด่นอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มอาคารรายรอบจัตุรัส Cinelândia ที่น่าประทับใจมาก ได้แก่ โรงละคร Theatro Municipal, อาคารของสภานครรีโอ Palácio Pedro Ernesto และหอสมุดแห่งชาติบราซิล Biblioteca Nacional
ว่าจะไปดู Sambadrome สถานที่จัดงานคาร์นิวัลสุดยิ่งใหญ่ของโลก แต่อาการน้ำมูกไหลกำเริบจนน่ารำคาญ ยอมยกธงขาวตอนราวๆ 2 ทุ่ม นั่งรถไฟฟ้ากลับที่พัก ดูฟุตบอลคู่ฟลาเมงโกกับโครินเทียนส์ดังที่ได้กล่าวถึงไปเมื่อตอนที่แล้ว เที่ยงคืนก็เข้านอน
เช้าวันต่อมาอาการน้ำมูกไหลหายไป มองไปนอกหน้าต่างฟ้าดูจะไม่เป็นใจอีกวัน เสร็จมื้อเช้าอย่างง่ายที่เกสต์เฮาส์แล้วก็ออกไปสำรวจให้เห็นกับตาที่หาด “โคปาคาบานา” มองหาประติมากรรมพระเยซูมหาไถ่ “กริซตู เรเดงโตร์” บนยอดเขา “กอร์โกวาดู” จากจุดที่ผมมาร์กไว้แล้วเมื่อวานนี้ว่ายืนตรงไหนถึงจะมองเห็น ปรากฏว่าเมฆหมอกปกคลุม มองเห็นรูปปั้นพระเยซูกางพระหัตถ์เพียงรางๆ
การจะขึ้นไปยังยอดเขากอร์โกวาดูเพื่อชม “พระเยซูมหาไถ่” ต้องนั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟันเฟือง (Cog Train) ขึ้นไปยังยอดเขา นอกจากนี้ยังมีรถตู้บริการพาขึ้นไปจากย่านสำคัญของเมืองประมาณ 3 แห่ง และทุกวันนี้วิธีที่สะดวกที่สุดก็หนีไม่พ้นการเรียกรถจากแอป Uber ในเซาเปาโลและรีโอนั้นมีพิเศษอยู่อีกอย่างคือ หากใช้อูเบอร์จะมี Feature เรียกว่า Juntos ผู้โดยสารสามารถแชร์ค่ารถกับคนอื่นๆ ได้ โดยโชเฟอร์จะแวะรับคนระหว่างทาง ค่าโดยสารที่ออกมาจะถูกกว่านั่งคนเดียวราวครึ่งหนึ่ง
หากจะรอลุ้นสภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ ผมก็จะมีเวลาเหลือที่เซาเปาโลเพียงวันเดียวก่อนขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย กลัวจะมีอะไรฉุกละหุกเลยตัดสินใจเข้าเว็บไซต์จองตั๋วรถบัสกลับเซาเปาโลบ่ายวันนี้ เสร็จแล้วก็เดินเล่นไปบนบาทวิถีเลียบชายหาด เห็นปราสาททรายที่มีคนก่อขึ้นสวยงามหลายจุด มีลักษณะคล้ายๆ กันคือเป็นแหล่งรวมสัญลักษณ์ดังๆ ของรีโอ โดยเฉพาะที่ต้องมีแน่ๆ คือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่
ผมหยุดถ่ายรูปผลงานปราสาททรายชิ้นหนึ่ง ไม่ทันไรมีคนเดินมาขอเก็บเงิน 2 เรียล หรือประมาณ 15 บาท อ้างว่าเป็นฝีมือของเขา เห็นมีกล่องรับบริจาคตั้งอยู่ ผมเลยบอกว่ากำลังจะหย่อนกล่อง เขาว่าไม่ต้องหย่อนหรอก เดี๋ยวก็จะไขออกมาอยู่ดี ผมไม่มั่นใจว่าเป็นผลงานของหมอนี่ แต่ก็ให้ไป 2 เรียล ปราสาททรายเหล่านี้มีทั้งที่คนยืนคุมอยู่เพื่อรอเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวที่ถ่ายรูป หลายคนดูไม่น่าเชื่อถือว่าจะเป็นเจ้าของผลงาน และบางแห่งก็ไม่มีคนยืนคุม รวมทั้งไม่มีกล่องรับบริจาค
จากถนนเลียบหาด ผมเดินลงชายหาดไปเรื่อยๆ ความกว้างของหาดประมาณ 100 เมตร ผู้คนยังมีน้อยมาก เพราะเพิ่ง 9 โมงเช้า รถล้อโตกำลังวิ่งบนหาดทราย มีเจ้าหน้าที่ลงไปกวาดเก็บขยะอันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชายหาดโคปาคาบานาจึงสะอาดอยู่ตลอดเวลา วันนี้ทะเลคลื่นค่อนข้างแรง มีธงแดงปักอยู่พร้อมข้อความ ALTO RISCO แปลว่า “เสี่ยงสูง”
ผมเดินจากชายหาดโคปาคาบานาช่วงกลางๆ ขึ้นเหนือไปบนฝั่งราว 400 เมตร โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินจากสถานี Cardeal Arcoverde ไปทางทิศตะวันตก 3 สถานี ถึงสถานี Praca General Osorio เดินลงไปยังทิศใต้ 300 เมตร พบกับชายหาดอิปาเนมา
ชายหาดแห่งนี้มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ความกว้างแคบกว่าโคปาคาบานา แต่เนื้อทรายเนียนละเอียดใกล้เคียงกัน รถล้อโตกำลังวิ่งไปมา ทั้งรถที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขยะและรถที่มีเครื่องมือกวาดเกลี่ยบดทรายให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอย่างภาคภูมิใจ
ทางเดินริมหาดเป็นแบบ “บาทวิถีโปรตุเกส” เช่นเดียวกับที่โคปาคาบานา แตกต่างกันเฉพาะลวดลาย มีการปลูกต้นไม้เว้นระยะห่างกำลังดีไว้บนทางเดิน รูปปั้นบุคคลสำคัญแซมอยู่ตามจุดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Tom Jobim บิดาแห่งบอสซาโนวา แล้วเพลงนี้ก็ดังขึ้นมาในหัว
“ร่างสูง ผิวแทน เยาว์ และน่ารัก
สาวน้อยแห่งอิปาเนมาเดินมานั่น
และเมื่อเธอเดินผ่าน
ทุกคนต้องอุทาน 'อ้า'
ยามเดิน เธอคล้ายเดินในจังหวะแซมบ
เธอส่าย เธอหมุน อย่างนวลนุ่ม
และเมื่อเธอเดินผ่าน
ทุกคนต้องอุทาน 'อ้า'
โอ้ แต่เขาเฝ้ามองเธออย่างเศร้าสร้อย
เขาจะบอกเธออย่างไรว่าหลงรัก
อยากจะมอบใจภักดิ์แด่เธอ
แต่ทุกวันที่เธอเดินไปยังชายทะเล
เธอมองตรงไปข้างหน้า ไม่เคยหันมาทางชายหนุ่ม
ร่างสูง ผิวแทน เยาว์ และน่ารัก
สาวน้อยแห่งอิปาเนมาเดินมานั่น
และเมื่อเธอเดินผ่าน, ชายหนุ่มส่งยิ้มพิมพ์ใจ
ทว่าเธอมองไม่เห็น”
ข้างบนคือเนื้อเพลง Garota de Ipanema หรือ The Girl from Ipanema ที่โด่งดังมาก โดยเฉพาะในวงการบอสซาโนวา แจ๊ส และบลูส์ นี่คือเพลงที่ว่ากันว่ามีการบันทึกเสียงใหม่มากครั้งเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากเพลง Yesterday ของ The Beatles) ไม่เว้นแม้แต่ “แฟรงก์ ซิเนตรา”
เพลงนี้แต่งขึ้นเมื่อกลางปี (หน้าหนาว) ค.ศ.1962 ทำนองโดย “อันโตนิอู การ์ลูส โจบิง” หรือ “Tom Jobim” เนื้อร้องโดย “วินิซุอุส เด โมราอีส” บันทึกเสียงครั้งแรกในปีเดียวกันโดยศิลปินชื่อ “แปรี ริเบโร” แต่เวอร์ชันที่โด่งดังที่สุดเป็นของ “สแตน เก็ตซ์” และ “จูเอา จิลแบร์ตู” บันทึกเสียงในปี ค.ศ.1963 และวางตลาดในปีถัดมา
สำหรับเวอร์ชันของเก็ตซ์และจิลแบร์ตู ระหว่างการบันทึกเสียงในนิวยอร์ก สหรัฐ ทีมงานเกิดไอเดียอยากให้มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษพ่วงเข้ามา และผู้ที่เขียนเนื้อร้องภาษาอังกฤษคือ “นอร์แมน กิมเบิล” นักเขียนเพลงชาวอเมริกัน ขับร้องโดย “อัสทรูด จิลแบร์ตู” ภรรยาของจูเอา จิลแบร์ตู เวลานั้นเธอเป็นบราซิเลียนคนเดียวในกลุ่มที่พวกเขารู้จักที่พูดภาษาอังกฤษได้
การที่เธอไม่ใช่นักร้องกลายเป็นสิ่งดี น้ำเสียงของคนที่ไม่ได้ฝึกร้องเพลงมาอย่างช่ำชองกลับเข้ากับจังหวะและทำนองได้เหมาะเจาะลงตัว และต่อมาไม่นาน “อัสทรูด จิลแบร์ตู” ก็เป็นศิลปินดังไปอีกคน
เนื้อเพลง The Girl from Ipanema มาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง “เอโล ปิงเยโร” หญิงสาววัย 17 ปี อยู่ในย่านอิปาเนมา ทุกๆ วันเธอจะเดินไปที่ทะเล และขากลับจะเดินมาที่คาเฟ่กึ่งบาร์ชื่อ Veloso เพื่อซื้อบุหรี่ให้แม่ของเธอ เมื่อเดินออกจากร้านก็จะมีเสียงวี้ดวิ่วผิวปากของบรรดาหนุ่มๆ ในร้านตามหลังเธอไป
เมื่อเพลงได้รับความนิยม “เอโล ปิงเยโร” ก็ดังไปด้วย ไม่นานเธอก็ได้เป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง และได้ขึ้นปกนิตยสาร Playmate ซึ่งเป็น Playboy ฉบับบราซิลถึง 2 ครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!
ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก
ช่วงเค้าลางคดีสำคัญของนายกรัฐมนตรีก่อตัวในดวงเมือง
ขอพักการทำนายเค้าโครงชีวิตคนปี 2568 ไว้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวที่รออยู่คือท่านที่ลัคนาสถิตราศีตุล
ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ
ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร
จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย