เดิมยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เมื่อสิ้นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแยกตัวออกเป็นรัฐอธิปไตย ยูเครนเป็นหนึ่งในนั้น เป็นประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ การเมืองอ่อนแอ อำนาจปกครองกระจุกตัวอยู่ในคนไม่กี่กลุ่ม
ช่วงปี 2013-14 ฝ่ายการเมืองแย่งชิงกันอย่างหนัก ฝ่ายหนึ่งอิงชาติตะวันตก อีกฝ่ายรัสเซียให้การสนับสนุน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) หนีออกจากประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลใหม่อิงชาติตะวันตก
รัฐบาลยูเครนที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง:
พฤษภาคม 2019 นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) นักแสดงตลกผู้ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ชนะเลือกตั้งจากการหาเสียงเน้นต่อต้านทุจริตทางการเมือง ต่อต้านกลุ่มการเมืองที่ครอบงำประเทศ สัญญาให้ประชาชนมีอำนาจการเมืองการปกครอง ยุติความขัดแย้งภายในประเทศ นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าเหตุที่ชนะเพราะชาวยูเครนเบื่อหน่ายนักการเมืองไม่ว่ามาจากขั้วใด
เซเลนสกีที่นิยมตะวันตก แสดงตัวอย่างรวดเร็วเมื่อดำเนินนโยบายใกล้ชิดอียู ร้องขอเป็นสมาชิกนาโต แม้รัสเซียจะเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก ระดมกองทัพนับแสนซ้อมรบใกล้ชายแดน ชาติตะวันตกเตือนเช่นกันว่ารัสเซียอาจส่งกองทัพบุกยูเครนแต่เซเลนสกีไม่ฟัง ในที่สุด 24 กุมภาพันธ์ปีก่อนกองทัพรัสเซียบุกข้ามพรมแดน รัฐบาลสหรัฐกับพวกเริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารและอื่นๆ แก่ยูเครน
ปลายเดือนธันวาคม 2022 เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “พฤติกรรมร่วมของพวกตะวันตกกับหุ่นเชิดเซเลนสกี (puppet Zelensky) ตอกย้ำลักษณะวิกฤตยูเครนที่เป็นเหมือนกันทั่วโลก”
ไม่ว่าจริงหรือเท็จ รัสเซียคิดว่าเซเลนสกีเป็นแค่ “หุ่นเชิด” เท่านั้น
ยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว เส้นต้องห้ามของปูติน:
พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ชาติตะวันตกดำเนินยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว (NATO Enlargement, NATO expansion) รวบรวมประเทศที่แตกออกเข้าเป็นสมาชิก ชี้ว่าการรับสมาชิกใหม่จะยิ่งทำให้มั่นคง เพราะสมาชิกจะทำไม่สงครามต่อกันและหวังว่ารัสเซียจะเป็นสมาชิกด้วย
เมษายน 2014 ลาฟรอฟกล่าวว่ารัสเซียอยากได้ระบบความมั่นคงที่ทุกประเทศในยุโรป-แอตแลนติกเท่าเทียมกันและไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ชาติตะวันตก “ขยายสมาชิกภาพนาโต สร้างพันธมิตรทางทหารขยายตัวมาทางตะวันออก”
ตามมุมมองของรัสเซีย ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการจำกัดอิทธิพลของตนในยุโรป ประเทศที่เคยเป็นพวกถูกดึงเข้านาโต ตีความว่าการเป็นสมาชิกนาโตหมายถึงการอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลสหรัฐ พูดง่ายๆ นาโตคือกลุ่มประเทศที่อยู่ใต้อิทธิพลทางทหารของสหรัฐนั่นเอง
รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึงภัยคุกคามจากรัสเซียอยู่เสมอ คำถามคือรัสเซียเป็นภัยคุกคามมากถึงขั้นนั้นจริงหรือ อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงที่พยายามรับสมาชิกเพิ่ม Benjamin Schwarz ชี้ว่า เป็นนโยบายที่สหรัฐต้องการขยายอิทธิพลตนเองมากกว่า ต้องการขยายไปถึงประเทศที่พรมแดนติดรัสเซีย
Ronald Steel อธิบายว่า คือการพยายามรักษาความเป็นเจ้า ยิ่งสหรัฐถดถอยยิ่งต้องพยายามกระชับอำนาจ รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าชุดใดจะต้องทำบางอย่างเพื่อรักษาความเป็นเจ้าของตนไว้ และเนื่องจากอิทธิพลของสหรัฐต่อยุโรปตะวันตกลดลงเรื่อยๆ จึงพยายามเข้าแทรกด้วยการมีอิทธิพลต่อสมาชิกนาโตใหม่ ผลคือนาโตแยกออกเป็น 2 ฝ่าย (สมาชิกจากยุโรปตะวันตกมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่ายุโรปตะวันออก)
ภายใต้แนวคิดนี้รัฐบาลสหรัฐจะไม่หยุดยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว ศึกยูเครนในยามนี้เป็นเครื่องมือกระชับอำนาจดังกล่าว
รัฐบาลรัสเซียประกาศมานานแล้วว่ายูเครนต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต เป็นเส้นต้องห้าม (redline) ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่จะมีแนวรัฐกันชน (buffer state)
รัฐมนตรีลาฟรอฟชี้ว่ารัสเซียกับยูเครนมีแนวพรมแดนยาว 2,259 กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบก 1,974 กิโลเมตร และอีก 321 กิโลเมตรเป็นพรมแดนทางทะเล หากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต การเผชิญหน้าทางทหารย่อมเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องส่งทหารเข้าประจำการตามแนวพรมแดน สร้างความตึงเครียด รัสเซียจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องทำนองนี้
แต่รัฐบาลเซเลนสกียืนกรานขอเป็นสมาชิกนาโต เป็นแนวทางอธิบายแบบหนึ่งว่าทำไมในที่สุดกองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครน
Mason Clark นำเสนอว่า นับจากเริ่มศตวรรษที่ 21 รัสเซียได้ทำและกำลังทำสงครามไฮบริดกับสหรัฐ พร้อมกับที่รัสเซียปรับปรุงกองทัพและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ สำหรับสงครามนี้
Ralph D. Thiele อธิบายว่า รัสเซียต้องการยูเครนมานานแล้ว เปิดฉากทำสงครามไฮบริดต่อยูเครนด้วยการส่งอาวุธให้กองกำลังท้องถิ่นที่ต่อต้านรัฐบาลยูเครน ส่งทหารรับจ้างไปช่วยก่อเหตุร้าย ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ระบบของรัฐบาลกลางไม่ทำงาน ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร คนยูเครนจำนวนมากหนีออกจากพื้นที่
ไม่ว่าจะใช้มุมมองจากนาโตหรือรัสเซีย ข้อสรุปประการหนึ่งที่แน่นอนคือ ทั้งสองฝ่ายต่างหวังมีอิทธิพลต่อยูเครน จนรัฐบาลยูเครนไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็นพัฒนาการตั้งแต่ยูเครนแยกตัวเป็นอิสระเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เป็นสมรภูมิการแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ในที่สุดเป็นเหตุให้รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครน
ศึกยูเครนรอบนี้อาจตีความว่าคือภาค 2 ของสถานการณ์เมื่อปี 2014 ที่รัสเซียยึดไครเมีย เป้าหมายหลักเหมือนเดิม คือ ยูเครนต้องไม่เป็นเครื่องมือของนาโตที่คุกคามตน
คำอธิบายอีกแบบที่รัฐบาลปูตินใช้คือ เป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อหยุดสงครามในดอนบัส (Donbass)
มกราคม 2023 ประธานาธิบดีปูตินย้ำอีกครั้งว่าตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาเกิดความเป็นปรปักษ์อย่างแรงในสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (Donetsk People's Republic) กับสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ (Luhansk People's Republic) ฝ่ายตรงข้ามใช้อาวุธสงครามทั้งเครื่องบินรถถังโจมตีชนเชื้อสายรัสเซียนที่อยู่ใน 2 พื้นที่นี้ รัสเซียพยายามใช้สันติวิธีแล้วแต่กลายเป็นว่าโดนหลอก เป็นที่มาของปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อหยุดสงครามในพื้นที่ดังกล่าว (ทั้งโดเนตสค์กับลูฮันสค์ต่างเป็นส่วนหนึ่งของดอนบัส)
มุมมองจากรัฐบาลปูตินคือเข้าไปปกป้องชนชาวรัสเซียนที่อยู่ในดอนบัส
ยุทธศาสตร์ทำลายรัสเซีย จัดระเบียบโลกใหม่:
ศึกยูเครนมองได้หลายกรอบ อาจตีความว่าหวังทำลายรัสเซียหรือทำให้รัสเซียอ่อนกำลัง ตีความว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังกระชับอำนาจของตนในนาโต (สังเกตว่าสงครามยูเครนทำให้นาโตผนึกกำลังกันโดยมีสหรัฐเป็นแกนนำ) กรอบที่กว้างที่สุดคือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบโลก
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐกับพันธมิตรนาโตคือเอาชนะรัสเซียโดยใช้สนามรบเป็นกลไกบั่นทอนหรือทำลายประเทศของเรา” อีกทั้งเป็นแผนการของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรป และทำให้ชาติยุโรปเหล่านั้นขึ้นตรงกับอเมริกามากขึ้น
กลางเดือนมกราคม 2023 Dmitry Medvedev รองหัวหน้าสภาความมั่นคงรัสเซีย (deputy head of Russia’s security council) กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลย ศัตรูของเราจะพยายามบั่นทอนหรือทำลายเรา”
ถ้าตีความในกรอบกว้าง ศึกนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งของยูเครนกับรัสเซีย ไม่ใช่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในดอนบัสเท่านั้น ถ้าอธิบายเชิงตั้งรับรัสเซียหวังหยุดยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว ศึกยูเครนเป็นคำเตือนแก่นาโตว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากนาโตยังคุกคามรัสเซีย
ประเด็นที่ควรตอกย้ำคือ นับจากยูเครนแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัฐประชาธิปไตย พวกนักการเมืองพยายามแบ่งแยกประชาชน เกิดความเป็นขั้วอย่างรุนแรง ทั้งนี้ชาติมหาอำนาจร่วมผสมโรงได้ประโยชน์จากการแตกแยกของคนยูเครน สามารถดึงฝ่ายการเมืองให้อยู่กับตนเกิดรัฐบาลที่อิงตะวันตกหรืออิงรัสเซีย ในที่สุดได้รัฐบาลเซเลนสกีที่ไม่ยอมถอนคำร้องขอเป็นสมาชิกนาโตจนกลายเป็นสงครามดังที่เป็นอยู่ ชาติมหาอำนาจต่างได้ผลประโยชน์มากมาย กล่าวได้ว่าชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน
ยูเครนเป็นแค่เหยื่อที่ต้องถูกทำลาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด