“…Throw things close to the criminal, use them as weapons; scream; act with all your might…”

    ไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคใด อายุเท่าไหร่ ถือสัญชาติอะไร และนับถือศาสนาอะไรนั้น คนเราทุกคนมีความเหมือนอยู่อย่างหนึ่งคือ สำหรับข่าวคราวที่เราได้รับจากสื่ออะไรก็แล้วแต่ มันจะมีบางเรื่องสามารถทำให้เราหยุดชะงัก ตกใจ และสะเทือนใจระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน เช่น เหตุการณ์ 9/11

    แต่จะมีบางเรื่องเกิดขึ้นบ่อย พอทำให้เราชะงักและตกใจเมื่อรับทราบข่าว ณ เวลานั้น แต่พอวันรุ่งขึ้น จุดสนใจหันไปที่เรื่องอื่น

    เหตุการณ์การกราดยิงในรัฐแคลิฟอร์เนียช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ถือว่าสร้างความตกใจและเป็นข่าวใหญ่ ณ เวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่พอวันเวลาผ่านไป เหมือนเรื่องนี้จะเริ่มอยู่ในความทรงจำ ซึ่งไม่ใช่เพราะคนเลือดเย็น หรือไม่มีใครสนใจ แต่เหตุผลหลักคือ เรื่องกราดยิงในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นบ่อย จนคนทั่วไปรู้สึกเย็นชาและคุ้นเคยกับเรื่องนี้ คือพูดง่ายๆ ครับ ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องควรให้ความสนใจ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคน

    เนื่องจากเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาบ่อยมาก จนทำให้พวกเรารู้สึกเย็นชา และ “คุ้นเคย” กับข่าวประเภทนี้ ผมสงสัยอยู่อย่างนึงว่าประเทศอื่นๆ จะเตือนคนของเขาอย่างไร เมื่อคนของเขาจะเที่ยวสหรัฐอเมริกาหลังมีข่าวการกราดยิง หรือประเภทข่าวบุกสภาคองเกรสเมื่อสองปีที่แล้ว

    สำหรับสหรัฐเอง เวลามีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นทั่วโลก ทางกระทรวงการต่างประเทศของเขาจะประเมินสถานการณ์และให้ “คำแนะนำ” หรือ “คำเตือน” ที่เรียกว่า Travel Advisory เป็นลำดับ ตั้งแต่ Level 1: Exercise Normal Precautions คือให้เที่ยวได้ตามปกติ แต่ระมัดระวังบางพื้นที่เท่านั้น ประเทศที่อยู่ในลำดับนี้คือ ญี่ปุ่น บรูไน ฟินแลนด์ เป็นต้น Level 2: Exercise Increased Caution คือเที่ยวได้ แต่อาจจะต้องระวังตัวมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อินเดีย เป็นต้น Level 3: Reconsider Travel แปลว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าไป แต่ก็ยังไปได้อยู่ เช่น ฮอนดูรัส จาเมกา ซาอุฯ เป็นต้น และสุดท้าย Level 4: Do Not Travel อันนี้ไม่อ้อมค้อมเลยครับ อันนี้คืออย่าไปเลย ไม่มีความปลอดภัยแม้แต่นิดเดียว ยิ่งเฉพาะผู้ที่ถือสัญชาติอเมริกัน ประเทศที่อยู่ในลำดับนี้คือ เมียนมา ซูดาน อิหร่าน เฮติ เป็นต้นครับ

    สำหรับประเทศไทยของเรา ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐจัดให้อยู่ในลำดับ Level 1 แต่เขาเขียนเตือนว่า อย่าไปจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เพราะมีเหตุการณ์ไม่สงบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่เจาะจงว่าเป็นชาวต่างชาติหรือคนท้องถิ่นที่เป็นเหยื่อ

    ผมกลับสงสัยว่าประเทศทั่วโลกให้คำเตือนอะไรกับคนของเขา ที่ตั้งใจมาเที่ยวสหรัฐอเมริกาหลังมีเหตุการณ์กราดยิง

    New Zealand ให้คำเตือนอยู่ในระดับ Level 2: Exercise Increased Caution เพราะโอกาสเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกามีอยู่เสมอ แต่ที่ต้องระวังสุดคือ คนอเมริกันทั่วไปมีโอกาสครองปืนแบบทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ทั้งปืนเล็กและปืนสงคราม ดังนั้นอย่าไปหรืออยู่ในย่านที่ดูอันตรายและเปลี่ยว

    Japan ให้คำเตือนที่ตรงไปตรงมา คือถ้าคนญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์กราดยิงให้หลบหนีให้ได้ ถึงแม้คนอื่นอาจห้ามก็ตาม ถ้าหนีไม่ได้ให้หาที่ซ่อนไว้ตามห้องต่างๆ ปิดเสียงมือถือ และอย่าส่งเสียงอะไร สุดท้ายถ้าซ่อนตัวไม่ได้ หนีไม่ได้ ให้สู้สุดชีวิต ใช้ทุกอย่างใกล้ตัวเป็นอาวุธ ตะโกนเสียงดังๆ และใช้พลังของตนเต็มที่

    Australia ให้คำเตือนว่า อาชญากรรมที่รุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในสหรัฐ ยิ่งเฉพาะอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนและอาวุธ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงท่องเที่ยวในย่านที่เปลี่ยวและดูอันตราย

    Germany ให้คำเตือนว่า เรื่องครองอาวุธปืนของคนอเมริกันเป็นเรื่องง่าย ดังนั้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น เขามีคำเตือนว่าอย่าไปในที่ที่เปลี่ยวและดูอันตราย แต่บวกคำเตือนเรื่องการแตกแยกของสังคมเรื่องการเมือง เขาเตือนว่าโอกาสการปะทะระหว่างสองซีกมีได้ทุกเมื่อและมีได้ทุกที่ ดังนั้น ถ้ารู้ว่าจะมีการชุมนุมหรือการประท้วงที่ไหนก็แล้วแต่ ควรหลีกเลี่ยงไว้

    United Kingdom ให้คำเตือนว่า โอกาสเกิดอาชญากรรมมีสูง ดังนั้นควรระมัดระวังย่านและถิ่นที่ไป อย่าเดินในที่เปลี่ยวคนเดียว แล้วถ้าเผื่อถูกปล้น อย่าไปต่อสู้กับโจร

    จริงๆ แล้วคำเตือนของเกือบทุกประเทศจะหมุนเวียนเรื่องการครองอาวุธปืน และความง่ายที่คนอเมริกันสามารถครองอาวุธปืนได้ แต่คำเตือนของทุกประเทศมักพูดเสียงเดียวกันว่า โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะอยู่ในเหตุการณ์การกราดยิงนั้นมีไม่สูงมาก เลยถือว่าสำหรับนักท่องเที่ยว สถานการณ์ทั่วไปยังปลอดภัยอยู่ แต่ให้ระมัดระวังเรื่องอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ ประเภทตัวต่อตัว เช่น การปล้นหรือการจี้ ทั้งในย่านที่ดีและย่านที่เปลี่ยว

    ที่เขียนในวันนี้เป็นตัวอย่างประเทศที่สามารถหาข้อมูลได้ ผมก็อยากรู้เหมือนกัน ประเภทประเทศ Level 4 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดลำดับไว้ เขาจะมีคำเตือนอะไรสำหรับคนของเขาที่จะไปเที่ยวสหรัฐบ้าง?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

A Whole New World? หรือ Same Same, But Different?

ในเร็วๆ นี้ โลกของเราจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม จะอยู่ใน Gen ไหน สิ่งที่พวกเราต้องยอมรับกันคือ

วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'

หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า

'This is what butterflies listen to after a long day.'

ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast

Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว