หน้าตาและน้ำเสียงของ จาซินดา อาร์เดิร์น ขณะประกาศขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ มีร่องรอยของความขมขื่นและผิดหวังไม่น้อย
ผิดหวังที่ไม่สามารถเดินหน้าทำงานจนครบเทอม
และขมขื่นที่ต้องสารภาพว่า “หมดไฟ, หมดแรง” เสียแล้ว
และทิ้งปรัชญาในฐานะผู้ฟันฝ่าอุปสรรคการบริหารประเทศมาเกือบ 6 ปีว่า
“ผู้นำที่ดีควรจะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรอยู่ และเมื่อไหร่ควรจะไป”
สำหรับเธอนั้นเวลาที่จะไปมาถึงแล้ว...แม้จะก่อนกำหนดและสร้างความประหลาดใจให้แก่คนทั่วไปก็ตามที
เธอบอกว่าคนที่จะเป็นผู้นำประเทศจะต้องมีพลัง “เต็มถัง” และยังต้องมี “พลังสำรอง” อีกจำนวนหนึ่งด้วย
เธอเล่าด้วยความปลาบปลื้มตื้นตันถึงความสำเร็จตลอดเกือบ 6 ปี "ที่ท้าทาย" และมีผลกระทบต่อชีวิตของเธอ
แต่ก็สารภาพว่ามาถึงตอนนี้เธอ "ไม่มีแรงพอ" ที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป
การประกาศอำลาจากตำแหน่งของเธอสร้างความความแปลกใจแม้กับนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล
เพราะไม่มีร่องรอยหรือเบาะแสมาก่อนเลย
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ผลสำรวจความเห็นประชาชนระบุว่า พรรคกรรมกร (Labour Party) ของเธอกำลังเผชิญกับเส้นทางที่ยากลำบากในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.ปีนี้
ปีนี้ อาร์เดิร์นอายุเพียง 42 ปี และจะลงจากตำแหน่งภายใน 7 กุมภาพันธ์นี้
เธอย้อนความว่า ได้ใช้เวลาไตร่ตรองและประเมินอนาคตของตัวเองในช่วงพักผ่อนฤดูร้อน (ธ.ค.-ม.ค.) เพื่อตอบคำถามของตัวเองว่า ยังมีเรี่ยวแรงและพลังที่จะทำงานในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปอีกหรือไม่อย่างไร
เธอบอกว่า ตอนแรกนั้นเธอหวังที่จะมีแรงกายแรงใจในการทำหน้าที่ผู้นำประเทศต่อไป
"แต่โชคไม่ดีที่ดิฉันกลับหาพลังนั้นไม่เจอ และดิฉันเชื่อว่าจะสร้างความเสียหายแก่นิวซีแลนด์หากอยู่ต่อ”
ผู้สืบทอดตำแหน่งจากเธอต้องได้รับเสียงสนับสนุนสองในสามของ ส.ส.พรรคเลเบอร์ทั้งหมด
หากได้ไม่ถึง พรรคจะเปิดให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศได้เป็นผู้เลือก
นางอาร์เดิร์นกลายเป็นหัวหน้ารัฐบาลหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2017 ด้วยวัย 37 ปี
และอีกหนึ่งปีต่อมา เธอกลายเป็นผู้นำโลกที่ได้รับการเลือกตั้งคนที่สองที่เคยให้กำเนิดบุตรขณะดำรงตำแหน่ง ต่อจากเบนาซีร์ บุตโต จากปากีสถานในปี 1990
วิกฤตที่เธอต้องเผชิญในฐานะผู้นำนิวซีแลนด์ มีตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ตามมา
อีกทั้งยังมีเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดในไครสต์เชิร์ช และการปะทุของภูเขาไฟที่เกาะไวต์
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องหินๆ ที่เธอบอกว่าไม่ได้คาดคิดมาก่อนทั้งสิ้น
ตอนที่เธอต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตนั้น โลกยกย่องเธอเป็นนักสู้กับความเกลียดชัง ด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเด็ดขาด
ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เธอบอกว่าจำเป็นต้องประสานกับจีนที่กำลังรุกหนักมากขึ้นในภูมิภาคนี้
อาร์เดิร์นกล่าวว่า 5 ปีครึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ "เติมเต็ม" ที่สุดในชีวิตของเธอ
แต่การเป็นผู้นำประเทศในช่วง "วิกฤต" นั้นเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนัก
"เหตุการณ์เหล่านี้...บั่นทอนแรงกายแรงใจไปเยอะมาก แต่มันเกิดจากความหนักหนาของเหตุการณ์ ภาระที่มหาศาล และความต่อเนื่องของวิกฤตเหล่านี้ ไม่เคยมีช่วงเวลาใดเลยที่จะรู้สึกว่าเรากำลังบริหารประเทศได้อย่างปกติ"
เธอยืนยันว่าที่ลาออกนั้นไม่ใช่เพราะภารกิจที่ได้รับนั้นเป็นเรื่องยาก
“เพราะถ้าหากดิฉันท้อเรื่องยาก ก็คงจะลาออกตั้งแต่สองเดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่งแล้ว”
หลังประกาศลาออก เธอได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งในและต่างประเทศ
แม้พรรคฝ่ายค้านก็ยอมรับว่าเธอเป็นนักการเมืองที่น่าชื่นชม
แม้โลกจะมองเธอเป็นดาวเด่นทางการเมืองระดับสากล แต่การสำรวจความคิดเห็นในประเทศชี้ว่า คะแนนนิยมของประชาชนชาวนิวซีแลนด์ต่อเธอลดต่ำลงเรื่อยๆ
ข้อนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจอำลา เมื่อต้องประเมินว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้
เธอนำพรรคเลเบอร์ไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2020 โดยชูความสำเร็จของการตอบสนองอย่างรวดเร็วของรัฐบาลของเธอต่อการระบาดของโควิด-19
แต่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า คะแนนนิยมในตัวเธอตกต่ำสุดนับแต่ได้รับการเลือกตั้ง และคะแนนนิยมของพรรคเลเบอร์ก็ตกลงเช่นกัน
ในปี 2022 นางอาร์เดิร์นบอกกับบีบีซีว่า ความนิยมที่ลดลงของเธอคือ “ราคาที่รัฐบาลต้องจ่าย” จากนโยบายปกป้องผู้คนให้ปลอดภัยจากโควิด-19
ปัญหาอื่นก็ถาโถมกันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เธอยังต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ ความกังวลต่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น และสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ช่วงหาเสียง แต่ยังทำไม่ได้ หรือถูกเลื่อนออกไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่
แต่อาร์เดิร์นย้ำว่า เธอไม่ได้ลาออกเพราะคะแนนของเธอและพรรคต่ำเตี้ยลงแต่อย่างใด
"ดิฉันไม่ได้ลาออกเพราะกลัวว่าเราจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่เพราะดิฉันเชื่อว่าเราทำได้และจะตั้งใจ และเราต้องการคนหน้าใหม่สำหรับความท้าทายนั้น"
เธอยกตัวอย่างความสำเร็จของรัฐบาลที่เธอภาคภูมิใจเป็นพิเศษ เช่น นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สวัสดิการที่อยู่อาศัย และการลดความยากจนในเด็ก
แต่เธอบอกว่า เธอคาดหวังว่าประวัติศาสตร์จะจดจำเธอว่า "เป็นคนที่พยายามมีเมตตาเสมอ"
"ดิฉันหวังว่าฉันได้ทำให้คนนิวซีแลนด์เชื่อว่า คุณสามารถเป็นคนมีเมตตาแต่เข้มแข็ง เข้าอกเข้าใจแต่มีความมุ่งมั่น มองโลกในแง่ดีแต่จดจ่อในเป้าหมาย และคุณสามารถเป็นผู้นำในแบบของคุณเองได้ เป็นคนที่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป"
เธอเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่กล้ากระโดดลงมารับความท้าทายที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
และเมื่อได้ทำงานที่ตั้งเป้าเอาไว้แล้ว ก็พร้อมจะประเมินตัวเองว่ายังจะสามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่หรือไม่
เมื่อตอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า “ได้เวลาอำลา” ก็ก้าวลงอย่างไม่คร่ำครวญหรือทวงบุญคุณ
แต่ยอมรับในสัจธรรมที่ว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
และคนที่เก่งกว่าเรายังมีอยู่มากมาย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ