คืนนี้ที่ ‘โคปาคาบานา’

    เดิมทีย่านนี้มีชื่อว่า “ซาโคเปนาเปิง” ตามภาษา “ตูปี” ชนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ของบราซิล แปลว่า “วิถีแห่งโซโคส” ซึ่งโซโคส (Socós) คือนกชนิดหนึ่ง เมื่อมีการก่อสร้างโบสถ์โรมันคาทอลิกขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่มารีในพระนามว่า Virgen de Copacabana ย่านนี้ก็มีชื่อใหม่ว่า “โคปาคาบานา”

    ผมมาถึงที่พักบนถนน Rua Silva Castro Sobrano ตอนฟ้ามืดพอดี เช็กอินแล้วก็เดินออกไปยังชายหาดโคปาคาบานาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร โดยต้องข้ามถนน Avenida Atlantica ซึ่งมี 6 ช่องจราจรไปก่อน มีเลนจักรยานทั้ง 2 ฝั่งถนน ทางเดินริมหาดเป็นที่ขึ้นชื่อและมีเอกลักษณ์ เรียกว่า “บาทวิถีแบบโปรตุเกส” ใช้หินก้อนแบนๆ ขนาดเล็กสีขาวและดำปูเรียงกันดูคดโค้งไปมา นัยว่านี่คือคลื่นทะเล ทอดยาว 4 กิโลเมตรเท่ากับความยาวของหาดโคปาคาบานา สร้างครั้งแรกในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และมาบูรณะใหม่เมื่อ ค.ศ.1970

    บรรดาร้านอาหารกึ่งบาร์ตั้งอยู่บนชายหาดชิดบาทวิถีโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ากินพื้นที่ชายหาด เนื่องจากชายหาดกว้างประมาณ 100 เมตร บางช่วงเกือบถึง 200 เมตร ร้านเหล่านี้ตั้งอยู่เป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มหนึ่งมี 2-3 ร้าน แต่ละกลุ่มอยู่ห่างกันหลายสิบเมตร ร้านมีลักษณะเป็นซุ้มขนาดใหญ่ โปร่งลมเพราะไม่มีผนัง ทำให้ไม่บดบังทัศนียภาพทั้งทะเล ผู้คนและรถราที่สัญจร

    แม้ท้องร้องมาได้สักพัก แต่พอเห็นหาดทรายก็อดใจไม่ไหว ย่ำไปแล้วรู้สึกว่าทรายเนื้อเนียนละเอียด จึงถอดรองเท้าแตะ หยิบขึ้นมาถือแล้วเดินเท้าเปล่า ทรายของหาดโคปาคาบานาให้สัมผัสนุ่มฝ่าเท้าเหมือนเหยียบไปบนแป้งทำอาหาร ไม่ระคายแม้แต่นิด 

    มีการจัดโซนสำหรับเล่นฟุตบอลชายหาด ฟุตวอลเลย์ และวอลเลย์บอล จากขอบน้ำทะเลถึงขอบบาทวิถีเกือบจะไม่มีความลาดเอียง วันรุ่งขึ้นผมเห็นรถล้อโตกำลังกวาดเกลี่ยให้ทรายราบเรียบเสมอกัน (และพรวนให้ละเอียดนุ่มไปในตัว) เพื่อให้เล่นกีฬาทุกชนิดที่กล่าวมาได้สะดวกและสนุกกว่าชายหาดที่ลาดเอียง ทำให้นึกถึงชายหาดบ้านเราเวลาเตะบอลแล้วลูกบอลเอาแต่จะกลิ้งลงทะเล 

    ชายหาดโคปาคาบานาอันเป็นส่วนหนึ่งของย่านโคปาคาบานา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนครรีโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) หากเดินไปเรื่อยๆ ทางทิศตะวันตกจะสิ้นสุดโค้งอ่าวที่ Fort Copacabana ซึ่งอยู่บนเนินเขา ถัดไปเป็นชายหาดมีชื่ออีกแห่งคือ Ipanema หากเดินไปทางตะวันออกจนสุดหาดจะถึงป้อม Duque de Caxias ต่อด้วยภูเขาหิน Pão de Açúcar หรือ Sugarloaf ที่โด่งดัง และถัดจากบริเวณนี้ก็จะเป็นอ่าวใหญ่เข้าไปในแผ่นดินชื่ออ่าว Guanabara นักสำรวจที่เดินเรือมาถึงเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1502 นึกว่าเป็นปากแม่น้ำ จึงให้ชื่อดินแดนแถบนี้ว่า Rio de Janeiro แปลว่า “แม่น้ำเดือนมกราคม” แม้ต่อมาจะทราบดีว่าไม่ใช่ปากแม่น้ำ แต่ก็ยังเรียกว่า “รีโอ” ไม่เปลี่ยนแปลง 

    พื้นที่ของนครรีโอเดจาเนโรทั้งหมดอยู่ฝั่งตะวันตกของอ่าวกวานาบารา และย่านที่มีชื่อเสียงของรีโอก็ตั้งอยู่ริมอ่าวฝั่งนี้ อาทิ โบตาโฟโก และฟลาเมงโก

    คนจำนวนไม่น้อยคิดว่ารีโอเดจาเนโรคือเมืองหลวงของบราซิล ความจริงก็เคยเป็นอยู่ตั้งแต่ ค.ศ.1763 จนถึง ค.ศ.1960 ก่อนเมืองหลวงถูกย้ายไปยัง “กรุงบราซิเลีย” ด้วยเหตุผลต้องการลดความแออัดของพลเมืองในภูมิภาคชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และความเหมาะสมของทำเลที่เข้าไปในตำแหน่งกลางประเทศมากขึ้น เพื่อการกระจายความเจริญ และบริหารความรู้สึกของประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชั้นในของประเทศ

    ผมเดินไปสัมผัสน้ำทะเลแล้วหันหลังเดินกลับ มองเห็นแถวแนวของตึกบนฝั่งซึ่งส่วนมากเป็นโรงแรม ทอดยาวเท่ากับความยาวของชายหาด อาคารที่หันหน้าให้กับทะเลเป็นแนวยาวแบบนี้มีคำเรียกเฉพาะว่า Balneario (ในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า Seaside resort) และ Balneario แห่งโคปาคาบานานี้มีชื่อเสียงไม่เป็นสองรองใครในโลก

    ไม่เพียง Balneario และความสวยงามของหาดทราย โคปาคาบานายังมีชื่อเสียงในการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลก การจัดแข่งขันฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก และกิจกรรมเคานต์ดาวน์-การแสดงพลุไฟในวันส่งท้ายปีเก่าของทุกปี

    มีฟุตบอลชายหาดสนามหนึ่งเพิ่งเริ่มเล่นกันตอนประมาณ 2 ทุ่ม ผู้เล่นบางคนมีทักษะสูงมาก แต่พวกเขาเป็นแค่เยาวชนและมือสมัครเล่นเท่านั้น รวมตัวกันเล่นหลังเลิกเรียนและหลังเลิกงาน ผู้รักษาประตูหันมาพูดอะไรบางอย่างกับผม ดูเป็นมิตร เดาว่าเขาน่าจะชวนเล่น ผมยิ้มให้แล้วตอบขอบคุณ “โอบริกาโด” 

    จากนั้นผมเดินไปยังโซนฟุตวอลเลย์ มีอยู่หลายสนาม แบ่งข้างละ 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง ที่เห็นตาข่ายขึงอยู่ว่างๆ ก็มี ดูๆ ไปมือสมัครเล่นพวกนี้ฝีไม้ลายมือใช่เล่นกันทั้งนั้น และชายหาดแห่งนี้คือสถานที่ให้กำเนิดกีฬาฟุตวอลเลย์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1965 โดยชายชื่อ Octavio de Moraes เป็นการผสมผสานระหว่างฟุตบอลและวอลเลย์บอล จากเริ่มแรกเล่นฝั่งละ 5 คน แต่บอลไม่ค่อยตก เพราะคนที่มาเล่นฟุตวอลเลย์ส่วนมากเป็นนักฟุตบอลกันทั้งนั้น จึงค่อยปรับลดจำนวนผู้เล่นลงมา ในที่สุดก็เหลือฝั่งละ 2 คนดังที่ใช้แข่งขันในปัจจุบัน

    ผมขึ้นไปเดินบนบาทวิถีรูปคลื่นทะเล เดินจนเกือบสุดฝั่งตะวันตกแล้วกลับมายังช่วงกลางๆ ของแนวหาด เข้าไปนั่งในร้านชื่อ Santa Clara สั่งอาหารชุดตามที่เห็นในรูปภาพ มีทั้งข้าวสวย มันทอด สลัด ไก่ย่าง และ “มังจอกา” ผงมันสำปะหลังอันเป็นเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้ในอาหารบราซิล แล้วสั่งเบียร์สดเป็นเครื่องดื่ม ในร้านมีดนตรีสดอะคูสติก เล่นเฉพาะเพลงบราซิล

    อาหารหมดจาน ผมสั่งเบียร์อีกแก้ว มีคนขายถั่วลิสงทอดโรยเกลือเดินเร่ขายคล้ายแขกขายถั่วตามร้านเหล้าในบ้านเรา วิธีการของที่นี่คือใช้มือเปล่าหยิบถั่วมาจากตะกร้าประมาณ 10 เมล็ด ใส่กระดาษทิชชู คล้ายเป็นสินค้าตัวอย่าง แจกให้คนนั้นคนนี้ ใครไม่รับเขาก็จะวางไว้บนโต๊ะ สักพักเขาก็จะกลับมาเช็กว่าใครกินสินค้าตัวอย่างไปบ้าง แล้วค่อยเสนอขายแบบเป็นเรื่องเป็นราว ผมไม่ได้กิน เขาก็ไม่เข้ามายุ่ง

    หมดเบียร์แก้วที่ 2 เพลงยังฟังไพเราะ ผมสั่งไกปิริงญา (Caipirinha) ค็อกเทลที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติบราซิล ใช้เหล้ากาชาซา (Cachaça) มะนาว น้ำตาลทรายขาว และน้ำแข็ง ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น

    หมดไกปิริงญาผมก็เรียกเก็บเงิน เดินกลับขึ้นฝั่งไปยังถนน Barata Ribeiro ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก ตอนนั่งแท็กซี่ผ่านเมื่อตอนเย็นจำได้ว่ามีบาร์ท้องถิ่นอยู่หลายร้าน บาร์เหล่านี้มีตัวร้านอยู่ในชั้น 1 ของอาคาร เปิดหน้าร้านโล่ง ตั้งโต๊ะล้นออกมาจากตัวร้าน กินพื้นที่ทางเท้าไปบางส่วน ผมเลือกร้านชื่อ Pavão Azul แปลว่า “นกยูงสีน้ำเงิน” ขอเมนูมาพิจารณาแล้วสั่งวิสกี้ผสมโซดากับหนุ่มใหญ่หัวล้านหน้าตายิ้มแย้ม เขานำแก้วใส่น้ำแข็งมาวาง ตามด้วยขวดสกอตวิสกี้ และโซดา 1 กระป๋อง ผมเห็นรูปมะนาวบนกระป๋องโซดา ขอเปลี่ยนเป็นโซดาธรรมดา เขาตอบว่าไม่มี จึงขอแบบออนเดอะร็อกส์ เขารินวิสกี้ลงในแก้วเยอะมาก ผมต้องยกมือบอกให้พอ  

    หมดวิสกี้ออนเดอะร็อกส์ ผมบอกชายคนเดิมว่าอยากลองกาชาซา เขาไปหยิบกาชาซามา 2 ขวด วางบนโต๊ะเพื่อให้ผมเลือก มียี่ห้อ Salinas Tradicion และ Seleta ซึ่งทั้ง 2 ยี่ห้อผลิตในเมือง Salinas เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องกาชาซา อยู่ในรัฐมีนัสเจไรส์ รัฐขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางเหนือของรัฐรีโอเดจาเนโร ผมถามกลับไปว่าคุณแนะนำตัวไหน เขาเดินไปถามเพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะเป็นเจ้านาย กลับมาบอกว่า Seleta เขารินลงแก้วช็อตทรงสูงเต็มแก้ว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ลองกาชาซาแบบเพียวๆ รสชาติคล้ายเหล้าขาวบ้านเรา แต่หอมกว่ามากและไม่บาดคอ หมดตัวนี้ผมก็สั่ง Salinas Tradicion เขาก็รินเต็มแก้วอีก พอผมจะถ่ายรูปกาชาซาทั้งสองขวด เขาก็อาสามาเป็นแบ็กกราวด์โผล่หน้ามาอยู่หลังขวดแล้วยก 2 นิ้วโป้งพร้อมฉีกยิ้ม ทำให้รูปถ่ายออกมาดูดีมาก

    กาชาซานี้คนต่างชาติชอบเรียกว่า “รัมบราซิล” แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะรัมผลิตจากกากน้ำตาล (เหมือนเหล้าขาวเจ้าใหญ่ๆ ในบ้านเรา) แต่กาชาซาใช้น้ำอ้อยหมักแล้วนำไปกลั่น จากนั้นจะบ่มต่อหรือไม่ เป็นทางเลือก หากไม่บ่มก็เป็นกาชาซาสีใส ราคาถูกกว่าแบบบ่มสีเหลืองๆ ทองๆ และยิ่งบ่มนานก็ยิ่งมีราคาแพง

    ผมเรียกเก็บเงิน หนุ่มใหญ่อารมณ์ดีเดินมาพร้อมเครื่องรูดบัตรเครดิต ค่าวิสกี้ 20 เรียล ค่ากาชาซาช็อตละ 12 และ 14 เรียล เซอร์วิสชาร์จ 10 เปอร์เซ็นต์ ผมจำต้องใช้บัตรเพราะอยากเก็บเงินเรียลสดไว้ ไม่อยากแลกเงินอีกรอบ

    แถวที่พักร้านขายของชำและซูเปอร์มาร์เก็ตปิดลงไปหมดแล้ว ผมหาซื้อน้ำเปล่าไม่ได้ แต่เห็นร้านขายเหล้า-ไวน์แบบขายนอกเวลาเปิดอยู่ คิดว่าน่าจะมีน้ำดื่ม แล้วก็มีจริงๆ

    ชั้นวางในร้านมีกาชาซาและสุราหลากหลายชนิดวางอยู่ละลานตาหลายร้อยขวด ชายหลังเคาน์เตอร์พูดภาษาโปรตุเกสมาประโยคหนึ่ง ผมรู้ว่าหมายถึง “อยากได้อะไรอีกไหม?” ก็เลยหลุดปากไปว่า “กาชาซา” แล้วพิมพ์ในแอปแปลภาษาให้ทางร้านแนะนำ เขาหยิบ Salinas Tradicion มาวางพร้อมมะนาว 1 ลูก ผมใช้บัตรเครดิตจ่ายไป 88 เรียล ตอนหลังจึงรู้ว่าเป็นราคาที่แพงกว่าปกติประมาณ 20 เรียล คงเป็นค่าใบอนุญาตสำหรับการเปิดนอกเวลา

    ถึงที่พักผมดื่มต่อไม่ไหว เพราะกาชาซา 2 เป๊กที่ร้าน Pavão Azul กำลังแสดงความซื่อสัตย์ออกมาอย่างรุนแรง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย