‘โควิด’ป่วนธุรกิจประกัน

 “ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ” เป็นอีกประเด็นที่น่าจะได้รับความสนใจในขณะนี้ ภายหลังจาก สมาคมประกันวินาศภัย ได้ออกมาเปิดเผยถึงตัวเลขค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัยโควิด-19 ณ วันที่ 15 พ.ย.2564 อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้น อยู่ที่ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้การเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด 

และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุน หากเกิดการระบาดระลอกใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เรียกได้ว่ายอดเคลมพุ่งจากปีก่อนหน้าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ จากสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย มีอัตราติดเชื้อ 2.8% ของประชากร แต่อัตราผู้ติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัยโควิด-19 สูงถึง 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์ ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั่วไปถึง 35.7% และจากข้อมูลของบริษัทซึ่งอยู่ใน 5 อันดับของบริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ แสดงให้เห็นว่า ผู้มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ มีอัตราการติดเชื้อสูงถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดที่ 46%

โดยจากแรงกดดันดังกล่าว ส่งผลให้ “อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัย ออกมาระบุว่า อยากให้มีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ เพราะปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัย พร้อมทั้งอยากให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิด Outward Risks ซึ่งเป็นความเสี่ยงกับภาคธุรกิจประกันภัย ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

แม้จะต้องออกมายอมรับว่าบางกรณีอาจจะมีการเคลมที่ล่าช้า เนื่องจากหลายบริษัทต้องเจอกับปัญหายอดเคลมที่เพิ่มขึ้น 200-300 เท่าต่อวัน จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง แต่ก็ยังคงยืนยันชัดเจนว่า “จะไม่มีการเบี้ยวจ่ายค่าชดเชยอย่างแน่นอน” พร้อมยกเหตุผลว่า เพราะโควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ ไม่มีประวัติการรับประกันในอดีต จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงมาก เมื่อยอดเคลมต้องใช้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวั่นกระทบต่อธุรกิจ

ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจประกันภัยในไตรมาส 3/2564 พบว่า บริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กว่า 10 บริษัท จากทั้งหมด 15 บริษัท ต้องเผชิญปัญหาการขาดทุนรวมกว่า 5,782 ล้านบาท แม้ว่าจะมีอีกหลายบริษัทที่ผลประกอบการยังคงเติบโตได้ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างกดดันเช่นนี้

ขณะที่ฝั่ง คปภ.เองยังคงยืนยันเรื่องการ “ห้ามยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” แต่อนุญาตให้ 16 บริษัทที่ขายประกันแบบ เจอ จ่าย จบ สามารถเสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์โควิดเดิม หรือตามกรมธรรม์ภัยอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ลูกค้าต้องสมัครใจเท่านั้น!”

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า คปภ.ยังยืนยันเหมือนเดิม ที่ห้ามไม่ให้บริษัทประกันภัยยกเลิกประกันแบบเจอ จ่าย จบ เพราะหากยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน เนื่องจากบริษัทประกันอาสารับความเสี่ยงให้กับประชาชน เมื่อไม่มีการระบาดบริษัทก็ได้กำไร แต่หากยกเลิกในช่วงที่มีการระบาดก็จะเป็นการโยนความเสี่ยงให้กับประชาชน

พร้อมทั้งยังประเมินด้วยว่า ในปี 2565 แนวโน้มการเรียกค่าสินไหมของประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ จะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสถานะและสภาพคล่องของบริษัทประกันอีกด้วย

เรียกว่าเป็นประเด็นที่หนักหน่วงสำหรับอุตสาหกรรมในยุคการระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพราะหากปล่อยไว้ให้ลุกลาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่กับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่อาจส่งผลถึงภาพรวมของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.

ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า

ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม

เคลียร์ปมสถานีอยุธยา

เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2

แจกเงินหวังคะแนน

เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ

เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด

คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น

ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!

ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research