พอเกิดความตึงเครียดหนักๆ ที่คาบสมุทรเกาหลี สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินก็ต้องได้ยิน
เกาหลีใต้ประกาศเป็นครั้งแรกว่าดำเนินนโยบายที่มี “อาวุธนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเชิงนโยบาย”
นั่นย่อมแปลว่าเมื่อเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่หยุดยั้ง เกาหลีใต้ก็จะหันไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเช่นเดียวกัน
การเผชิญหน้าของอาวุธนิวเคลียร์ในคราบสมุทรเล็กๆ แห่งนี้ย่อมนำมาซึ่งหายนะของชาวโลกได้ไม่ยากเลย
คำประกาศกร้าวล่าสุดมาจากประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ที่บอกว่าหากภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้น ประเทศของเขาอาจสร้างคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเอง
หรือไม่ก็จะขอให้สหรัฐฯ ช่วยติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์มาช่วยเกาหลีใต้
ข่าวนี้มาจากรายงานข่าวที่เก็บตกจากการบรรยายสรุปนโยบายร่วมกัน โดยกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน
ยุนรู้ว่าพอพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ ผู้คนก็จะตื่นตระหนกได้
เขาจึงเสริมทันทีว่าการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ “ยังไม่เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ”
แต่ย้ำว่าในตอนนี้เกาหลีใต้จะจัดการกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
นโยบายที่ว่านี้รวมถึงการหาทางเพิ่มความน่าเชื่อถือของความมุ่งมั่นของวอชิงตันในการปกป้องพันธมิตรด้วยความสามารถด้านการป้องกันทั้งหมด รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์
มองอีกแง่หนึ่ง ผู้นำเกาหลีใต้กำลังบอกกับสหรัฐฯ ว่าจะต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะปกป้องคนเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือให้เป็นที่น่าไว้วางใจ
แต่กระนั้นก็ตาม แนวความคิดของนายยุนถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากเกาหลีใต้ในปี 1991 ที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวถึงอย่างเป็นทางการว่าจะติดอาวุธในประเทศด้วยอาวุธนิวเคลียร์
อเมริการื้อถอนอุปกรณ์อาวุธนิวเคลียร์ออกจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก
“เป็นไปได้ว่าปัญหาจะเลวร้ายลง และประเทศของเราจะต้องคิดถึงการให้ได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีหรือสร้างมันขึ้นมาเอง” นายยุนกล่าว
หากอ่านบันทึกคำพูดของผู้นำโซลที่เผยแพร่โดยสำนักงานประธานาธิบดีเอง ก็จะได้เนื้อหาว่า
“หากเป็นเช่นนั้น เราสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพิจารณาจากความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรา”
นั่นแปลว่าเกาหลีใต้มีศักยภาพที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์เอง...หากจำเป็น
เกาหลีใต้หนึ่งในประเทศผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT (Non-Proliferation Treaty)
ข้อตกลงนี้ห้ามประเทศที่ร่วมลงนามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำสงคราม
นอกจากนี้ โซลยังได้ลงนามในคำประกาศร่วมกับเกาหลีเหนือในปี 1991
ในสัญญานั้นทั้ง 2 เกาหลีตกลงที่จะไม่ “ทดสอบ ผลิต ผลิต รับ ครอบครอง จัดเก็บ ปรับใช้ หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์”
แต่เกาหลีเหนือก็หาได้สนใจที่จะทำตามข้อตกลงไม่
เพราะเปียงยางเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์ 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2006 อย่างไม่ลดละ
แม้จะมีการเจรจาหลายรอบ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือถอดหัวรบนิวเคลียร์ได้
เจ้าหน้าที่อเมริกันและเกาหลีใต้กล่าวว่า เกาหลีเหนืออ้างข่าว
กรองว่าเปียงยางสามารถทำการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 ได้ทุกเมื่อ
ตรงกันข้าม เกาหลีเหนือประกาศอย่างองอาจว่าพร้อมจะขยายคลังแสงนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา
และขู่ว่าจะใช้มันกับเกาหลีใต้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
จึงเกิดเสียงในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในหมู่นักวิเคราะห์บางสำนักและภายในพรรคพลังประชาชนของประธานาธิบดียุนเองก็เรียกร้องให้โซลพิจารณาทางเลือกนิวเคลียร์ใหม่
การที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธด้วยความถี่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ย่อมบ่งบอกถึงท่าทีที่ท้าทายของเปียงยางทำนองว่า “ฉันไม่แคร์” ต่อเสียงของประชาคมโลก
ย้อนกลับไปสู่มติของสหประชาชาติที่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือเรื่องนี้
ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มสูงขึ้นในปี 2017 เมื่อเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป 3 ลูก และตามมาด้วยการทดสอบนิวเคลียร์
สหประชาชาติกำหนดมาตรการคว่ำบาตร และเปียงยางหยุดทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลชั่วขณะ แต่ก็ระยะหนึ่งเท่านั้น
ต่อมาก็เข้าสู่ช่วงการทูตล้มเหลว
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พบกับ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 3 ครั้ง ระหว่างปี 2018-2019 โดยหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
แต่หลังจากการเจรจายุติลง เกาหลีเหนือก็กลับมาทดสอบขีปนาวุธอีก
เกาหลีเหนือเริ่มการทดสอบรอบใหม่ในเดือนกันยายน 2021 หลังจากหยุดไป 6 เดือน
ช่วงหลังนี้ คิม จองอึน ได้เปิดตัวขีปนาวุธจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขีปนาวุธใหม่ในปีที่ผ่านมา
ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศว่า "สงครามเย็นใหม่" กำลังเกิดขึ้นและได้อวดศักดาว่าจะขยายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของประเทศเพื่อต่อต้านเกาหลีใต้ "อย่างทวีคูณ"
ผู้กำหนดนโยบายในกรุงโซลปฏิเสธนิวเคลียร์เป็นตัวเลือกมานานหลายทศวรรษ
ด้วยเหตุผลที่ว่าเกาหลีใต้มีหลักป้องกันด้วย “ร่มนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ” อยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างนิวเคลียร์ด้วยตนเอง
แต่พอประธานาธิบดียุนประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเห็นทีจะต้องเปลี่ยนท่าทีเรื่องนี้ ก็ทำให้นักวิเคราะห์มองว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้กันเลยทีเดียว
ภายใต้การนำของอดีตผู้นำเผด็จการทหาร ปาร์ก ชุง-ฮี เกาหลีใต้เริ่มดำเนินโครงการอาวุธนิวเคลียร์แบบแอบแฝงในทศวรรษ 1970
เป็นช่วงที่สหรัฐฯ เริ่มลดการประจำการทางทหารในเกาหลีใต้
เพราะคนเกาหลีใต้เริ่มกลัวว่า ถ้าอเมริกาถอนตัวออกไป เกาหลีเหนือจะถือโอกาสโจมตี
ทุกวันนี้วอชิงตันยังคงรักษากองทหารอเมริกัน 28,500 นาย ไว้ในเกาหลีใต้ ในฐานะสัญลักษณ์ของพันธมิตร
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังคงทดสอบขีปนาวุธ ซึ่งบางลูกออกแบบมาเพื่อส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปยังเกาหลีใต้
ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ จะหยุดเกาหลีเหนือจากการโจมตีประเทศของตนหรือไม่
เมื่อเกาหลีใต้ประกาศความตั้งใจที่จะติดอาวุธนิวเคลียร์ก็อาจจะกดดันให้เกาหลีเหนือทบทวนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองใหม่
และอาจกระตุ้นให้จีนกดดันเปียงยางให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว
เพราะจีนกลัวการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกมานานแล้ว
ประธานาธิบดียุนเองย้ำว่า ประเทศของเขายังคงยึดมั่นใน NPT อย่างน้อยก็ในตอนนี้
และกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ย้ำว่า “วิธีการที่เป็นจริง” ในการตอบโต้ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ จะผ่านการป้องปรามร่วมกับสหรัฐฯ
เป็นที่มาของการซ้อมรบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อทดสอบขีดความสามารถร่วมกันของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ในการรับมือกับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
และเพื่อช่วยรับรองความจริงใจของพันธกรณีของวอชิงตันที่มีต่อพันธมิตร
ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในเกาหลีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลของนายยุนตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนือด้วยมาตรการที่ยกระดับขึ้นเอง
เช่น การส่งเครื่องบินขับไล่เพื่อตอบโต้โดรนจากเกาหลีเหนือ
“เราต้องกำจัดความปรารถนาที่จะยั่วยุของฝ่ายเหนือ” ประธานาธิบดียุนบอก
ปัญหาคือ คิม จองอึน เมื่อได้ยินว่ายุน ซุกยอล ประกาศจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์บ้างจะตีความว่าเป็น “การปราม” หรือ “การเตือน” หรือ “การท้าทาย”
ไม่มีใครอ่านความคิดของท่านคิมที่เปียงยางออกจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ