จริงหรือที่มีข่าวว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลัง ปรับ ทิศทางนโยบายต่างประเทศให้ลดความกร้าวลง สร้างมิตรเพิ่ม และรักษาระยะห่างจากสงครามยูเครนมากขึ้น?
เป็นแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่การทำ U-turn เกี่ยวกับนโยบาย โควิดต้องเป็นศูนย์ อย่างฉับพลัน
ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการประท้วงในเมืองต่างๆ ที่ต่อต้านมาตรการเข้มข้นเพื่อระงับการระบาด
ตามมาด้วยการประท้วงของชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องโควิด และปรากฏการณ์ ประท้วงกระดาษขาว A4 ที่เห็นคนรุ่นใหม่และนักศึกษาออกมาแสดงความต้องการให้ผู้มีอำนาจก้าวลงเพราะความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารวิกฤตโรคระบาด
ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะที่สี จิ้นผิง กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศเป็นสมัยที่สามในเดือนมีนาคมนี้
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่กลายเป็นประเด็นที่ทำให้นักวิเคราะห์นำมา ประกอบร่าง เป็นทฤษฎีใหม่ว่าด้วยท่าทีที่อาจจะกำลังเปลี่ยนไปของผู้นำจีน
แม้กระทั่งการย้ายโฆษกกระทรวงต่างประเทศฝีปากกล้าอย่าง จ้าวหลี่เจียน ไปเป็นรองอธิบดีกรมพรมแดนทางทะเลซึ่งถือว่าเป็นการลดความสำคัญของบทบาทนักการทูตคนนี้ลงอย่างชัดเจน
ตามมาด้วยบทวิเคราะห์ในสื่อ Financial Times ของอังกฤษสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อ้าง เจ้าหน้าที่จีนที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ที่บอกว่าจีนกำลังกังวลว่าหากประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียยังเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป รัสเซียก็อาจจะจบลงด้วยการ ลดชั้นตัวเองเป็นประเทศอำนาจน้อย หรือ Minor Power เพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจครั้งนี้
สื่ออังกฤษฉบับนี้ใช้คำว่า reset ท่าทีของจีนในเรื่องต่างประเทศเพื่อให้ดู แนบเนียน ขึ้น ไม่กร้าวและปะฉะดะกับตะวันตกในทุกเรื่อง
เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนที่คุยกับนักข่าวตะวันตกยอมรับว่าปักกิ่งกำลังขยับนโยบายเพื่อจะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ย่ำแย่กับตะวันตก
เพื่อลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์
และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่โดนกระทบค่อนข้างแรงจากโควิดมาเกือบสามปีจนทำให้อัตราโต GDP ของจีนหดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ
นโยบายและแผนใหม่หลายมิติสะท้อนถึงทิศทางที่ปูทางเอาไว้จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคม
นั่นถือเป็นงานชิ้นที่สำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองจีนเป็นเวลา 5 ปีที่สร้างบรรยากาศให้กับเป้าหมายระยะยาวของจีน
จากมุมมองทางเศรษฐกิจ เป้าหมายหลักของสี จิ้นผิง คือการฟื้นฟูการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน หาทางยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานในชนบทของจีนหลายร้อยล้านคน
และยังต้องรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างหนัก
และพยุงวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนคาดว่าปักกิ่งจะผลักดันนโยบายส่งเสริมการเติบโตหลายชุด
โดยคาดว่าเป้าหมายในปี 2566 จะอยู่ที่ ร้อยละ 6 หรือสูงกว่า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ที่ร้อยละ 4.4
นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2566 ที่สูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์
บางคนเชื่อว่าหากรัฐบาลจีนควบคุมปัญหาโควิดอยู่จริง และเปิดประตูครั้งใหม่อย่างอ้าซ่าได้ตามหวัง อาจจะได้เห็น GDP จีนที่โตได้ถึงร้อยละ 7 ด้วยซ้ำไป
นักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่าเป้าหมายหลักของจีนคือการปรับปรุงความสัมพันธ์กับบางประเทศทางตะวันตก
หลังจากช่วงหนึ่งที่ทำให้ปักกิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและมีเพื่อนร่วมชะตากรรมขนาดใหญ่ไม่กี่ชาติเช่นรัสเซีย
ซึ่งก็เกิดอุปสรรคเพราะสงครามยูเครนระเบิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตา
จีนอาจจะมีปัญหากับสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย แต่ปักกิ่งต้องการจะประคองความสัมพันธ์กับยุโรปเอาไว้เป็นการคานอำนาจกับสหรัฐฯ
สำหรับจีนแล้ว ยุโรปเป็นตลาดสำคัญทางด้านการค้าและการลงทุน
และที่มองข้ามไม่ได้เลยคือความสัมพันธ์ด้านการเมืองและการทูตที่จีนยังหวังว่าจะไม่มี อคติ เท่ากับสหรัฐฯ
พอเกิดสงครามยูเครน ยุโรปก็มองจีนอย่างระแวงสงสัยมากขึ้น เพราะความใกล้ชิดระหว่างปักกิ่งกับมอสโก
น่าเชื่อได้ว่าในทางการทูต ปักกิ่งหวังว่าจะไม่เป็นคู่แข่งกับทุกประเทศในตะวันตก และไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยวในเวทีพหุภาคี
ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าผู้นำในระดับสูงของจีนบางคนย่อมจะมอง การผจญภัยทางทหาร ของรัสเซียในยูเครนนั้นมีผลกระทบต่อจีนอย่างน้อยก็ในแง่ที่ทำให้ปักกิ่งอาจจะกลายเป็นเป้าของการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกได้
แน่ละ โดยภาพทางการแล้วปูตินกับสี จิ้นผิง ยังสนิทสนมในลักษณะ เพื่อนซี้ กันอยู่
ทั้งสองให้คำมั่นเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก
แต่นั่นคือภาษาทางการที่ต้องใช้เป็น ไฟต์บังคับ
แต่ในการสนทนาส่วนตัวกับนักข่าว Financial Times นั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนบางคนก็เริ่มจะตั้งข้อสงสัยว่าจีนควรจะแสดงตนให้ใกล้ชิดกับปูตินในกรณีสงครามนี้มากน้อยเพียงใด จึงจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของปักกิ่งในเวทีระหว่างประเทศ
นักข่าวฝรั่งบอกว่าเจ้าหน้าที่จีนบางคนแสดงความไม่สบายใจกับวิธีคิดและตัดสินใจของปูตินไม่น้อย
บางคนถึงกับพูดทีเล่นทีจริงว่าในบางจังหวะเขาก็รู้สึกว่า ปูตินบ้าไปแล้ว
เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าการบุกยูเครนครั้งนี้เป็นผลของการตัดสินใจโดยคนกลุ่มเล็กๆ รอบๆ ปูตินเท่านั้น
เจ้าหน้าที่จีนบางคนแม้จะเข้าใจจุดยืนทางการของผู้นำจีนเอง แต่ก็ยอมรับว่าหากมองกันลึกๆ แล้วปักกิ่งก็ควรจะต้องบอกกล่าวให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าจีนไม่ได้เห็นด้วยกับปูตินในทุกๆ เรื่อง
จีนไม่ควรทำตามรัสเซียเพียงอย่างเดียว คือบางประโยคจากปากคำของเจ้าหน้าที่จีนที่คุยกับสื่ออังกฤษฉบับนั้น
(พรุ่งนี้: จุดยืนจีนกับจุดยืนรัสเซียในสงครามยูเครน).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ