'มาร์กอส จูเนียร์'ฟื้นสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีน

     ต้นปี 2023 เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เยือนจีนอย่างเป็นทางการ กระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีมาแต่ครั้งอดีต ขยายความร่วมมือหลากหลายโดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สาธารณูปโภค พลังงาน ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กัน

     เน้นพัฒนาเกษตรทันสมัย การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน ระบบสื่อสารสมัยใหม่ อี-คอมเมิร์ซ ความร่วมมือด้านพลังงานฟอสซิสและพลังงานสะอาด ร่วมสำรวจแหล่งพลังงานในทะเลจีนใต้ จีนจะซื้อสินค้าเกษตรฟิลิปปินส์มากขึ้น

ภาพ: ภาพถ่ายร่วมของ 2 ผู้นำพร้อมภรรยา
เครดิตภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202301/1283214.shtml

ชัยชนะของจีน ประโยชน์ที่ฟิลิปปินส์ได้:

     ประชุมสุดยอดฟิลิปปินส์-จีนครั้งนี้ ประกาศจุดยืนร่วม “แก้ไขความคิดต่างอย่างเหมาะสม” ต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ “ด้วยสันติวิธี” ไม่ให้ประเด็นนี้กระทบความสัมพันธ์รวม ย้ำความสำคัญของการเดินเรือเสรีในแถบนี้

     สังเกตว่าทั้งคู่ไม่เอ่ยว่าพื้นที่ส่วนใดเป็นของใคร จะแก้ไขอย่างเหมาะสมเป็นกรอบกว้างๆ คำที่สำคัญคือ “ด้วยสันติวิธี” ไม่ให้กระทบความสัมพันธ์อื่นๆ เป็นบทสรุปที่ชัดเจนเมื่อตกลงไม่ได้ว่าอาณาบริเวณพิพาทนั้นเป็นของใคร รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถใช้ประเด็นนี้เข้าแทรกแซงเหมือนกรณีไต้หวัน

     ทะเลจีนใต้สามารถเป็นทั้งจุดขัดแย้งกับร่วมมือ ถ้าไม่ขัดแย้งก็ร่วมมือกันได้ดี หากยึดความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสถานการณ์จะตึงเครียด ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคจะกลายเป็นเครื่องมือช่วงชิงของมหาอำนาจ (ยูเครนเป็นตัวอย่างล่าสุด ยิ่งรบยิ่งพัง อนาคตยูเครนไม่อยู่ในมือของคนยูเครนอีกต่อไป) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ระบุชัดว่าอเมริกาต้องมีบทบาทในโลกมากกว่านี้ ตอนนี้โลกถูกแบ่งแยกไร้เสถียรภาพ ชาติมหาอำนาจเสี่ยงขัดแย้งมากขึ้น ตอนนี้เขตที่แข่งขันดุเดือดมากที่สุดคืออินโด-แปซิฟิกและกำลังขยายเป็นทั้งโลก แข่งขันวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ใน 10 ปีนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดห้วงเวลาชี้อนาคต

     ถามว่าควรวางตำแหน่งที่เป็นมิตรร่วมมือกับทุกประเทศ หรือยอมตกเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ

     สมัยรัฐบาลเบนิกโน อากีโนที่ 3 (Benigno Aquino III) ยึดแนวทางอิงสหรัฐ ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์-จีนรุนแรง รัฐบาลจีนลดการติดต่อทางเศรษฐกิจ

     ทั้งจีนกับสหรัฐต่างมีนโยบายยกระดับการค้าการลงทุนกับอาเซียน ประเด็นคืออาเซียนติดต่อการค้าเศรษฐกิจกับประเทศใดมากกว่า

     การค้าการลงทุนผ่านข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) แม้มีเสียงวิพากษ์ เช่น บางโครงการด้อยคุณภาพ บางโครงการขาดทุน ทำให้ประเทศร่วมโครงการเป็นหนี้จีน แต่นับวัน BRI มีแต่จะเฟื่องฟู เพิ่มขึ้นทั้งเม็ดเงินกับประเทศที่เข้าร่วม ล่าสุดภายใต้ BRI 2 ประเทศทำโครงการร่วมเกือบ 40 โครงการแล้ว หลายโครงการใช้เงินกู้เงินช่วยเหลือจากจีน ตั้งแต่การป้องกันโรคระบาด บรรเทาภัยพิบัติ ก่อสร้างสาธารณูปโภค การเกษตร ฯลฯ และอนาคตจะเพิ่มอีกหลายโครงการ

     ความจริงที่ลบล้างไม่ได้คือจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของฟิลิปปินส์ และเป็นคู่ค้าที่มีโอกาสงามไม่ว่าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีการค้าจึงไหลลื่น จีนลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น หรือพูดอีกอย่างคือรัฐบาลฟิลิปปินส์นี่แหละเปิดทางให้จีนมาลงทุน

     ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ หวังว่านักลงทุนจีนจะเข้ามา ชาวจีนจะมาเที่ยว สองประเทศจะเดินหน้าโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทะเลจีนใต้ต่อไป

จับมือจีนแต่ไม่ทิ้งสหรัฐ:

     มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศบางเรื่องยังอยู่ฝ่ายตะวันตก เช่น ฟิลิปปินส์โหวตสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขันในที่ประชุมสหประชาชาติ ต่างจากชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ

     ก่อนหน้าประชุมสุดยอดกับจีน ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวต่อแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รมต.ต่างประเทศสหรัฐว่า ฟิลิปปินส์กับสหรัฐ “มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากเพราะเป็นความสัมพันธ์พิเศษ .... และมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน” สนับสนุนที่แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและคณะเยือนไต้หวันเมื่อต้นสิงหาคมปีก่อนจนเหตุการณ์ตึงเครียด

     ในด้านเศรษฐกิจ นักวิชาการบางคนเห็นว่าฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าร่วมกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

     ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทหารเป็นส่วนที่ชัดเจนและสำคัญที่สุด ข้อตกลง Enhanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) ทำให้ทหารสหรัฐสามารถประจำการในฟิลิปปินส์ยาวนาน อยู่ในฐานทัพหลายแห่งรวมทั้งฐานทัพอากาศ บางแห่งอยู่ที่หมู่เกาะ Mavulis กับ Fuga ทางตอนเหนือสุดใกล้ไต้หวัน รัฐบาลฟิลิปปินส์เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศ ต่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

     โดยรวมแล้วการประชุมสุดยอดชี้ว่าสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีนภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปด้วยดี แต่ไม่ใช่หลักฐานว่ามาร์กอส จูเนียร์ ทิ้งสหรัฐ ฟิลิปปินส์ยังคงมีสัมพันธ์เก่าแก่ เป็นพันธมิตรเก่าแก่ เพียงแต่รัฐบาลสหรัฐไม่อาจแทรกแซงข้อพิพาททะเลจีนใต้โดยยืมมือรัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์

     รวมความแล้ว รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ต้องการเป็นมิตรที่ดีทั้งต่อจีนและอเมริกา

ทิศทางอาเซียน:

     ต้นเดือนกันยายน 2022 ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า ตนกับผู้นำอินโดนีเซียมีความเห็นร่วมกันว่าอาเซียนเป็น “ตัวสร้างสันติภาพ” โดยเฉพาะในยามที่สถานการณ์ภูมิภาคอ่อนไหว สิ่งที่อาเซียนต้องการคือสันติภาพในหมู่ชาติสมาชิก

     การแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจเป็นเรื่องเกิดขึ้นอยู่เสมอ หาก 10 ชาติอาเซียนสามัคคีเป็นหนึ่ง ไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ เมื่อนั้นโอกาสที่ภูมิภาคจะสงบสุขย่อมมีมาก แต่ต้องระวังนักการเมืองบางคน บางกลุ่ม บางสื่อ ที่พยายามเคลื่อนไหวให้อิงมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยูเครนเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ประเทศเข้าสู่สถานการณ์เลวร้ายไม่อาจแก้ไขให้เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะมีผู้นำแปลกๆ อย่างเซเลนสกี

     สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมีระบอบการปกครองหลากหลาย มีบริบทต่างกัน ภาพรวมอาเซียนจึงผันแปรไปตามสมาชิก ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างประเทศที่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายอาจเปลี่ยนตาม บัดนี้รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ประกาศจะเป็นมิตรที่ดีกับจีน เป็นอีกปัจจัยที่ชี้ว่าภาพรวมอาเซียนใกล้ชิดเป็นมิตรกับจีนทางเศรษฐกิจต่อไป โดยไม่ทิ้งสหรัฐที่บางประเทศมีฐานะเป็นพันธมิตรเก่าแก่ มีสนธิสัญญาข้อตกลงด้านความมั่นคง อาเซียนขออยู่ร่วมกับมหาอำนาจอย่างสันติ

หวังการพัฒนามากกว่าความตึงเครียด:

     นโยบายแม่บทของจีนประกาศชัดต้องการพัฒนาประเทศ ต้องการทำมาค้าขายกับนานาชาติ การทำการค้าให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขย่อมดีกว่าทำสงคราม เป้าหมายนี้ไม่สำเร็จหากจีนทำสงครามหรือขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้าน คำถามคือ หากมีประเด็นขัดแย้งที่แก้ไม่ตกจะทำอย่างไร ความขัดแย้งเรื่องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ที่ต่างฝ่ายต่างถอยไม่ได้ (จะมีรัฐบาลไหนที่ยอมสูญเสียดินแดน สูญเสียอธิปไตยให้อีกประเทศ) ทางออกคือแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เน้นพัฒนามากกว่าเผชิญหน้า

     ณ วันนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังสามารถบริหารจัดการ 2 มหาอำนาจได้ดี คำถามคือจะทำเช่นนี้ได้ตลอดไปหรือไม่ หากรัฐบาลสหรัฐในอนาคตเรียกร้องให้เลือกข้าง ต้องการตั้งฐานทัพที่นี่ ประจำการกองทัพขนาดใหญ่ สถานการณ์ไต้หวันเข้าสู่จุดเดือด

     ย้อนหลังความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีนคือสัมพันธ์ที่ปรับเปลี่ยนไปมาอยู่เสมอ ไม่อาจปฏิเสธว่าบางรัฐบาลอิงสหรัฐ บางรัฐบาลเข้าหาจีน-รัสเซียมากขึ้น รวมความแล้วรัฐบาลล่าสุดหวังเป็นมิตรกับทุกมหาอำนาจ ขอบริหารจัดการความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด

ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย

อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด