เมื่อปี พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมทั้งคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภคในสังกัดกระทรวงคมนาคม
ภารกิจและขอบเขตของการรับผิดชอบในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเขต
กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
มีผู้ใช้บริการ 3 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในด้านประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบการขนส่งบุคคล
เนื่องจากกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง จัดเป็นสาธารณูปโภค ชนิดหนึ่งของรัฐที่ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไร การจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุน ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด
นโยบายให้บริการของ ขสมก.มุ่งในด้านความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินรถของผู้โดยสารเป็นหลัก
ขณะนั้น (ปี พ.ศ.2557) สถานภาพ ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สินสะสมเกือบ 90,000 ล้านบาท รถเมล์ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน ใช้งานมาประมาณ 20 ปี สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม วิ่งไปซ่อมไป การจัดซื้อจัดหารถเมล์ใหม่ก็ยังไม่สำเร็จ
ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก.ร่วมทำงานกับกรรมการอีกหลายท่าน
กรรมการจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมบัญชีกลาง
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และการเงิน ศ.ดร.สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ รศ.คณิต รัตนวิเชียร รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ และ รศ.พัชรา พัชราวนิช
เมื่อคำสั่งมีผล ผมเดินทางไปที่ ขสมก.พบกับรักษาการ ผอ.ขสมก. ซึ่งเป็นอดีตรอง ผอ.ขสมก.ฝ่ายบริหาร และเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกับผม เพื่อหารือแนวทางการทำงาน
เรื่องสำคัญที่ ขสมก.จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องการจัดซื้อจัดหารถเมล์ใหม่ทดแทนรถเก่า จำนวนประมาณ 3,000 คัน มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และการสรรหา ผอ.ขสมก.
โครงการจัดซื้อจัดหารถเมล์เป็นมหากาพย์เรื่องราวยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปี
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 สมัยนายกฯ ทักษิณจัดทำโครงการจัดซื้อรถเมล์ 6,000 คัน มูลค่ากว่าหนึ่งแสนล้านบาท ต่อมานายกฯ สมัครลดจำนวนลง เป็นจัดซื้อเหลือ 4,000 คัน มูลค่า 67,000 ล้านบาท พอสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เปลี่ยน
โครงการเป็นเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน
จนถึงสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เปลี่ยนโครงการจากเช่ารถมาเป็นซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ในวงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท เป็นรถเมล์ธรรมดา รถร้อน 1,659 คัน คันละ 3.8 ล้านบาท รถปรับอากาศ 1,524 คัน ราคา 4.5 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการ และมีการจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลจัดซื้อ แต่เกิดการรัฐประหารโดย คสช.ก่อน จึงค้างการดำเนินการการจัดซื้อมาจนถึงสมัยนายกฯ ประยุทธ์
ผมเข้าประชุมบอร์ด ขสมก.ครั้งแรก ก็ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องมนุษย์ล้อที่มายื่นหนังสือให้ทบทวนการจัดซื้อรถเมล์
ประเด็นหลักๆ ก็คือ สเปกรถเมล์ที่จะจัดซื้อเป็นรถร้อน (ไม่มีแอร์) รถชานสูง ผู้พิการขึ้นรถไม่สะดวก มีการล็อกสเปก ราคาสูงไป
มีผู้ขอให้ดำเนินการจัดซื้อตามสเปกเดิมต่อไป โดยอ้างว่าได้ดำเนินการมาพอสมควร หากกลับไปเริ่มต้นใหม่จะล่าช้าต่อไปอีก
ผมได้ไปพบนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ที่ได้ติดตามและคัดค้านการจัดซื้อรถเมล์ตามทีโออาร์เดิม เพื่อหารือขอคำแนะนำในการดำเนินการจัดซื้อให้ถูกต้อง
ในที่สุดคณะกรรมการ ขสมก.ได้ประชุมมีมติให้จัดประชุมทำประชาพิจารณ์ว่าจะจัดซื้อตามทีโออาร์เดิมต่อไปหรือไม่
ผลการประชุมทำประชาพิจารณ์ มีมติให้ยกเลิกทีโออาร์เดิมแล้วกำหนดขึ้นใหม่
คณะกรรมการจัดทำทีโออาร์ใหม่ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน ตัวแทนจากองค์การต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
คณะกรรมการจัดการประมูล ดำเนินการตามมติ ครม.ว่าด้วยสัญญาคุณธรรม กับองค์การต่อต้าน
คอร์รัปชัน เป็นครั้งแรกของการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการแบบนี้ สุจริต ถูกต้องโปร่งใสทุกประการ
ดำเนินการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก จำนวน 489 คัน โดยวิธีประมูลแบบอิเล็กทรอนิก ในราคา 3,389 ล้านบาท (ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 600 ล้านบาท) และตกลงลงนามในสัญญาซื้อขายกับผู้ประมูลได้เรียบร้อย
เรื่องการสรรหา ผอ.ขสมก.ได้นายสุรชัย เอี่ยมวชิรสกุล มาปฏิบัติหน้าที่ นายสุรชัยเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ บริษัท ธนารักษ์สินทรัพย์ ในสังกัดกระทรวงการคลังมาก่อน มีความรู้ ความสามารถในการบริหารงานรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างดี
นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ประชุมเร่งรัด ขสมก.ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.อย่างต่อเนื่อง
ผมและ ผอ.ขสมก.ต้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงต่อคณะกรรมการ คนร.และคณะอนุกรรมการ คนร.ทุกครั้ง ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน
แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะ ขสมก.ขาดทุนจากการดำเนินการ มีหนี้สินสะสม
จำนวนมาก หนี้สินเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยจ่าย ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท (ปัจจุบัน
2564 ขสมก.มีหนี้สินสะสม 132,339,421,673.32 บาท)
ขสมก.ยังมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในอีกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ อันยากที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ
ปัจจัยภายใน อัตราค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงไม่สามารถรับพนักงานใหม่ได้ สถานที่ทำการ (อู่รถ) ต้องเช่าที่รัฐวิสาหกิจและเอกชน ในอัตราค่าเช่าราคาสูงขึ้นทุกปี รถเก่ามาก จัดซื้อจัดหารถใหม่ทดแทนแต่ละครั้งมีปัญหามีข้อ
ขัดข้องมาตลอด
ปัจจัยภายนอก การจราจรติดขัดหนาแน่น มีการสร้างระบบขนส่งมวลชน รถผิดกฎหมายจำนวนมาก เส้นทางประกอบการไม่เป็นระบบและขาดประสิทธิภาพ
ในรายงานประจำปี ขสมก. 2558 ได้เสนอแนวโน้มการให้บริการการเดินทางของประชาชนในเมืองส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพราะเส้นทางครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อมต่อระบบขนส่งรูปแบบอื่น เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า BTS รถแอร์พอร์ตลิงก์ รถแท็กซี่
ดังนั้นจึงมีแผน/โครงการในอนาคต เช่น โครงการจัดหารถปรับอากาศที่ใช้ไฟฟ้า ประหยัดพลังงานและลดมลพิษ โครงการพัฒนาระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิก (ETicket) เพื่อเชื่อมต่อระบบมวลชนอื่นๆ โครงการนำระบบ
GPS มาใช้บริหารการดินรถ
ผมทำงานกับ ขสมก.ครบวาระ 3 ปี (2557-2560) ก็พ้นจากตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ แต่งตั้งประธานบอร์ด ขสมก.และคณะกรรมการชุดใหม่ นายสุรชัย ผอ.ขสมก.ถูกย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
ได้มีการแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่ง รักษาการแทน ผอ.ขสมก. และได้บอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์ที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว
ต่อจากนั้นได้ดำเนินการจัดซื้อรถเมล์ใหม่อีกครั้ง โดยวิธีพิเศษ จำนวน 489 คัน ราคา 4,200 ล้านบาท
มีผู้ร้องเรียน ป.ป.ช.ให้สืบสวนสอบสวนการจัดซื้อรถเมล์ด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว มีการฟ้องคดีอาญา คดีปกครอง เกี่ยวพันกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร ขสมก.คู่สัญญาเดิมกับ ขสมก.และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ฯลฯ
คดี ขสมก.บอกเลิกสัญญา คู่สัญญาได้ฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินว่า ขสมก.บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม ให้ชดใช้เงินค่าเสียหายประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้กับคู่สัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
นายสุรชัย ผอ.ขสมก.ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 ปี (2560-2562) ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม จนหมดวาระเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
วันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงมาเป็นผู้รับผิดชอบ กำกับดูแล ขสมก.ด้วยตนเอง (ที่ผ่านมาหลายสมัย รมว.มอบหมาย รมช.มากำกับดูแล) มีคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก.และ ผอ.ขสมก.คนใหม่
มีภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องมาสะสางการบริหารจัดการ ขสมก.ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดหารถใหม่มาทดแทนรถเก่า และการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.
ผมขอเอาใจช่วยให้ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ ขสมก.ยุติเรื่องราวมหากาพย์รถเมล์ไทยให้ได้ครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ