วันนี้อาเซียน-จีนครบ 30 ปี ใครคือตัวแทนพม่าในที่ประชุมสุดยอด?

วันนี้ครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน...มีประเด็นการเมืองการทูตที่เกี่ยวโยงกับเมียนมาและอาเซียน รวมถึงไทยที่น่าวิเคราะห์หลายประเด็น

ประการแรก สถานทูตจีนในไทยแจ้งว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเข้าร่วมและเป็นประธานการประชุมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียนวันนี้ ณ กรุงปักกิ่ง เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์

ประการที่สองก็คือว่า ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก็คงจะเข้าร่วมประชุมกับผู้นำจีนเนื่องในโอกาสพิเศษนี้

ประการที่สามก็คือ ใครจะเป็นตัวแทนของเมียนมา?

คำถามนี้คงจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงมี “ทูตพิเศษ” ของหลายประเทศบินเข้าเมืองหลวงเนปยีดอว์ของเมียนมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

รวมถึงรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยคือ คุณดอน ปรมัตถ์วินัย ด้วย

การไปพบพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ของคุณดอนจะเกี่ยวกับเรื่องการประชุมสุดยอดของผู้นำจีนกับอาเซียนวันนี้หรือไม่ไม่แน่ชัด

เพราะกระทรวงต่างประเทศไทยยังไม่ได้ตอบคำถามของคนจากวงการต่างๆ ในเรื่องนี้

มีแต่คุณดอนตอบคำถามนักข่าวสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ไปเยือนเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือจากนานาชาติและกลุ่มนักธุรกิจไทย 17 ตัน

และบอกว่าได้เข้าพูดคุยกับมิน อ่องหล่าย แบบ “ทวิภาคี” มีหัวเรื่องที่ “สำคัญ” และ “สร้างสรรค์”

แต่ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับความเคลื่อนไหวทางการทูตหลายๆ ด้านที่มีความคึกคักเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไร

ข่าวจากสื่อต่างประเทศบอกว่า ทูตพิเศษของจีนที่ชื่อ Sun Guaxiang (ซุ่น กั๋วเสียง) ได้พยายามล็อบบี้ให้อาเซียนยอมรับผู้นำทหารเมียนมากลับเข้าร่วมประชุมสุดยอดอีกครั้ง

แต่ข่าวบอกว่า อย่างน้อย 4 ประเทศในอาเซียนไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวทางการทูตบอกว่า อินโดนีเซีย, บรูไน, มาเลเซียและสิงคโปร์ไม่ต้องการให้มิน อ่องหล่าย กลับเข้ามาร่วมประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนวันนี้

โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินโดฯ ยืนยันจุดยืนเดิมของประเทศนั้น คือเมียนมาควรจะส่ง “ตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เข้าร่วมประชุมในนามของเมียนมา

ในการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนที่เพิ่งผ่านมา อาเซียนไม่เชิญมิน อ่องหล่าย เข้าร่วม ขอให้ส่ง “ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” มาร่วม

รัฐบาลทหารพม่าไม่ส่งใครมา ที่นั่งของเมียนมาจึงว่างไป

เหตุผลของอาเซียนก็คือ รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตาม "ฉันทามติ 5 ข้อ" ที่ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อต้นปีนี้ 

หนึ่งในประเด็นหลักของ 5 ข้อนั้นก็คือ การอนุญาตให้ทูตพิเศษของอาเซียนเดินทางเข้าไปพบกับอดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมา

แต่ มิน อ่องหล่าย บอกว่า ทูตพิเศษอาเซียนไม่อาจจะไปพบ อองซาน ซูจี และผู้นำของรัฐบาลพลเรือนก่อนรัฐประหารได้ เพราะมีฐานะเป็นจำเลยที่โดนข้อหาอาญาหลายข้อ

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รับบาลทหารเมียนมาหนักหน่วงที่สุด 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี ยืนยันว่า เมียนมาไม่ควรมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศจนกว่าจะมีการนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา

วงการทูตในอาเซียนบอกว่า ผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการเอเชียคนนี้ ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์และบรูไนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อ “ล็อบบี้” ให้เมียนมาได้กลับเข้าร่วมในการประชุม

แต่ทั้ง 2 ประเทศก็ยังยืนยันจุดยืนเดิมเช่นกัน 

กระแสข่าวเดียวกันบอกว่า ทูตพิเศษของจีนคนนี้ได้กล่าวกับผู้นำทหารเมียนมาที่กรุงเนปยีดอว์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จีนจำเป็นต้องยอมรับจุดยืนเช่นนี้ของอาเซียน 

ในจังหวะเดียวกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว หลี่เจียน พูดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จีนสนับสนุนให้ทุกกลุ่มในเมียนมาหาทางออกผ่านการเจรจา และทำงานร่วมกับประชาคมนานาชาติในการฟื้นฟูความมั่นคงและนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่เมียนมา

แต่มีประเด็นละเอียดอ่อนเข้ามาแทรกตรงนี้

ปีนี้เมียนมามีบทบาทเป็น “ประเทศผู้ประสานงาน” การประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนด้วย

ซึ่งแปลว่าเมียนมาอาจใช้โอกาสนี้ในการแทรกผู้นำรัฐบาลทหารของตนให้ปรากฏตัวผ่านการประชุมออนไลน์ในวันนี้ก็ได้ แม้จะถูกต่อต้านและคัดค้านจากสมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนก็ตาม

ถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้คงจะดูไม่จืดแน่นอน

ในภาวะของความสลับซับซ้อนของปัญหาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับอาเซียนและจีนอย่างนี้ รัฐบาลไทยมีจุดยืนอย่างไร?

รัฐมนตรีต่างประเทศดอนได้เน้นการใช้ “การทูตแบบเงียบๆ” หรือ quiet diplomacy มาตลอด

แต่พอข่าวเรื่องคุณดอน “ดอด” ไปพบ มิน อ่องหล่าย เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว การทูตไทยคงจะ “เงียบ” ไม่ได้อีกต่อไป

คุณดอนยืนยันมาตลอดว่า ประเทศไทยเล่นบท “ปิดทองหลังพระ” เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมและเพื่อช่วยหาทางออกจากวิกฤตในเมียนมา  

ไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กม. จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมา  

 ต่างจากประเทศอาเซียนอื่นที่ส่งเสียงดัง แต่ไม่ต้องรับภาระจากผลกระทบ   

มาถึงวันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า สมาชิกอาเซียนมีจุดยืนต่อเมียนมาที่ต่างกันมาก  

บางประเทศ (อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย) ส่งเสียงกร้าว ต้องการให้ มิน อ่องหล่าย ทำตามที่ตกลงกับอาเซียน

ขณะที่บางประเทศ (ลาว เขมร เวียดนาม) มีเสียงค่อนข้างไปทาง “อ่อย”

จุดยืนของไทย หากฟังจากกระทรวงต่างประเทศไทย ก็จะพยายามยืน “อยู่ตรงกลาง”  

เพราะกระทรวงต่างประเทศไทยเชื่อว่า การกดดันหรือท่าที่แข็งกร้าวไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์  

ต้องใช้วิธีค่อยๆ คุย ค่อยๆ หว่านล้อม ค่อยๆ “นวด” ถึงจะได้ผล    

จึงไม่ต้องแปลกใจหากนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศจะตีความว่า การไปเยือนเมียนมาอย่างเงียบๆ ของคุณดอนก็น่าจะอยู่ในบริบทนี้ 

แต่การที่กระทรวงต่างประเทศไม่ยอมตอบคำถามเรื่องคุณดอนไปพบ มิน อ่องหล่าย ตั้งแต่วันอาทิตย์เป็นต้นมานั้นไม่น่าจะช่วยให้คนไทยได้เข้าใจแนวทางการทูตของเราต่ออาเซียน, เมียนมาและมหาอำนาจทั้งหลายว่าด้วยประเด็นเมียนมาเลย 

ไม่ว่าจะเป็น “การทูตแบบเงียบๆ” หรือไม่ คนไทยก็มีสิทธิ์จะต้องรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ในเรื่องนี้

กระทรวงต่างประเทศไม่บอกคนไทยก็ไม่ได้แปลว่าวงการทูตและสื่อต่างประเทศจะใช้วิธีการ “เงียบๆ” เหมือนกระทรวงต่างประเทศไทยแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ