หรือคำตอบยุติสงคราม อยู่นอกสนามรบ?

เมื่อวานผมเขียนถึง “ฉากทัศน์” บางประการของสงครามยูเครนในปี 2023

คำถามว่าใครจะชนะสงครามนี้ฟังดูง่าย แต่ไม่มีใครตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ไม่มีใครควบคุมได้

ไม่ว่าจะเป็นปูตินหรือเซเลนสกี...หรือแม้แต่โจ ไบเดน หรือสี จิ้นผิง

ฉากทัศน์ที่นักวิเคราะห์บางสำนักกำลังถกแถลงกันอยู่ก็คือ สงครามจะจบลงอย่างไร...ไม่ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ก็ตาม            

คำตอบคือ 'ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด'

ถ้าถาม วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เขาก็ต้องเชื่อว่าในท้ายที่สุดยูเครนก็ต้องยอมรับว่าเพื่อนบ้านที่ใหญ่และแข็งแกร่งกว่าอย่างรัสเซียจะต้องมีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางของภูมิรัฐศาสตร์ใกล้บ้าน

โดยที่เซเลนสกีต้องไม่ไปดึงเอาสหรัฐฯ และนาโตมาเปิดศึกตอบโต้

ประเด็นนี้แหละที่ทำให้นักยุทธศาสตร์ด้านการเมืองบางค่ายสรุปว่านั่นเป็นการคำนวณผิดพลาดอย่างร้ายแรงของปูติน ที่กำลังนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด

ฤดูหนาวจะเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับทุกฝ่ายในการทำสงคราม

เพราะการโจมตีของรัสเซียต่อโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนต้องการมุ่งทำลายขวัญและกำลังใจและความอดทนของประชากรยูเครนที่ถูกทำให้แตกกระสานซ่านเซ็นอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

แต่ความอึดและยืดหยุ่นของคนยูเครนได้พิสูจน์แล้วว่าน่าทึ่งเกินกว่าที่เคยประเมินกันเอาไว้มากนัก

ในเมื่อชาวยูเครนไม่ยอมจำนนต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และยืนหยัดต่อสู้ สงครามจะดำเนินต่อไป

ยิ่งเมื่อกองทัพรัสเซียไม่ได้เก่งกาจอย่างที่เคยประเมินกัน การสู้รบในภาคสนามก็กลายเป็นการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อ

เพราะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจะพิชิตอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่โอกาสในการเจรจาก็มืดมน เพราะทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็ไม่ยอมปรับเงื่อนไขตามอีกฝ่ายหนึ่ง

ถ้าเช่นนั้น จุดจบของสงครามยูเครนจะมาในรูปใด?

ปัจจัยสำคัญก็คงอยู่ที่ว่าฝ่ายใดมีต้นทุนของสงครามมากกว่ากัน

ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือกำลังใจของทหารและประชาชน

และนั่นย่อมมีผลกระทบต่อระดับความมุ่งมั่นของชนชั้นนำทางการเมืองรัสเซียด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปศึกษาสงครามในอดีต เช่น เวียดนามสำหรับสหรัฐฯ

หรืออัฟกานิสถานสำหรับสหภาพโซเวียต

ต่างก็จบลงด้วยตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดคือเงื่อนไขทางการเมืองภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลง

สหรัฐฯ ต้องถอนจากเวียดนาม สหภาพโซเวียตต้องยอมจากลาอัฟกานิสถานก็เพราะการเมืองในประเทศไม่ยอมรับการกระทำของผู้นำทางการเมืองของตนอีกต่อไป

คำถามใหญ่สำหรับสงครามยูเครนในปี 2023 นี้ก็คือ

ประชาชนชาวรัสเซียจะยินยอมให้ปูตินเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไปหรือไม่

และประชาชนจะแสดงออกซึ่งจุดยืนเช่นนั้นอย่างไร

อีกด้านหนึ่งก็อยู่ที่ว่าประเทศตะวันตกจะยังสนับสนุนยูเครนทางอาวุธและการเงินต่อไปจนสงครามสิ้นสุดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ซึ่งก็อยู่ที่ว่าการเมืองในแต่ละประเทศตะวันตกจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดในปีนี้เช่นกัน

ปัจจัยตัดสินก็คือ “ต้นทุนของสงคราม”

อันหมายถึงต้นทุนด้านการเงิน, เศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก

แต่นักการทหารของตะวันตกบางคนยืนยันมั่นเหมาะว่าในท้ายที่สุดภาพที่พวกเขาเห็นก็คือ

'ไม่มีผลลัพธ์อื่นนอกจากความพ่ายแพ้ของรัสเซีย'

นักการทหารตะวันตกเหล่านี้เห็นพ้องกันว่า กองกำลังของยูเครนจะสามารถรับมือได้ดีกว่าของรัสเซีย

เพราะอาวุธและอุปกรณ์สำหรับฤดูหนาวส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร แคนาดา และเยอรมนี

นักวิเคราะห์คณะนี้มองว่า ภายในเดือนมกราคม ยูเครนอาจอยู่ในฐานะที่จะเริ่มช่วงสุดท้ายของการรุกคืบเพื่อการ “ปลดปล่อยคาบสมุทรไครเมีย”

หากเปลี่ยนคำถามจาก “สงครามจะจบลงอย่างไร” เป็น “แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายบรรลุในระยะต่อไปอย่างไร” ก็อาจจะทำให้มองเห็นภาพรวมของสงครามได้ชัดเจนขึ้น

สำหรับฝั่งรัสเซียนั้น กองกำลังที่ระดมพลเพียงครึ่งหนึ่งของรัสเซีย 300,000 นาย อยู่ในเขตสู้รบแล้ว

ส่วนที่เหลือรวมถึงกองกำลังที่เป็นอาสาสมัครที่จะเสริมกำลังหลังจากการถอนตัวของเคอร์ซอน ทำให้รัสเซียมีโอกาสเปิดฉากการรุกในแนวรบอื่น

แน่นอนว่ารัสเซียจะยึดครองภูมิภาค Luhansk และ Donetsk ต่อไป

คาดว่ารัสเซียจะเดินหน้าปฏิบัติการต่อเนื่องยุทธวิธีปัจจุบัน นั่นคือการบดขยี้กองกำลังยูเครนอย่างช้าๆ ในทิศทางแคบและการรุกอย่างช้าๆ เช่นในพื้นที่ Bakhmut และ Avdiivka

เป็นยุทธวิธีที่รัสเซียใช้กับพื้นที่ Svatove-Kreminna

รัสเซียยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายเดิมอย่างต่อเนื่อง คือการทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนและการโจมตีอื่นๆ ต่อแนวหลังของยูเครนคือแผนครบวงจรของรัสเซียที่ต้องการทำลายกำลังของยูเครน

กองกำลังยูเครนที่สำคัญยังได้รับการปลดปล่อยหลังจากการล่าถอยของรัสเซียจากเคอร์ซอน

สำหรับทหารยูเครน ทิศทางที่มีค่าทางยุทธศาสตร์มากที่สุดคือทางใต้ไปยัง Melitopol หรือ Berdiansk

โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดทางเดินบนแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียไปยังแหลมไครเมีย

หากทำได้ก็จะเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของยูเครน

และนั่นเหตุผลสำคัญทางยุทธศาสตร์ภาคพื้นดินที่ทำให้รัสเซียต้องเสริมกำลังให้เมลิโตโปลอย่างแข็งขัน

สรุปว่านักวิเคราะห์ด้านการทหารยังมองว่าการสู้รบในสมรภูมิยังจะดำเนินต่อไป

โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถประกาศชัยชนะได้

และนั่นยิ่งทำให้โอกาสของการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงครามเป็นไปได้ยากขึ้น

เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนมีอำนาจต่อรองสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

อีกทั้งเมื่อความได้เปรียบไม่เทไปข้างใด ก็ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายใดจะยอมลดเงื่อนไขการเจรจาของตน

ดังนั้นท้ายที่สุดคำตอบอาจจะอยู่นอกสนามรบ...และนอกแวดวงของตัวละครที่หมกมุ่นอยู่ในความขัดแย้งนี้ก็เป็นไปได้

สงครามครั้งนี้อาจจะต้องจบลงที่ “ตัวกลาง” ที่ไม่ใช่ “ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง”

หรือเป็นตัวละครที่ “มีส่วนได้มากกว่าเสีย”

ใครจะเล่นบทนั้น...คือคำถามที่ต้องหาคำตอบภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ก่อนที่สงครามจะถูกยกระดับหรือขยายวงกลายเป็นสงครามบานปลายเกินกว่าที่ใครจะควบคุมได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ