พอเปิดปีใหม่มา คำถามใหญ่สำหรับคนที่ติดตามสงครามยูเครนก็คือ : จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
รัสเซียจะชนะหรือยูเครนจะมีชัย?
โอกาสการเจรจาสงบศึกมีแค่ไหน?
ปูตินกับเซเลนสกีจะยังอยู่ในอำนาจอีกนานเพียงใด?
หรือสงครามจะบานปลายกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค?
เศรษฐกิจโลกจะถูกกระทบหนักต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด?
และที่ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ :
ไม่ว่าสงครามจะเดินไปในทิศทางใด “ระเบียบโลก” จะถูกเขย่าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไร?
คำถามทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อคนไทยทั้งสิ้น เพราะไม่ว่า “ฉากทัศน์” ของสงครามจะออกมาทางไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
ผมแบ่งแนวทางการวิเคราะห์ออกเป็นสองสายใหญ่...คือ สายที่เชียร์ปูตินกับสายเชียร์เซเลนสกี
สำหรับคนที่ลุ้นให้รัสเซียแพ้นั้น นักวิเคราะห์ด้านนี้มองว่าจะเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิหลังฤดูหนาวผ่านไป
และการตัดสินใจของรัสเซียที่จะเปิดศึกครั้งใหญ่ในต้นปีหน้านั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของสงคราม
บทเรียนในอดีตมีให้เห็นไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นนโปเลียน ฮิตเลอร์ และสตาลิน ต่างก็เคยต้องเผชิญกับการวางแผนให้กองทัพเคลื่อนพลเมื่อเผชิญกับฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ
ในกรณีของสงครามยูเครน เมื่อรบกันมา 11 เดือนแล้ว ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหยุดพัก
แต่นักวิเคราะห์ที่เทใจไปข้างเซเลนสกีบอกว่ายูเครนมีความพร้อมกว่า
และมีขวัญกำลังใจกับแรงจูงใจที่จะเดินหน้าต่อไป
และคาดหวังว่าทหารยูเครนน่าจะสามารถยังเดินหน้ากดดันทหารรัสเซียในแนวรบหลายจุด...อย่างน้อยก็สมรภูมิทางตะวันออกคือดอนบาส
นักวิเคราะห์ทางทหารบางค่ายมองว่า รอบๆ เมืองเครมินนาและสวาโตฟทางตะวันออกนั้น ทหารยูเครนเตรียมการบุกทะลวงครั้งใหญ่ที่จะมีผลทำให้กองกำลังรัสเซียต้องถอยร่นไปอย่างน้อย 60 กิโลเมตร ซึ่งหมายถึงการถูกดันกลับไปยังแนวป้องกันตามธรรมชาติถัดไป
หรือใกล้กับจุดที่ทหารรัสเซียคุมกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่รุกเข้ามาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
จึงเชื่อได้ว่าทหารยูเครนจะยังไม่หยุดการสู้รบทางตะวันออก แต่ก็อาจจะชะลอการรุกคืบทางตะวันตกเฉียงใต้หลังจากการฟื้นตัวของกองทัพที่ภูมิภาคเคอร์ซอน
นักการทหารที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของทหารฝั่งยูเครนบอกว่า การคาดการณ์ว่าพวกเขาจะข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ Dnipro เพื่อกดดันถนนและทางรถไฟที่เปราะบางของรัสเซียที่เชื่อมโยงเข้าสู่ไครเมียอาจเป็นการคาดหวังทางบวกมากเกินไป
สำหรับปี 2566 ใหม่นี้ปัจจัยสำคัญคือชะตากรรมของการรุกในฤดูใบไม้ผลิของรัสเซียว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ปูตินยอมรับว่ากองกำลังที่เพิ่งระดมพลประมาณ 50,000 นายอยู่แนวหน้าแล้ว
แต่อีก 250,000 คนที่เพิ่งระดมกำลังกำลังฝึกเพื่อความพร้อมในวันข้างหน้า
ทั้งสองฝ่ายพูดถึงการเจรจาเพื่อสันติภาพ
แต่ก็เห็นชัดว่า การบรรลุข้อตกลงเช่นนั้นเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง
เพราะยูเครนประกาศแล้วว่าจะไม่หยุดยิง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ปูตินพักรบ จัดทัพใหม่เพื่อจะรุกหนักกว่าเดิม
เซเลนสกีไม่เชื่อว่าปูตินมีความจริงใจที่จะแสวงหาสันติภาพ
และปูตินก็ระแวงเซเลนสกีว่าอาจจะพยายามใช้อาวุธชุดใหม่จากตะวันตกเพื่อโหมการสู้รบเพื่อสร้างความได้เปรียบในสนามรบ
ฉากทัศน์อีกด้านหนึ่งคือ หากการสู้รบยังดำเนินไปในแนวทางที่เห็นอยู่ขณะนี้ ยูเครนอาจจะสามารถตีคืนดินแดนที่ทหารรัสเซียยึดครองเอาไว้ในขณะนี้ได้
นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งทางตะวันตกเชื่อว่ายูเครนจะได้รับชัยชนะโดยการฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายในฤดูใบไม้ผลิในปีนี้เป็นอย่างช้า
แนววิเคราะห์นี้ฟังดูจะ “โลกสวย” ไปหน่อยไหม
แต่นักวิเคราะห์สายนี้อ้างว่ามีปัจจัยสนับสนุนอย่างน้อยสองประการ
หนึ่งคือ แรงจูงใจ ความมุ่งมั่น และความกล้าหาญของกองทัพยูเครนและประชาชนชาวยูเครนโดยรวม ที่อยู่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ โลกตะวันตกพอจะสรุปได้แล้วว่าจะต้องสนับสนุนยูเครนให้ได้ชัยชนะ เพราะหาไม่แล้วหากรัสเซียสามารถปราบยูเครนสำเร็จ สมการแห่งอำนาจในยุโรปจะถูกกระทบอย่างหนัก
ถือเป็นความท้าทายทางประวัติศาสตร์ที่ยุโรปตะวันตกไม่อาจจะยอมรับได้
อ่านถ้อยแถลงล่าสุดของ Jens Stoltenberg เลขาธิการใหญ่ของ NATO ก็พอจะเข้าใจถึงความตระหนักของโลกตะวันตกต่อรัสเซียวันนี้
“ราคาที่เราจ่ายคือเงิน ในขณะที่ชาวยูเครนจ่ายด้วยเลือด หากรัฐบาลเผด็จการเห็นว่ากองกำลังได้รับรางวัลจากการรุกราน เราทุกคนจะต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่ามาก และโลกจะกลายเป็นโลกที่อันตรายมากขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน”
และแน่นอนว่าจังหวะที่จะคว้าชัยชนะของยูเครนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นจะถูกกำหนดโดยความเร็วที่นาโตสามารถส่งชุดอาวุธโจมตีทางทหารชุดใหม่ที่สามารถเปลี่ยนเกมในสนามรบได้อย่างเป็นรูปธรรมให้กับยูเครน
นั่นหมายรวมถึงรถถัง เครื่องบิน และขีปนาวุธพิสัยไกล เป็นต้น
นักวิเคราะห์สายนี้คาดว่า Melitopol จะกลายเป็นแนวรบของการต่อสู้ที่ดุเดือดอีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เหตุก็เพราะหากทหารยูเครนเข้ายึดครองเมลิโทโปลได้สำเร็จก็จะสามารถเคลื่อนทัพเข้าสู่ทะเล Azov ได้อย่างง่ายดาย
นั่นเท่ากับเป็นการตัดสายส่งและการสื่อสารไปยังคาบสมุทรไครเมียที่ทหารรัสเซียยึดครองมา 8 ปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากเป็นเช่นนี้ รัสเซียก็จะต้องยอมรับว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของปูตินครั้งนี้ล้มเหลว
เมื่อรัสเซียไม่สามารถเอาชนะในสนามรบได้ ก็ต้องยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขส่วนใหญ่ของยูเครน
และฉากทัศน์ที่แนววิเคราะห์นี้มองก็คือ ประเทศด้านตะวันตกและยูเครนจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบ “สถาปัตยกรรมความมั่นคง” ระหว่างประเทศใหม่
ยังมีรายละเอียดที่ต้องวิเคราะห์กันอีกหลายแง่มุม พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ