บันดารานายาเก-เนกอมโบ

แถวเช็กอินของสายการบิน Srilankan Airlines ยาวออกมาเกือบถึงประตูอาคารผู้โดยสารขาเข้า ส่วนใหญ่เป็นคนศรีลังกาบินกลับประเทศ ฝรั่งอีกจำนวนหนึ่ง และตอนหลังมีคนไทยมาต่อท้ายแถวนับสิบคน เป็นหนุ่มสาววัยแรงงาน ซึ่งไม่น่าใช่นักท่องเที่ยว

เนื่องจากเป็นการเดินทางในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด เอกสารที่ใช้ยื่นให้พนักงานเช็กอินจึงมีมากกว่าปกติ เวลาการตรวจสอบเอกสารก็มากตามไปด้วย และยิ่งชาวศรีลังกาซื้อของชิ้นใหญ่ขนกลับประเทศกันเกือบทุกคน เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมงเต็ม กว่าจะถึงคิวของผม

ถึงแล้วศรีลังกา ตุ๊กๆ ในเมืองเนกอมโบ ประมาณ 30 กิโลเมตรทางเหนือของกรุุงโคลัมโบ

พนักงานเช็กอินขอเอกสารผลตรวจโควิดแบบ RT-PCR เป็นสิ่งแรก แล้วจึงขอใบอนุญาตเดินทางเข้าศรีลังกา เรียกว่า ETA ย่อมาจาก Electronic Travel Authorization หรือการอนุญาตเดินทางเข้าประเทศแบบอิเล็กทรอนิก เราต้องสมัครออนไลน์มาก่อน ทางสถานทูตศรีลังกาจะส่งอีเมลแนบเอกสารอนุญาตมาให้ แต่ผมไม่ได้รับอีเมล เขียนไปทวงก็ไม่มีคำตอบกลับมา เช็กสถานะทางเว็บไซต์ที่ปุ่ม Check Status ผลออกมาระบุว่า ETA is approved ผมจึงปรินต์จากหน้าเว็บไซต์มาแสดงแทน พนักงานประจำเคาน์เตอร์เกรงว่าจะใช้ไม่ได้ ผมโชว์หลักฐานการจ่ายเงิน 36.46 USD ให้ดู เขาเดินออกไปถามซูเปอร์ไวเซอร์ที่ยืนคุมความเรียบร้อยอยู่แถวนั้น หลังจากปรึกษากันแล้วก็พยักหน้าให้ผมรับรู้ โล่งอกไปที ยอมรับว่าผมเองก็ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าใช้ได้

ศรีลังกาเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข้อแม้ว่าต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่เกี่ยงยี่ห้อ และต้องมีผลตรวจโควิดแบบ RT-PCR เป็นลบ ไม่นานกว่า 72 ชั่วโมงก่อนบิน และเมื่อเดินทางถึงศรีลังกาแล้วก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ นอกจากว่าผู้โดยสารจะออกอาการน่าสงสัย

สาเหตุที่ผมเลือกศรีลังกาก็เพราะไปถึงแล้วไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องตรวจโควิดซ้ำ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันหลัก 6-7 ร้อย เสียชีวิตหลักสิบ (ก่อนหน้านี้หนักเอาการ) อัตราส่วนผู้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 22 ล้านคน ศรีลังกาติดโผเข้ามาเป็น 1 ใน 63 ประเทศเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัวจากการประกาศรอบ 2 ของ ศบค. ทำให้เพิ่มความสะดวกตอนขากลับ และเหตุผลสำคัญคือยังไม่เคยไปเยือน

ตัวผมนั้นฉีดวัคซีนซิโนแวคมา 2 เข็ม ก่อนตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 เข็ม เพื่อความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนที่รอคอยมา 2 ปีเต็มพอดิบพอดี ส่วนคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 เข็ม แล้วให้สัมภาษณ์ว่าต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม เพราะสวิตเซอร์แลนด์ไม่ให้คนฉีดซิโนแวคเข้าประเทศ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นจริงหรือ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศนี้ประกาศรับรองการใช้วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติ อย่างซิโนแวคนี่ก็รับรองมาตั้งแต่กลางปีแล้ว คนรับข่าวสารก็งงกันไปใหญ่

แหล่งรวมข้อมูลการเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงนี้ อยากรู้ว่าประเทศไหน เข้าได้-ไม่ได้ สามารถเช็กจากเว็บไซต์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ IATA Travel Centre เลือก COVID-19 Travel Regulations แค่คลิกแผนที่ประเทศในเว็บไซต์ก็จะมีเงื่อนไขแสดงอยู่ทางขวามือ

เที่ยวบินสุวรรณภูมิ-บันดารานายาเก ใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็ลงจอดที่ปลายทาง พนักงานต้อนรับบนเครื่องกล่าว “อายุโบวัน” หรืออายุบวร เมื่อผู้โดยสารเดินออกจากเครื่อง บริเวณประตูทางเข้า “ตรวจคนเข้าเมือง” ของสนามบินนานาชาติของประเทศศรีลังกา ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เขียนข้อความตรงฐานว่า Namo Budhaya (นะโม พุทธายะ) เหมือนบอกเป็นนัยว่าถึงประเทศนี้จะมีพลเมืองนับถือ 4 ศาสนาหลัก แต่ส่วนใหญ่คือชาวพุทธ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

เจ้าหน้าที่ประจำช่องถามหาบัตรขาเข้าแล้วชี้ให้ผมไปหยิบและกรอกข้อมูล สตรีคนหนึ่งเดินเข้ามาถามเป็นภาษาอังกฤษตะกุกตะกัก ผมชิงตอบไปก่อน “ใช่ครับ คนไทย” เธอถามวิธีการเข้าอินเทอร์เน็ตที่ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เธอบอกว่ามาทำงานที่ศรีลังกา มีคนรอรับอยู่ด้านนอกสนามบิน จากนั้นผมก็ให้เธอลอกข้อมูลจากบัตรขาเข้าของผม อธิบายเพิ่มเติมว่าช่องไหนเขียนอะไร ซึ่งข้อมูลที่แบบฟอร์มต้องการ ได้แก่ ชื่อ หมายเลขพาสปอร์ต หมายเลขเที่ยวบิน สนามบินต้นทาง วันที่เดินทางมาถึง ที่อยู่ในศรีลังกา และลายเซ็น ปัญหาของน้องผู้หญิงคนนี้คือไม่ทราบที่อยู่ ผมหมดปัญญาช่วย ไม่กล้าให้เธอลอกที่อยู่ อวยพรให้เธอโชคดีแล้วเดินออกมา

ผมพยายามยื่นเอกสารมากมายหลายฉบับให้ลุงเจ้าหน้าที่ แกรับไปแค่บัตรขาเข้าและพาสปอร์ต ขอให้เปิดหน้ากากดูหน้าว่าตรงกับพาสปอร์ตหรือไม่ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ติดตราเข้าเมืองและแสตมป์ใบอนุญาตลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2021 อยู่ในศรีลังกาได้ 30 วัน ที่ง่ายและไวเพราะแกดูข้อมูลจากจอคอมพิวเตอร์ที่ผมส่งมาก่อนแล้วนั่นเอง มีหลักฐานการฉีดวัคซีนรวมอยู่ด้วย

การเดินทางมายังศรีลังกานั้นนอกจากจะขอ ETA แบบออนไลน์แล้วก็ยังสามารถมาขอแบบ On Arrival ได้ด้วย แต่ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ทางรัฐบาลศรีลังกาจำกัดปริมาณการให้ ETA แบบ On Arrival ลง ซึ่งนักเดินทางขอแบบออนไลน์มาจะดีกว่ามากหากว่าไม่รีบร้อนบินเกินไป ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้เรียก “วีซ่า” ซึ่งวีซ่านั้นต้องไปขอกับสถานทูต อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ETA ระยะ 30 วันนี้สามารถขยายเวลาได้เมื่ออยู่ในศรีลังกาไปแล้วระยะหนึ่ง ก่อนครบ 30 วัน

ออกมาจากตรวจคนเข้าเมือง เดินผ่านร้านค้าปลอดภาษี มากกว่าครึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผมส่องอยู่ครู่หนึ่งก็ตัดใจเดินผ่าน ลงบันไดเลื่อนไปรับกระเป๋าจากสายพาน สะพายขึ้นหลัง เป้ใบเล็กสะพายด้านหน้า มองหาทางออก แต่ใจกลับคิดตรึกตรองถึงอีกสิ่ง แล้วเดินกลับไปยังบันไดเลื่อน เจ้าหน้าที่ทำท่าห้าม ผมบอกว่าขอกลับไปซื้อสินค้าปลอดภาษีจะได้ไหม เขาบอกว่าได้ แต่เดินขึ้นนะ บันไดเลื่อนมีไว้สำหรับลงอย่างเดียว

หยิบได้ Tamnavulin ซิงเกิลมอลต์จาก Speyside สกอตแลนด์ ขนาด 700 มิลลิลิตร พอเหมาะสำหรับจิบเป็นโอสถก่อนนอนระหว่างการเดินทาง 2 สัปดาห์นิดๆ จ่ายเงินแล้วกลับลงไปชั้นล่าง ออกจากโถงรับกระเป๋า แล้วเข้าสู่ห้องสำหรับตรวจ Health Declaration Form หรือแบบฟอร์มเปิดเผยสถานะสุขภาพ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจกให้คนละชุด แต่ผมไม่ได้กรอก เพราะส่งออนไลน์มา 1 วันล่วงหน้า ในนั้นมีผลตรวจโควิดอยู่ด้วย ให้เจ้าหน้าที่สแกน QR CODE ที่แค็บหน้าจอไว้ในมือถือก็เป็นอันเรียบร้อย ได้รับสลิปกระดาษแผ่นเล็กๆ ของกระทรวงสาธารณสุขศรีลังกา ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจ PCR” ประทับข้อความฉีดวัคซีนแล้ว และลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ ออกจากห้องนี้ไปสู่โถงต้อนรับผู้โดยสารขาเข้า มองหาโชเฟอร์ที่ถือกระดาษเขียนชื่อของผม

โทษตัวเองที่กลับขึ้นไปซื้อสินค้าปลอดภาษี จนอาจเป็นเหตุให้โชเฟอร์เลิกคอย แต่คิดอีกทีเขายังไม่ได้ตังค์แล้วจะรีบหนีไปทำไม ผมเดินดูชื่อบนกระดาษที่คนมารอรับทั้งหลายถืออยู่ ดูรอบแล้วรอบเล่า คนที่นั่งอยู่ไม่ถือให้ เห็นผมก็เข้าไปขอดูใกล้ๆ ไม่มีชื่อ Witoon อยู่ในนั้น ดูจนบางคนออกท่าทางให้เห็นว่า “ดูหลายรอบแล้วนะนายจ๋า”

ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ผมลองเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยสัญญาณ WIFI ฟรีของสนามบิน เข้าได้สำเร็จก็ส่งข้อความไปบอกเอเยนซีบุ๊กกิงดอทคอมว่าไม่มีใครมารับ รอคำตอบอยู่ราว 10 นาที เจ้าหน้าที่ในเสื้อเชิ้ตสีชมพูเดินเข้ามาหา ดูน่าเชื่อถือได้เพราะมีป้ายห้อยคอ ผมแอบอ่านแปลได้ประมาณว่าเป็นเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวประจำสนามบิน เขาบอกว่าบุ๊กกิงดอทคอมไม่มาหรอก ผมถามว่าทำไม เขาตอบว่าเพราะไม่เคยมาน่ะสิ

เขาคิดว่าผมเป็นคนจีน หรือไม่ก็ญี่ปุ่น ขอเบอร์ที่พัก แล้วกดโทรศัพท์ให้ผมคุย ปลายสายบอกว่าไม่รู้ว่าผมจองรถมารับที่สนามบิน ขอให้ผมนั่งแท็กซี่ไปเอง พ่อหนุ่มคนนี้เขียนใบจองแท็กซี่ให้ ราคา 10 เหรียญฯ ระบุในช่องเงินศรีลังกา 2,000 รูปี ถูกกว่าที่จองไว้เกือบเท่าตัว เขาบอกว่าเป็นราคามาตรฐาน เรียกมากกว่านี้ไม่ได้สำหรับเขตเมืองเนกอมโบ ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ส่วนถ้าจะเข้าโคลัมโบราคา 20 เหรียญฯ ระยะทางราว 30 กิโลเมตร

ผมเลือกพักคืนแรกที่เนกอมโบ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของสนามบินบันดารานายาเก เพราะบินมาถึงช่วงเวลาฟ้ามืดแล้ว ไม่อยากเข้าไปงงๆ ในโคลัมโบตอนค่ำ และเท่าที่อ่านข้อมูลการท่องเที่ยวของเนกอมโบมาก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าพลเมืองคริสต์ศาสนิกชนที่มีอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรศรีลังกา ส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองนี้

เขารับเงินไปจากผมแล้วก็เดินนำทางสู่ภายนอกอาคาร จ่ายเงินให้ลุงคนหนึ่งในสกุลรูปี ผมไม่แน่ใจว่าเขาให้ลุงคนนั้นไปเท่าไหร่ เขาลาผมด้วยการเอาหมัดมาชน อวยพรให้โชคดี แล้วเดินกลับเข้าไปในอาคาร

เวลาตอนนี้ประมาณเกือบ 1 ทุ่มของศรีลังกา ซึ่งช้ากว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมงครึ่ง ลุงคนนั้นเดินนำผมพาข้ามถนนไป 1 ช่อง แล้วรอประมาณ 1 นาที มีแท็กซี่ขับเข้ามาจอด เป็นรถสเตชั่นแวกอน ผมดูไม่ออกว่าเป็นยี่ห้ออะไร ลุงบอกว่ารถคันใหญ่นั่งสบาย เชิญเลย ขอให้บอกสถานที่กับคนขับเอาเอง

ผมไม่ทันสังเกตว่าลุงแกให้เงินกับหนุ่มโชเฟอร์แท็กซี่หรือไม่ เขาอาจต้องกลับมารับเงินเมื่อส่งผมเสร็จแล้ว ผมก็ไม่ได้ถามหนุ่มโชเฟอร์ เขาสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เสื้อเชิ้ตรีดอย่างดี หวีผมเรียบ อารมณ์คึกคัก ชวนคุยตลอดทาง และคิดว่าผมเป็นคนจีน หรือไม่ก็ญี่ปุ่น

เห็นธงฉัพพรรณรังสีตตั้งอยู่หน้ารถ ธงนี้คือธงพุทธศาสนาสากล ออกแบบโดยพุทธสมาคมโคลัมโบ เมื่อปี พ.ศ.2423 ผมก็ถามโชเฟอร์ว่า “คุณเป็นชาวพุทธหรือ?” เขาตอบว่า “มาย ไวฟ์” ส่วนตัวเขาเป็นคาทอลิก แล้วจับเหรียญรูปพระแม่มารีที่แขวนกับกระจกมองหลังให้ดู

เขาให้เบอร์โทรศัพท์ผมไว้ บอกชื่อ “สุรังกะ” ขอให้โทร.หาหากต้องการให้ไปส่งที่สนามบินตอนจะกลับเมืองไทย สุรังกะไม่ทราบที่อยู่ของที่พัก ขอให้ผมพิมพ์ลงในแผนที่กูเกิลมือถือของเขา แผนที่พาเราผ่านตัวเมืองเนกอมโบเข้าสู่ถนน Lewis Place ถนนที่ขนานไปกับชายหาดเนกอมโบ แต่มองไม่เห็นชายหาด เพราะบรรดาบ้านเรือน โรงแรม และแนวต้นไม้คั่นขวางไว้

ถึงที่พักของผมแล้วสุรังกะยังไม่ออกรถกลับออกไปทันที เพราะลุงเจ้าของที่พักแกไม่ค่อยมั่นใจว่าผมจะเป็นลูกค้าของแก แต่หลังจากตรวจสอบอยู่ได้สักพักและเห็นว่าผมไม่มีท่าทีกังวลแล้ว สุรังกะก็ขับรถออกไป ผมไม่คิดว่าเขาจะรอทิป ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็เดาออกมาตอนที่เขากลับไปแล้ว ถึงจะคิดได้ก่อน ผมก็ไม่มีเงินรูปีศรีลังกาอยู่ดี ส่วนดอลลาร์มีต่ำสุุดใบละ 20 เหรียญฯ และฐานะยังไม่ดีพอที่จะทิปมากขนาดนั้น

ได้ห้องพัก อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเดินออกไปหามื้อค่ำ ลุงมาร์คัส เจ้าของที่พักแนะให้เดินไปทางซ้ายมือ ถูกใจร้านไหนค่อยเลือกเอา ออกจากซอยแคบๆ ของเกสต์เฮาส์แล้วผมเจอกับหนุ่มโย่งขับตุ๊กๆ เขาบอกทางแก่สุรังกะก่อนหน้านี้ตอนจีพีเอสรวนๆ

หนุ่มโย่งถามผมว่า “เป็นคนจีนใช่ไหม หรือญี่ปุ่นล่ะ” แล้วชวนผมไปนวดทันที ผมตอบว่ามาจากเมืองไทย นวดเสร็จแล้วถึงบินมา เขาเลยแนะนำอย่างอื่นอีกสารพัด ผมนึกขึ้นได้ “นายมีบริการแลกเงินไหม” เขาตอบว่า “มี”

ตกลงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้แล้วเขาเดินนำไปที่ร้านให้เช่ามอเตอร์ไซค์และขายทัวร์ คนในร้านขอให้รอ 1 นาที เขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปเอาเงินมาให้ผม แต่จำนวนน้อยกว่าที่ผมตกลงกับหนุ่มโย่ง เขาว่าเรตนั้นสูงไป แต่เขาก็เพิ่มให้จนผมพอใจ หนุ่มโย่งเสนอร้านที่เป็นผับ ผมปฏิเสธเพราะกลัวโควิด ขอเป็นร้านอาหารโปร่งๆ ดื่มเบียร์ได้ เขาตกลง คิดค่ารถ 100 รูปี หรือไม่ถึง 20 บาท (1 บาทไทยมีค่าประมาณ 6 รูปีศรีลังกา)

ขับไปได้ประมาณ 1 กิโลเมตร เขาจอดและชี้ให้ดู “นี่ไง โรดิโอผับที่ผมแนะนำ” ความจริงลักษณะเป็นบาร์แอนด์เรสเทอรองต์มากกว่า ผมเลือกร้านนี้ หนุ่มโย่งขอเงินเพิ่ม ผมให้ตามที่ตกลงไว้ และบอกเขาว่าเดี๋ยวก็เจอกันอีก

Rodeo เป็นร้านมีหลังคาก็จริง แต่เปิดด้านหน้า มี 2 ชั้น ไม่มีแอร์ ดีเจกำลังเปิดเพลงแดนซ์ คนในร้านที่มีอยู่ประมาณ 4-5 โต๊ะ ไม่มีใครใส่หน้ากาก มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ที่เป็นผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตทุกคน หันมาทักทายทุกครั้งที่เดินผ่านหน้าผมไป บริกรใส่หน้ากาก รับออเดอร์ไปแล้วนำช้อนและมีดมาวางบนโต๊ะ ซึ่งผ้าปูโต๊ะดูไม่ค่อยสะอาด ผมหยิบมาถือ แล้วแอบเช็ดกับด้านในของเสื้อยืด วางไว้บนหมวกแก๊ป จากนั้นเบียร์ Lion ขวดใหญ่ก็มาวางพร้อมแก้ว จะบรรยายรสชาติเดี๋ยวก็หาว่าโฆษณา เอาเป็นว่า “ผ่าน”

ขณะรออาหารผมก็สังเกตเห็นว่าคนหนุ่มสาวชาวเนกอมโบดื่มวิสกี้เทลงแก้วแล้วเทน้ำ โซดา หรือน้ำอัดลมตามลงไป ไม่มีน้ำแข็ง วิสกี้ที่ดื่มคือยี่ห้อชีวาสรีกัล ไม่มีกับแกล้มกินจุกกินจิกแบบคนไทย ฝรั่งชาย-หญิงคู่หนึ่งดื่มเบียร์นั่งอยู่ตรงบาร์เคาน์เตอร์ และออกจากร้านไปตอนที่คณะคนหนุ่มเนกอมโบออกไปวาดลวดลายบนฟลอร์หน้าบูธดีเจในเพลงแดนซ์ที่มีกลิ่นอายคล้ายอินเดีย ท่าเต้นก็ออกไปทางอินเดียเช่นกัน

หมดชุดสเต๊กทูน่าพร้อมๆ กับสิงโตชนิดน้ำแล้วผมก็เดินออกจากร้าน มองหาหนุุ่มโย่ง แต่ไม่เจอ ปฏิเสธตุ๊กๆ ไป 3 คัน แล้วตัดสินใจขึ้นคันที่ 4 กลับที่พัก ผมขอให้เขาจอดแวะร้านชำเพื่อซื้อน้ำดื่มขวดใหญ่

ในร้านชำ จากแค่ต้องการซื้อน้ำ หนุ่มเครายาวเจ้าของร้านเสนอขายทัวร์ ผมไม่สนใจ เสนอรถเช่า ผมไม่สนใจ เสนอขายของที่ระลึก ผมไม่สนใจ เสนอขายเครื่องประดับ และอีกหลายอย่าง โดยงัดเอาใบอนุญาตขายเครื่องประดับออกมาโชว์ด้วย ผมไม่สนใจ เขายังไม่ละความพยายาม บอกว่าไปเที่ยวเขตภูเขากลางประเทศต้องมีสเปรย์ฉีดกันยุงนะ เขามีน้ำมันทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ แล้วพูดเปรยๆ ว่าตั้งแต่เกิดโควิดเพิ่งจะได้เปิดร้านเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ผมตัดสินใจซื้อมาในราคา 550 รูปี หรือประมาณ 100 บาท ถึงที่พักอ่านวันผลิตเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน จะหมดอายุในเดือนหน้า

ทำให้คิดขึ้นว่าถ้าศรีลังกาเปิดประเทศช้ากว่านี้ จะมีอะไรหมดอายุลงอีกบ้าง เช่นเดียวกับบ้านเรา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทหารก็ไม่เอา...เจ้าก็จะล้ม ยังชื่นชมกันอีกหรือ

นักการเมืองบางคน (ย้ำ บางคนนะ ไม่ใช่ทุกคน) ที่มีพฤติกรรมแบบมนุษย์ยุคไดโนเสาร์ เล่นการเมืองกันแบบน้ำเน่า แย่งกันเป็นรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของตน

อินทรีคืนถิ่น!

เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ "สีกากี" หลายโรงพัก หลายกองบังคับการ หลายกองบัญชาการ จัดพิธีและงานเลี้ยงอำลาตำรวจวัยเกษียณในสังกัดกันไปบ้างแล้ว

น้ำฝนท่วมเชียงราย...น้ำลายท่วมจอ

ในขณะที่พายุนำพาน้ำฝนมาถล่มภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างต้องเผชิญกับอุทกภัย มีความลำบากยากเข็ญ ทั้งน้ำหลาก

ขอส่ง'กำลังใจ'แด่ผู้ประสบภัยพิบัติทั้งหลาย

เจอกับ สายน้ำหลั่งกรากเชี่ยวหวาดเสียวใจ ที่มาพร้อมๆ กับ นารีขี่ม้าขาว รายใหม่...เล่นเอาบรรดาผู้คนในภาคเหนือของบ้านเรา น่าจะอ่วมอรทัยอยู่พอสมควรทีเดียว