ลาก่อนปีเสือป่วย-สวัสดี ปีกระต่ายที่ต้องปราดเปรียว!

วันนี้วันสุดท้ายของปีเสือ กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีกระต่าย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ถูกกำหนดโดยการผันแปรของเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อผู้คนที่วงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยเราจะต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลที่จะมาหลังการเลือกตั้งอย่างหนัก

เพราะเมื่อโจทย์ด้านเศรษฐกิจและสังคมยุ่งยากและซับซ้อนขึ้นอย่างมาก   แต่คุณภาพของการเมืองไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นแม้แต่น้อย เราก็คงหวังไม่ได้ว่าสภาพบ้านเมืองปีหน้าจะมีความสดใสอย่างที่เรามีสิทธิจะหวังได้

สำหรับคนไทย ปี 2566 จะเต็มไปด้วยความคึกคักด้านการเมือง เพราะจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

แต่ถ้าถามว่า คนไทยพอจะหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้วมีรัฐบาลใหม่หรือไม่

คำตอบก็จะมาในรูปคำถามว่า: มีเหตุอันใดที่จะทำให้เห็นว่าคุณภาพของนักการเมืองที่จะได้รับเลือกครั้งนี้จะโดดเด่นไปจากทุกครั้งที่ผ่านมาหรือ

ถ้าถามคนไทยที่ไม่เลือกข้าง ไม่คิดว่าตัวเองอยู่ฝ่ายไหน พยายามจะติดตามข่าวสารการเมืองด้วยการฟังจากหลายๆ แหล่งข่าว ส่วนใหญ่ก็น่าจะเชื่อว่าทุกอย่างยังไม่แตกต่างไปจากเดิม

เพราะดูจาก “ตัวเลือก” ที่ถูกเสนอมาในรูปของพรรคการเมืองหรือโฉมหน้าของนักการเมืองที่เป็นข่าวคราวว่าใครย้ายไปไหนบ้าง ก็คงพอจะเห็นภาพว่า

การเมืองไทยยังไม่ได้ขยับไปข้างหน้าอะไรเลย

อาจจะมีการส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวมากขึ้น อาจจะสวมเสื้อตัวใหม่ อาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่กันมากมาย

แต่เนื้อหาและสาระของการเมืองยังย่ำอยู่กับที่

เสมือนคำเปรียบเปรยโบราณว่า “ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม”

เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและกติกาสังคมส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม

ในเมื่อระบบอุปถัมภ์ยังเป็นแนวทางหลักของสังคม

และความสามารถในการเชื่อมโยงกับอำนาจและบารมีเดิมๆ ยังเป็นตัวตัดสินว่าใครจะมีบทบาทอะไรอย่างไร

เราก็คงหวังความเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญไม่ได้

เพราะแม้การกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้างขึ้น ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกมากขึ้น และเพื่อให้คำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน” มีความหมายในทางปฏิบัติอย่างจริงจังยังดูห่างไกลจากความเป็นจริง ดังนั้นเราจึงคงจะยังต้องหวังเพียงว่าสถานการณ์จะไม่เสื่อมทรุดลงมากกว่าเดิม

วัดได้จากการที่ดัชนี “ความสามารถในการแข่งขัน” ของไทยในเวทีสากลยังไม่กระเตื้อง

ตรงกันข้าม กลับทำท่าว่าจะร่วงหล่นลงมาตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ

เหตุเพราะเรายังไม่สามารถจะลงมือเขย่าระบบการศึกษาและการสร้างกลไกของการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะทันกับศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด

เมื่อเราไม่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในประเทศ เราก็ย่อมไม่อาจจะคาดหวังที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับสากลได้

นั่นคือ “จุดบอด” ของประเทศที่จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถยกระดับคุณภาพของ “คน” ในทุกวงการได้

ความหวังที่พอจะเห็นอยู่บ้าง ก็อาจจะอยู่ที่ว่านักการเมืองรุ่นปัจจุบันนั้นคงจะมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในวงการการเมืองก็คงจะเป็นการเลือกตั้งรอบใหม่ในปีหน้านี้เท่านั้น       

เพราะหลังจากรุ่นนี้แล้ว นักการเมืองที่หวังจะสร้างเนื้อหาและคุณภาพที่ตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการสาระและเนื้อหามากขึ้นต้องเป็นรุ่นต่อจากนี้ไป

นั่นคือนักการเมืองรุ่นกลางๆ และใหม่ๆ ที่เราเห็นอยู่ในยุคนี้ที่เริ่มจะเอาจริงเอาจังกับการนำเสนอนโยบายที่สะท้อนถึงความต้องการของคนไทยในยุคใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

คำว่า “วาทกรรม” หรือ “บ้านใหญ่” และ “ระบบอุปถัมภ์” ที่เป็นหลักของการตัดสินใจว่าใครจะได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างที่เป็นมาในสังคมไทยยาวนานนั้น จะเริ่มปรับเปลี่ยนในยุคหลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ค่อนข้างจะแน่นอน

ทั้งนี้ เป็นเพราะโลกในยุคดิจิทัลที่กำลังมีผลกระทบต่อทุกสาขาวิชาชีพและทุกวงการสังคมวันนี้ไม่อนุญาตให้เราบริหารประเทศนี้แบบ “ตามมีตามเกิด” อย่างที่ผ่านมาได้อีกต่อไป

การปรากฏตัวของโซเชียลมีเดีย, การล่มสลายของมาตรฐานเก่า, การใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในการตัดสินแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้วิธีการตัดสินโดย “ผู้หลักผู้ใหญ่” หรือผู้มีตำแหน่งสำคัญๆ เท่านั้นกำลังจะหมดไป

แม้แต่สถาบันการเมือง เช่น รัฐสภา,  รัฐบาล และ กลไกรัฐทั้งหลายทั้งปวง หากไม่ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็จะหมดความหมาย

ที่เคยเป็นการรวมศูนย์อำนาจเพื่อให้การตัดสินใจเกิดขึ้นได้เฉพาะจากยอดของพีระมิดของโครงสร้างการบริหาร  (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ก็จะถูกกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

คำว่า “อาวุโส” จะไม่ได้นับกันที่อายุหรือตำแหน่งอีกต่อไป

หากแต่คุณภาพของการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับว่าใครมีข้อมูลที่แม่นยำและตรงเป้ามากกว่า

หรือใครที่ระบบการวิเคราะห์และออกแบบที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของสังคมในวันข้างหน้า

แม้แต่ระบบการเมืองก็จะถูกบังคับให้ต้องกระจายอำนาจและการตัดสินใจไปยังผู้คนในทุกระดับ

ไม่ว่าผู้ที่เชื่อว่าตนคือผู้กุมอำนาจในระบบเก่านั้นจะยอมรับความจริงอันน่าเจ็บปวดหรือไม่ก็ตาม

นั่นคือความจริงที่ว่า ถ้าคุณบริหารความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเสียเอง

ปีใหม่นี้จึงต้องไม่ใช่ปีแห่งกระต่ายตื่นตูม

หากแต่จะต้องเป็นปีกระต่ายที่ต้องปราดเปรียวคล่องแคล่ว และพร้อมที่จะรับความท้าทายไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ