กระทรวงต่างประเทศไทยพยายามจะจัดให้มีการ “หารืออย่างไม่เป็นทางการ” ว่าด้วยวิกฤตพม่าที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่เมื่อเราเชิญวันนะ หม่อง ลวิน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่ามาร่วมโต๊ะ ผลก็คืออาเซียนแตกเป็นสองกลุ่มทันที
ผมจึงถือว่านายพลอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของพม่าเป็นคนผ่าอาเซียนเป็นสองค่ายเพราะความขัดแย้งภายในของตนเองแท้ๆ
ที่ว่าอาเซียนแตกเป็นสองค่ายในกรณีนี้ก็เพราะประเทศที่ส่งรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศมาร่วมโต๊ะอาหารที่กรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสฯ ก่อนนั้นคือ
กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนามและไทย
นั่นก็คือ CLMVT นั่นแหละ
ขณะที่อีก 5 ประเทศอาเซียนที่ไม่ส่งใครมาคือ
อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, บรูไน
ผมเชื่อว่าเหตุผลที่ 5 ประเทศหลังไม่มาร่วมก็เพราะไม่ต้องการให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลทหารพม่า
เพราะที่ผ่านมาสองปี การประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีของอาเซียนก็ไม่เชิญระดับผู้นำของเขา
จนกว่าจะมีความคืบหน้าในการดำเนินตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่มิน อ่อง หล่าย ไปตกลงกับผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน 2021 หรือสองเดือนหลังจากที่เขาก่อรัฐประหารในพม่า โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ส่วนอีก 5 ประเทศที่มาร่วมกินข้าวนั้นก็คงจะเป็นเพราะเป็นเพื่อนบ้านกับพม่า และเชื่อตามคำเชื้อเชิญของไทยว่าเพื่อจะมา “ฟัง” จากฝั่งรัฐบาลทหารพม่าบ้าง
แต่ภาพที่ออกมาสร้างความเสียหายให้กับอาเซียนไม่น้อย
เพราะตอกย้ำว่าอาเซียนแตกเป็นสองฝ่ายในกรณีวิกฤตพม่า
เท่ากับว่า มิน อ่อง หล่าย สามารถจะทำให้อาเซียนมีปัญหาความเป็นเอกภาพขึ้นมาอย่างชัดเจน
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อาเซียนพยายามจะประคับประคองให้ยังสามารถเดินหน้าเรื่องพม่าได้บ้างในระดับหนึ่ง
แต่พอเกิดเหตุ “การหารืออย่างไม่เป็นทางการ” ที่กระทรวงต่างประเทศไทยจัดเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ไม่อาจจะปฏิเสธว่าอาเซียนมีท่าทีและจุดยืนเรื่องพม่าห่างกันมากขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว
ที่น่าสงสัยก็คือว่า ก่อนที่ไทยจะเชิญเพื่อนอาเซียนอีก 8 ประเทศนั้น ได้พูดจากับฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าก่อนหรือไม่ว่าการมาร่วมโต๊ะกินข้าวกับอาเซียนของวันนะ หม่อง ลวินนั้น จะมีอะไรที่ทางพม่ามาแจ้งให้ทราบถึงว่ามีความคืบหน้าเรื่อง “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่
เพราะถ้าหากเพียงมา “ฟัง” ตัวแทนของมิน อ่อง หล่าย เท่านั้น สมาชิกอาเซียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็จะบอกว่าได้ “ฟัง” รัฐบาลทหารพม่ามามากพอแล้ว ถึงเวลาจะต้องนำไปปฏิบัติเสียที
ผมจึงเชื่อว่าการที่ 5 ประเทศอาเซียนไม่มาร่วมวงครั้งนี้ก็เพราะไทยเราไม่สามารถจะแจ้งว่ามีความคืบหน้าอะไรที่จะทำให้ร่วมโต๊ะกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าจากซีกทหารได้
การที่ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกินข้าวมื้อนี้ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติมีมติ 12-3 รับรองให้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและปล่อยนักโทษการเมืองของพม่าทันที
จากสมาชิก 15 ชาติในคณะมนตรีความมั่นคงนั้น 12 ประเทศยกมือเห็นพ้องกับมติ แต่ 3 ประเทศงดออกเสียง
นั่นคือจีน, รัสเซียและอินเดีย (ตามคาด)
คุณกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่มีคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมทวิภาคีไทย-เมียนมาที่กรุงเทพฯ ว่า
การหารือครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมในกรอบอาเซียน แต่เป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยสันติวิธีต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ต่อคำถามว่า การประชุมครั้งนี้ไม่เป็นการบั่นทอนความพยายามของอาเซียนในการแก้ปัญหาในประเทศเมียนมาหรือ คุณกาญจนาว่า
การประชุมนี้เป็นความพยายามที่จะเกื้อหนุน สนับสนุนการทำงานของอาเซียน เพราะที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่อาเซียนไม่ได้มีโอกาสหารือในระดับรัฐมนตรี หรือฟังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเมียนมาโดยตรง
และว่า การประชุมนี้ไม่ใช่การประชุมอาเซียน แต่เป็นการหารือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในเมียนมา และอยากจะเห็นทางออก
ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นการกีดกันหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการในอาเซียน
ในทางตรงกันข้าม การประชุมนี้จะช่วยให้เกิดความคืบหน้าในกระบวนการหาหนทางออกแก้ไขปัญหา
โดยในช่วงเช้าวันต่อมา อธิบดีกรมอาเซียนได้เชิญผู้แทนสถานทูตจากชาติสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทยเข้ารับฟังผลการหารือด้วยแล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการหารือได้แก่ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา, นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว, นายโด๋ หุ่ง เหวียต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม, นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา, นายกัน ซอว์ รัฐมนตรีการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา, นายโค โค ไหล่ รัฐมนตรีด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมียนมา
อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปีที่รัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือแบบตัวต่อตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ทางการทูตสำหรับการหารืออย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์
และให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่เน้นการปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศเพื่อนบ้านภาคพื้นแผ่นดิน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
คุณกาญจนาระบุอีกว่า โดยที่การหารือครั้งนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบ “ปลายเปิด”
จึงไม่มีการกำหนดวาระการประชุมล่วงหน้า และไม่มีเอกสารผลลัพธ์การประชุม
แต่ก็ยืนยันว่าบรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยดีและสร้างสรรค์
รัฐมนตรีจากไทย, สปป.ลาว, กัมพูชาและเวียดนาม ได้รับฟังความซับซ้อนของสถานการณ์ มาตรการความพยายามต่างๆ ที่ฝ่ายเมียนมาพยายามจะแก้ปัญหา
รัฐมนตรีที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รับฟังข้อมูลจากฝ่ายเมียนมา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับหนทางในการหาทางออกเพื่อกลับสู่สภาวะปกติในเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การลดผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนเมียนมา และหนทางอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
น่าเชื่อว่า เมื่อกัมพูชาส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนหมุนเวียนให้อินโดนีเซียในปีใหม่ เราจะเห็นแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ไทยเราจะยังดำรงแนวทางแบบ “เกรงอกเกรงใจ” เพื่อนบ้านเกเรจนไม่เป็นตัวของตัวเองหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญสำหรับอนาคตของบทบาทไทยเป็นอย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ