อนาคตพรรคการเมืองไทยในการเลือกตั้งปีหน้า: ตอนที่ ๑: พรรครวมไทยสร้างชาติ

 

คงเห็นกันแล้วว่า มีพรรคการเมืองเกิดใหม่, สลายตัว, ควบรวมกัน จนขณะนี้ ก็ดูเหมือนจะยังฝุ่นตลบ ไม่นิ่ง  แต่ที่แน่และนิ่งก็คือ คำประกาศเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรครวมไทยสร้างชาติของลุงตู่  

ความแน่นิ่งของลุงตู่กับรวมไทยสร้างชาตินี้ถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบสำคัญต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่ตัดสินใจแน่นอนแล้วว่า ยังไงเสียก็จะไม่กาบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบให้ผู้สมัครของพรรคที่เป็นฝ่ายค้านขณะนี้ นั่นหมายความว่า คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ลุงตู่ขนาดหนัก ย่อมจะกาบัตรเลือกตั้งให้พรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อหวังดันให้ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่า ณ ขณะนี้ จะเป็นได้เพียงอีกสองปีเท่านั้นก็ตาม 

แต่คราวนี้ บัตรเลือกตั้งมีสองใบ ใบหนึ่งเลือก สส. เขต อีกใบเลือก สส. บัญชีรายชื่อ ถ้าแฟนลุงตู่เริ่มจากตั้งใจจะกาทั้งสองใบให้พรรครวมไทยสร้างชาติ  ความฝันที่จะส่งให้ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีก็พอจะเห็นเค้าลาง เพราะถ้ากาบัตรเลือก สส. เขต และถ้าผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติชนะ ก็แปลว่า คุณ A (ในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตของคุณ) สามารถช่วยให้พรรครวมไทยสร้างชาติได้เก้าอี้ สส.ในสภาผู้แทนราษฎร 1 เก้าอี้ (ในจำนวนทั้งหมดตั้ง 400 เก้าอี้ !)

ขณะเดียวกัน ถ้าบัตรเลือกตั้งอีกใบหนึ่งที่เอาไว้ใช้เลือก สส. บัญชีรายชื่อ   คุณ A ก็ยังคงกาให้พรรครวมไทยสร้างชาติ และถ้ามีคนอย่างคุณ A ทั้งประเทศเป็นจำนวนราวสามแสนกว่าคน (เกณฑ์ที่พรรคการเมืองจะได้ สส. บัญชีรายชื่อคือ สามแสนกว่า/ 1 เก้าอี้)  ก็แปลว่า สส. บัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้เข้าไปนั่งในสภาฯ 1 เก้าอี้ (ในจำนวนทั้งหมด 100 เก้าอี้)

แต่แม้นว่าคนที่เป็นแฟนพันธุ์ แต่ไม่ขนาดหนักที่ถึงกับสามารถหลับหูหลับตากาทั้งสองใบ (แบบออกแนว “เลิกคุยทั้งอำเภอ เพราะจะเอาลุงคนเดียว”)  คนแบบนี้อาจจะทนกาบัตรเลือกผู้สมัคร สส. เขตของตนไม่ได้จริงๆ หรือชอบผู้สมัคร สส. เขต  แต่รับผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อไม่ได้  ก็แปลว่า พรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะเสียเก้าอี้ สส. เขตไปหนึ่งเก้าอี้หรือหลายเก้าอี้ หรือไม่ได้ สส. บัญชีรายชื่อสักคน หากทั้งประเทศมีคนแบบนี้เยอะพอที่จะทำให้คะแนนที่เลือก สส. บัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติมีไม่ถึงสามแสนกว่า  แต่ถ้ามีคนอย่างนี้ไม่มากขนาดนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติก็อาจจะมี สส. บัญชีรายชื่อเข้าไปนั่งในสภาฯบ้าง 

ดังนั้น ในการสานฝันแฟนพันธุ์แท้ลุงตู่ (แต่ไม่ขนาดหนัก) ให้เป็นจริง พรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องสามารถเดารสนิยมของแฟนพันธุ์แต่ไม่ขนาดหนักให้ได้ และส่งผู้สมัคร สส. เขต และคัดสรรรายชื่อผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อให้โดนใจแฟนพันธุ์แท้ประเภทนี้  ส่วนแฟนพันธุ์แท้ลุงตู่ขนาดหนักนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะคนประเภทนี้จะเลิกคุยกับคนทั้งอำเภอ เพื่อเอาลุงคนเดียวอยู่แล้ว 

แต่ที่น่าห่วงคือ คนแบบนี้จะมีมากสักเท่าไร ?

ผลการเลือกตั้งทั่วไปด้วยบัตรใบเดียวในปี พ.ศ. 2562  พรรคพลังประชารัฐที่มีลุงตู่คนเดียวเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ได้คะแนนเสียงทั้งสิ้น 8.43 ล้านเสียง ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงสุดผ่านระบบบัตรใบเดียวที่ใช้เลือกได้ทั้ง สส. เขต, สส. บัญชีรายชื่อ และเลือกนายกรัฐมนตรีไปด้วยกันเรียกว่า ทรีอินวัน  ครั้นจะฟันธงไปเลยว่า คะแนน 8.43 ล้านเสียงเป็นเพราะกระแสรักลุงคนเดียว ก็ย่อมไม่ใช่ เพราะใครๆก็รู้ว่า พลังประชารัฐมีองค์ประกอบหลากหลาย ตั้งแต่

1) กลุ่มการเมืองที่มีฐานเสียงของตัวเองเหนียวแน่นและมากพอที่จะชนะคู่แข่งในเขตเลือกตั้ง   

2) นักการเมืองเดี่ยวๆที่มีฐานเสียงที่เป็นของตัวเองอย่างเหนียวแน่นที่มากพอที่จะชนะคู่แข่งในเขตเลือกตั้ง

กลุ่มการเมืองและนักการเมืองเหล่านี้สามารถทำให้คนชอบหรือเลิกชอบลุงตู่ได้  นอกจากนี้ ยังมี

3) นักการเมืองที่พอมีฐานอยู่บ้างแต่ยังไม่เคยชนะเลือกตั้ง แต่มาได้คะแนนนิยมลุงตู่ช่วยเสริมให้ชนะเลือกตั้งในเขตกลายเป็น สส. สมัยแรกในสภาฯได้  หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่ได้กระแสลุงตู่ดันให้เข้าสภาฯเป็นครั้งแรกได้

ดังนั้น ในการเลือกตั้งในปีหน้า คะแนน 8.43 ล้านเสียงจะแตกกระจายกันไป เพราะอย่าลืมว่า ตอนนี้ กลุ่มการเมืองที่ว่าและนักการเมืองที่ใช่จำนวนหนึ่งยังจะยังอยู่กับพลังประชารัฐพรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องลบคะแนนเสียงของกลุ่มการเมืองและนักการเมืองเหล่านี้ออกไปจาก 8.43 ล้านเสียงไปเท่าไร ? และต้องคิดว่า แฟนลุงตู่ที่ไม่ขึ้นกับกลุ่มการเมืองใดหรือนักการเมืองใดในปี 2562 ที่จะทิ้งลุงตู่ไปในปีหน้าจะมีจำนวนเท่าไร ?  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า ลุงอยู่ได้แค่สองปี จะดีอะไร ?  หรือเพียงเพราะมีหลักการว่า ลุงอยู่นานเกินไปแล้ว หรืออยากจะได้นายกรัฐมนตรีที่ออกแนวปากท้องเนื้อๆเน้นๆ  และต้องหักคะแนนเสียงของนักการเมืองที่ย้ายออกจากพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้ไปเข้ากับรวมไทยสร้างชาติด้วย

นั่นคือ อย่างที่กล่าวไป ต้องรู้ให้ได้ว่า แฟนพันธุ์แท้ของลุงตู่ขนาดหนักมีจำนวนเท่าไร ? และอยู่แถวไหน ?  ทำไงจะรักษาฐานที่มั่นตรงนี้ไว้ให้ได้ ก่อนที่จะคิดไปดึงเสียงกับคนที่ห่างๆออกไป

พรรคก็เปรียบเสมือนกองทัพ บัดนี้มีแม่ทัพ (ลุงตู่) แล้ว ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดคะแนนเสียง แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถมีแรงดูดได้เท่าในปี 2562 ดังนั้น ต้องเสริมพลังแม่ทัพด้วยกลุ่มนักรบหรือขุนพลคู่ใจระดับ 1) และ 2) ที่กล่าวไปข้างต้น

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ เลขาธิการพรรค รทสช. คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้กล่าวว่า เขาเชื่อว่าจะมีนักการเมือง และผู้ที่สนใจร่วมทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองไหลมาร่วมกับพรรคจำนวนมาก “...ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับ สส. บิ๊กเนมแต่ละพื้นที่ตอบรับกันจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีบิ๊กเนมที่ไม่ได้เป็น สส. เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่มีแสงในตัวของจังหวัดต่างๆ ซึ่งบางพื้นที่ต้องยอมรับว่า มีโอกาสดีกว่า สส. ปัจจุบันเสียอีก”  

ข้อความที่ว่า “สส. บิ๊กเนมแต่ละพื้นที่และบิ๊กเนมท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็น สส. แต่มีแสงในตัวเอง และมีโอกาสดีกว่า สส. ปัจจุบันเสียอีก” หมายถึงที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้นใน 1) และ 2) ที่มีโอกาสดีกว่า สส. ในข้อ 3)

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นตามมาจากที่คุณเอกนัฏกล่าวว่า มีกลุ่มนักรบและขุนพลตอบรับ รทสช. แล้วจำนวนหนึ่ง  ก็คือ ทำไม สส. หรือ นักการเมืองที่มีแสงในตัวเอง (ฐานเสียงของตัวเอง) ถึงตอบรับจะมาอยู่กับพรรคการเมืองใหม่อย่าง รทสช. ? 

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาทางการเมือง ไม่อ้อมไม่ค้อม ก็คือ การมาอยู่กับ รทสช. ที่มีลุงตู่เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี มีโอกาสจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล (ฟังให้ดีนะครับ ไม่ได้พูดว่า ลุงตู่จะได้เป็นนายกรัฐมนตี แต่พูดว่า รทสช. จะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล)

แต่ก็มีคำถามตามมาอีกเช่นเคยคือ ทำไมถึงคิดว่า รทสช. จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เอาอะไรมาแน่ใจว่า จะไม่ได้พลิกผันไปเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ?

คำตอบอยู่ที่คำสัมภาษณ์ที่ลุงตู่ให้ไว้ล่าสุดเมื่อกล่าวถึงลุงป้อม  โดยลุงตู่กล่าวว่า “อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ของทหารกับทหารด้วยกันมันลึกซึ้ง ลึกซึ่งยิ่งกว่าและผมก็จบมาก็อยู่ในการดูแลของท่าน...จนกระทั่งอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิตรับราชการมาจนถึงวันนี้ ความผูกพันอันนี้ มันไม่มีใครลบล้างผมได้ ท่านเองก็รู้สึกเหมือนกัน..” 

ความหมายก็คือ หลังเลือกตั้งปีหน้า พลังประชารัฐและ รทสช. ก็ถือว่าเป็นพรรคพี่พรรคน้องกันภายใต้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งยาวนานของสองนายทหารที่กลายเป็นแคนดิเดทนายกฯของแต่ละพรรค แม้ว่า ระยะหลังๆจะมีความแปลกแยกอยู่บ้าง ไม่ดูดดื่มชื่นใจเหมือนช่วงแรกๆหลังจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562  แต่อย่างไรเสีย พี่สนับสนุนน้องหรือน้องสนับสนุนพี่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ดีกว่าจะไปให้คนอื่นคนไกล  แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถให้พรรคที่ร่วมรัฐบาลกันมาก็ยังพอรับได้ เช่น แคนดิเดทนายกฯของพรรคภูมิใจไทยที่เรียกว่ามาแรงแบบเนื้อๆเน้นๆด้วยเหตุนี้ หลังเลือกตั้ง เวลานับเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่า ต้องนับสองเสียง สส. ของสองพรรคพี่พรรคน้องนี้รวมกันเป็นจุดเริ่มต้น

และด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีนักการเมืองที่มีพลังแสงในตัวเองประกาศเข้าร่วมกับงานกับ รทสช. หลังจากที่ลุงตู่ประกาศเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี  ดังที่คุณชัชวาล คงอุดม ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังท้องถิ่นไทได้ประกาศว่า “เข้าร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติ เพื่อช่วยงานด้านยุทธศาสตร์ หวังว่าฐานเสียงใน กทม. ที่มีผม พรรคพวกอยู่ จะทำให้ รทสช. ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง”

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเหตุผลที่จะเข้าไปช่วยเขาแต่ถ่ายเดียว เพราะพรรคพลังท้องถิ่นไทยถือเป็นพรรคที่เรียลไซส์ขนาดเล็กๆจิ๋วๆที่ได้อานิสงส์ ได้ ส.ส. เข้าสภาฯจากระบบบัตรใบเดียวคะแนนไม่ทิ้งน้ำ   ซึ่งในการเลือกตั้งปีหน้าบัตรสองใจ ถ้าไม่ทำใจหยุดเล่นการเมืองชั่วคราว ก็ต้องหาทางเข้าพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ โดยเอาคะแนนไม่ทิ้งน้ำที่พรรคตัวเองเคยได้ไปโชว์ให้เห็นว่าน่าจะเป็นพลังเสริมให้ได้

ยังมีพรรค นักการเมือง) ที่มีแสงในตัวเองนี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร