เห็น 2 ภาพนี้ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าโลกกำลังแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างแท้จริงแล้ว
โดยมีสงครามยูเครนเป็นสาเหตุล่าสุด
ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนบินไปวอชิงตันเพื่อพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่อดีตประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย บินไปปักกิ่งเพื่อพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
เป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกัน คือช่วง 21-22 ธันวาคมที่ผ่านมา
การไปเยือนต่างแดนของทั้ง 2 ผู้นำที่กำลังทำสงครามกันอยู่นั้นเป็น “เซอร์ไพรส์” ด้วยกันทั้งคู่
เพราะไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า
สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็นอย่างมาก
เพราะเซเลนสกีเพิ่งจะไปเยือนแนวรบที่เมือง Bakhmut ทางตะวันออกของยูเครน อันเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุดแห่งหนึ่ง
ผ่านไปเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีข่าวว่าผู้นำยูเครนจับเครื่องบินมุ่งสู่วอชิงตัน
โดยมีนัดหมายพบปะโจ ไบเดน และปราศรัยต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
ขณะที่การไปเยือนเมืองจีนของเมดเวเดฟก็เกิดขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีปูตินกำลังอยู่ที่เบลารุส ท่ามกลางการคาดการณ์ว่ารัสเซียกับเพื่อนบ้านแห่งนี้จะกระชับความร่วมมือเพื่อกดดันยูเครนจากทางเหนือ
เพราะเป็นจังหวะที่เข้าสู่ฤดูหนาว และมอสโกอาจกำลังวางแผนจะโจมตียูเครนรอบใหม่...คราวหน้าเล็งว่าจะต้องยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงให้จงได้
แต่ยังไม่ทันที่ปูตินจะกลับมาแถลงข่าวผลการเยือนเบลารุส เขาก็เรียกประชุมบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย เพื่อจะส่งสารว่ารัสเซียจะเดินหน้าลุยยูเครนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ขณะที่ไบเดนบอกเซเลนสกีว่า อเมริกาจะยืนเคียงข้างยูเครน “ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่”
และ “คุณจะไม่ยืนอยู่คนเดียว” เพราะอเมริกาและตะวันตกจะสนับสนุนยูเครนจนกว่าจะชนะสงครามกับรัสเซีย
ภาพของเซเลนสกีที่ยืนปราศรัยให้ ส.ส.และ ส.ว.ของทั้ง 2 สภาท่ามกลางเสียงปรบมือดังกึกก้องเป็นระยะๆ นั้นทำให้เห็นว่าเซเลนสกีบรรลุเป้าหมายของการบินด่วนมาสหรัฐฯ แล้ว
เพราะพรรครีพับลิกันและเดโมแครตดูเหมือนจะมีจุดยืนที่สอดคล้องต้องกันว่าจะยังสนับสนุนยูเครนต่อไป
เซเลนสกีตั้งใจที่จะบอกกับไบเดน, นักการเมืองสหรัฐฯ, ประชาชนอเมริกันและประชาคมโลกจากการมาเยือนวอชิงตันครั้งนี้ (ครั้งแรกที่ออกนอกประเทศหลังทหารรัสเซียบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีนี้) ว่าเขาไม่ได้วิ่งแจ้นมาแบมือขอเงินและอาวุธ
“เงินที่ท่านช่วยเราทำสงครามนั้นไม่ใช่เรื่องของการบริจาคในงานการกุศล หากแต่เป็นการลงทุน...การลงทุนในการปกป้องประชาธิปไตยและค่านิยมตะวันตก และเราก็ใช้มันอย่างรับผิดชอบ...”
ประเด็นที่เซเลนสกีต้องการเน้นก็คือว่า ยูเครนไม่ได้มาขอเงินและอาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อปกป้องตัวเองเท่านั้น
แต่คนยูเครนต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียก็เป็นการป้องกันโลกตะวันตกและประชาคมโลกไม่ให้รัสเซียคุกคามสังคมโลกเป็นส่วนรวมด้วย
เซเลนสกีนำเอาเหรียญและธงชาติยูเครนที่ทหารยูเครนที่แนวหน้า Bakhmut เซ็นชื่อและฝากเซเลนสกีมามอบให้กับไบเดนและประธานรัฐสภาของสหรัฐฯ ด้วยตนเอง
กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อคนอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว
“แม้ว่าเราจะไม่มีไฟฟ้าและเราต้องตกอยู่ในความมืด เพราะการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของเราโดยรัสเซีย แต่จิตใจเราสว่างไสวด้วยความหวัง...”
เซเลนสกีย้ำว่า “ยูเครนกับสหรัฐฯ จะชนะด้วยกัน”
ที่บอกว่า “เรา 2 ประเทศชนะร่วมกัน” นั้น เซเลนสกีต้องการจะเน้นว่า 2 ประเทศคบหากันในฐานะประเทศอธิปไตย
โดยที่ยูเครนไม่ใช่ “ลิ่วล้อ” หรือ “เครื่องมือ” ของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซียอย่างที่มอสโกกล่าวอ้าง
วันเดียวกับที่เซเลนสกีเยือนวอชิงตัน รัฐบาลของโจ ไบเดน ก็ประกาศความช่วยเหลือทางทหารงวดล่าสุดในวงเงิน 18.5 พันล้านเหรียญฯ
เซเลนสกีขอบคุณทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านงบประมาณก้อนใหญ่ 45,000 ล้านเหรียญฯ (1.5 ล้านล้านบาทโดยประมาณ) เป็นการช่วยเหลือยูเครน
ขณะเดียวกัน ฝั่งรัสเซียก็มีปฏิกิริยาตอบโต้การไปเยือนวอชิงตันของเซเลนสกีทันที
โฆษกรัฐบาลรัสเซียบอกว่า เมื่อสหรัฐฯ และโลกตะวันตกเดินหน้าส่งอาวุธมาเสริมกำลังของยูเครน ก็แปลว่าจะไม่มีโอกาสที่จะเจรจาสันติภาพอีกต่อไป
“ผลของการที่ตะวันตกส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครนก็จะกลับมาส่งผลลบให้กับยูเครนเอง...” โฆษกดมิทรี เปสคอฟ แถลงทันทีที่เห็นภาพของเซเลนสกีนั่งลงสนทนากับโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาวอย่างสนิทชิดเชื้อ
รัสเซียมองเห็นความกังวลของเซเลนสกีต่อความยั่งยืนของความช่วยเหลือทางทหารและการเงินจากโลกตะวันตก จึงย้ำเสมอว่าอีกไม่นาน “ท่อน้ำเลี้ยง” จากตะวันตกที่ให้กับยูเครนก็จะเหือดแห้งไปเอง
เพราะสงครามได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศยุโรปส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะลำบาก
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ, ราคาพลังงานที่พุ่งพรวดพราด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะรุนแรงในปีใหม่นี้
ไม่ต้องสงสัยว่าเซเลนสกีเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างแน่นอน จึงเร่งเร้าให้ตะวันตกรีบส่งอาวุธมาเพื่อเอาชนะสงครามรัสเซียให้ได้ก่อนที่จะเกิดอาการ “ล้าสงคราม” (war fatigue) ในมวลหมู่ประเทศทางตะวันตก
เซเลนสกียอมรับมาตลอดว่า แม้ว่าทหารยูเครนจะสามารถตีคืนบางแนวรบทางตะวันออกและทางใต้จากทหารรัสเซีย แต่สถานการณ์ในภาคพื้นดินก็ยัง “ยากเย็นอย่างยิ่ง”
นั่นสะท้อนว่าเขายอมรับว่า คำว่า “ชัยชนะ” นั้นไม่ใช่จะได้มาโดยง่าย
แต่เขาก็ยืนยันความมุ่งมั่นของทหารและพลเรือนยูเครนที่จะยืนหยัดสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ
เพราะหากยอมเจรจากับรัสเซียตอนนี้เพื่อหยุดยิงชั่วคราว ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัสเซียพักรบและจัดทัพใหม่เพื่อจะโจมตียูเครนต่อไปเท่านั้น
โจ ไบเดน พูดเหมือนเซเลนสกีตรงนี้
เขาบอกว่า “เวลานี้ยังไม่สุกงอมสำหรับการหาทางออกทางการทูตเพื่อยุติสงคราม การเจรจาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายยูเครนสร้างความได้เปรียบในสนามรบเท่านั้น”
นั่นแปลว่าตะวันตกจะเดินหน้าสนับสนุนให้ยูเครนได้อาวุธทันสมัยจำนวนมากพอ และเร่งรัดในการส่งมอบเร็วพอที่จะทำให้ทหารยูเครนปักหลักสู้กับทหารรัสเซียได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ