สัมพันธ์จีน-ซาอุฯหน้าใหม่สู่โลกพหุภาคี

   

ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อ 7-9 ธันวาคม นอกจากยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี ความสัมพันธ์กับกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf: GCC) เกิดการประชุมสุดยอดจีน-อาหรับ (China-Arab States Summit) และการประชุมสุดยอด China-GCC Summit ยังตีความได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องการแนวทางโลกพหุภาคี

ประเด็นวิเคราะห์:

ประการแรก ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ไตร่ตรองอย่างดี

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ว่า รัฐบาลซาอุฯ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับจีน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (comprehensive strategic partnership) เป็นความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างจีนกับรัฐอาหรับทั้งปวง วางเป้าหมายกับบรรทัดฐานความสัมพันธ์ทุกด้านรวมทั้งประเด็นสำคัญๆ

มีข้อมูลว่าปัจจุบันน้ำมัน 50% ที่จีนนำเข้ามาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซาอุฯ เป็นผู้ขายรายใหญ่สุด ซาอุฯ ได้จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่แทนสหรัฐ เนื่องจากระยะหลังสหรัฐผลิตพลังงานฟอสซิสมากขึ้น เร่งส่งออกก๊าซธรรมชาติและคาดว่าอนาคตจะส่งเป็นผู้ส่งน้ำมันรายใหญ่ด้วย จีนผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่จึงมีอิทธิพลต่อนโยบายกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน ไม่แปลกที่ทั้งคู่เอ่ยถึงตลาดน้ำมันที่มีเสถียรภาพ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ซื้อผู้ขาย หวังให้ราคาอยู่ในระดับที่ทั้งคู่รับได้และไม่ขาดแคลน เรื่องนี้สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ควบคุมโลกด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

ประการที่ 2 มุ่งสู่การพัฒนาและการค้า

ซาอุฯ มีเงินและต้องการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ส่วนจีนมีเทคโนโลยี มีความตั้งใจอยากทำการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซาอุฯ กับจีนต่างสร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเทคโนโลยีให้กับตัวเอง ความร่วมมือเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขย่อมสมควรและไม่ควรถูกใครกีดกัน

เป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลซาอุฯ ที่เปิดรับการค้าการลงทุนจากทุกชาติ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน สัมพันธ์กับจีนที่ไม่คิดทำให้ซาอุฯ เป็นประชาธิปไตย ยอมรับการปกครองแบบซาอุฯ

ประการที่ 3 ก้าวสู่ยุคที่ไม่ง้ออเมริกา

ไม่กี่เดือนก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ซาอุฯ Abdul-Aziz bin Saud ได้พบกับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) สองฝ่ายตกลงกันว่าสหรัฐจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ แลกกับการที่สหรัฐจะปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ จากภัยคุกคามความมั่นคง

นับจากรัฐบาลสหรัฐกับพวกคว่ำบาตรไม่ซื้อพลังงานรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นกะทันหัน รัฐบาลไบเดนพยายามเรียกร้องให้เพิ่มอุปทานน้ำมัน ซึ่งความจริงคือ “การเปลี่ยนผู้ซื้อผู้ขาย” จริงๆ แล้วพลังงานฟอสซิลไม่ขาดแคลน โลกมีน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินใช้อย่างเพียงพอ เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานหลายสิบปี แต่ที่เกิดปัญหาในระยะนี้เพราะยุโรปต้องหันไปซื้อประเทศอื่นแทนรัสเซียกะทันหัน

ถ้าหากซาอุฯ กับพวกทำตามที่รัฐบาลไบเดนร้องขอและทำสำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นคืออียูจะซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจากกลุ่มโอเปกแทนรัสเซีย ส่วนรัสเซียต้องไปหาผู้ซื้อรายใหม่หรือลูกค้าเก่าแต่ซื้อมากกว่าเดิม

ภาพ: การประชุมร่วมระหว่างทีมจีนกับซาอุฯ
เครดิตภาพ: https://english.news.cn/20221209/730eb67115a6415ba9e57e3c91ed95bb/c.html

ความร่วมมือของ OPEC plus ในหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นอีกหลักฐานว่าซาอุฯ ไม่อยู่ใต้การชี้นำของรัฐบาลสหรัฐ ดังที่ซาอุฯ กับจีนกล่าวถึงความสำคัญของเสถียรภาพตลาดน้ำมันโลก จีนสนับสนุนบทบาทซาอุฯ ผู้รักษาเสถียรภาพดังกล่าว พร้อมๆ กับที่จีนประกาศลงทุนภาคปิโตรเคมี พลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในซาอุฯ รวมทั้งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบซัพพลายเชน การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ จีนไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่แต่กำลังเข้าไปมีส่วนร่วมกิจการด้านพลังงานของซาอุฯ โดยที่รัฐบาลซาอุฯ เปิดทางให้ ในอนาคตบรรษัทน้ำมันของชาติตะวันตกกับจีนต่างมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงานซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบพลังงานโลกยังดำเนินต่อไป เป็นไปได้ว่าที่สุดแล้วโลกผลิตน้ำมันเท่าเดิม (อาจเพิ่มหรือลดเล็กน้อยตามจำนวนใช้จริง) แต่เปลี่ยนผู้ซื้อผู้ขายถาวร พวกที่เป็นฝ่ายสหรัฐจะซื้อน้ำมันจากผู้ขายที่เป็นฝ่ายสหรัฐ ส่วนผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียจะเป็นพวกที่อยู่ตรงข้ามสหรัฐ การวิเคราะห์ด้วยฉากทัศน์นี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะโอเปกยังขายให้ทุกฝ่าย เพียงใช้โควตาใหม่ที่เน้นการแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย เร็วเกินไปที่จะตอบว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร คำถามคือบรรดานักการเมืองของกลุ่มอียูจะยินยอม “รับสภาพ” หรือไม่ ที่ต้องซื้อใช้พลังงานแพงกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ต้นเหตุวิกฤตเงินเฟ้อ สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน ประชาชนทุกข์ยากและเป็นความทุกข์ที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ประการที่ 4 จับมือจีนแต่ไม่ทิ้งสหรัฐ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เยือนซาอุฯ นายอเดล อัล-จูเบียร์ (Adel al-Jubeir) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐว่า “2 ประเทศเป็นพันธมิตรกับหุ้นส่วนมานาน 8 ทศวรรษแล้ว มีผลประโยชน์ร่วมกันมหาศาล และมีความท้าทายมากมายที่ต้องร่วมเผชิญ” ความจริงแล้วสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไบเดนกับซาอุฯ เข้มแข็งมาก (very solid) ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรงเหมือนที่หลายคนพูด

จึงไม่น่าจะถูกต้องหากตีความว่าซาอุฯ ละทิ้งสหรัฐผู้เป็นพันธมิตรเก่าแก่ ความจริงแล้วสัมพันธ์ซาอุฯ-สหรัฐยังคงอยู่ เพียงแต่ซาอุฯ ขยับเข้ามาใกล้ชิดจีนด้วย พูดให้ชัดคือ ซาอุฯ ตั้งใจเป็นมหามิตรกับทั้ง 2 มหาอำนาจ สามารถใช้ไพ่มหาอำนาจต่อรองกับอีกฝ่ายซึ่งซาอุฯ มีอำนาจนี้สูงเพราะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อตลาดน้ำมันโลก ซาอุฯ วางตัวในตำแหน่งที่น่าจะมีโอกาสดีกว่าเดิม แน่ล่ะจีนย่อมไม่ทิ้งโอกาสดีนี้ เหลือแต่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะคิดอย่างไรต่างหาก

เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐได้แต่หวานอมขมกลืน ผลประโยชน์ยังต้องรักษา โดยเฉพาะเปโตรดอลลาร์ ในขณะที่รัฐบาลซาอุฯ ไม่อาจทำอะไรผลีผลาม ถ้าพูดเรื่องการป้องกันประเทศ ความมั่นคงทางทหารภูมิภาคสหรัฐยังยืนหนึ่งเรื่องนี้ แม้ซาอุฯ จะซื้อใช้อาวุธจีนมากขึ้นก็ตาม

ประการที่ 5 ซาอุฯ ที่ไม่ต้องการอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง

รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) อธิบายว่า ณ ขณะนี้ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง มหาอำนาจกำลังจัดระเบียบโลก ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์ว่าฝ่ายสหรัฐต้องการรักษาความเป็นเจ้า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดจะกระชับอำนาจ กระชับความเป็นขั้วเดียวเป็นระยะ

เหตุวินาศกรรมก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นตัวอย่างที่ดี ประธานาธิบดีบุชประกาศว่าประเทศที่ให้แหล่งพักพิงมีความผิดเท่ากับผู้ก่อการร้าย สหรัฐจะถือว่าประเทศนั้นเป็นศัตรูหากไม่ร่วมมือต้านผู้ก่อการร้าย นี่คือการกระชับอำนาจโลกของอเมริกา ใครไม่สนับสนุนอเมริกาคืออยู่ฝ่ายตรงข้าม

Michel Chossudovsky ให้มุมมองที่น่าสนใจว่ารัฐบาลโอบามากับพันธมิตรใช้ประเด็นสงครามต่อต้านก่อการร้ายเป็นเครื่องมือขยายอำนาจ อเมริกากับพันธมิตรทำสงครามก่อการร้ายทั่วโลก ชูเหตุผลเพื่อสันติภาพ ความมั่นคงของประเทศ ภูมิภาคและของโลก ประเทศใดที่ต่อต้านเท่ากับอยู่ข้างฝ่ายอธรรม

ในยามนี้บางคนวิเคราะห์ว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ (ระบบ 2 ขั้ว-ฝ่ายสหรัฐต้องการให้เป็นเช่นนั้น) โลกสองขั้วในอดีตหมายถึงการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันไม่ใช่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์เช่นนั้น เส้นแบ่งความเป็นประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมนับวันจะไม่ชัดเจน

ปลายเดือนตุลาคมประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยึดนโยบายสร้างสมดุลตลาดน้ำมัน รัสเซียกำลังเร่งสร้างมิตรภาพกับซาอุฯ เห็นด้วยหากซาอุฯ จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS บัดนี้การเยือนของประธานาธิบดีสีให้หลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้งว่า รัฐบาลซาอุฯ ต้องการโลกพหุภาคีสอดคล้องกับนโยบายของจีน รัสเซีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก

นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”

นายกฯอิ๊งค์ โชว์ 30 บาทรักษาทุกโรค บนเวทีสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมน

'แพทองธาร' หารือทวิภาคี 'สี จิ้นผิง' จีนยันสนับสนุนไทยในเวทีระดับโลกทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) โรงแรม Delfines Hotel

'บาส หัสณัฐ' ปลื้มแฟนจีนแห่ต้อนรับสุดอบอุ่น เผยเตรียมลุยคอนเสิร์ตเดี่ยว

มีโอกาสได้ไปร่วมโชว์ในงาน "Trance Music Festival" ที่กุ้ยหลิน ประเทศจีน เมื่อวันก่อน ทำเอานักแสดงหนุ่มหน้าใส "บาส-หัสณัฐ พินิวัตร์" เจ้าของฉายา "บาสเด็กอ้วนที่แท้จริง" ปลื้มสุดๆ เพราะมีแฟนๆชาวจีนมาให้กำลังใจล้นหลาม งานนี้เจ้าตัวเลยมาเล่าถึงการทำงานที่จีน พร้อมทั้งอัปเดตคอนเสิร์ตเดี่ยวที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้