เมื่อวานผมเขียนถึงความคืบหน้าเรื่อง “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต” เพื่อช่วยลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมที่ตกลงกันในรายละเอียดใหม่ๆ หลายประเทศ ณ ที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์, สกอตแลนด์, สหราชอาณาจักร
คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศไทยเราก็มีการทำเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
เรียกชื่อเป็นเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network)
โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
มีคำอธิบายว่า "ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในกลไกราคาคาร์บอนที่สำคัญซึ่งช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก
โดยใช้มาตรการทางการตลาดเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ
แล้วตลาดคาร์บอนอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
อบก.บอกว่าตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว ตลาดคาร์บอนสามารถทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด
และยังก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
อีกด้านหนึ่งยังมีส่วนช่วยการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดภายหลังปี ค.ศ.2020 (NDC) อีกด้วย
ประเทศไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภายในประเทศแล้ว
ชื่อโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่ อบก.ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557
เป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ
โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
นอกจากนี้ โครงการ T-VER ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจก
เช่น ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความร่มรื่น และพื้นที่สีเขียวลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า
เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
แต่ อบก.ยอมรับว่าถึงวันนี้การขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการของไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศยังมีปริมาณไม่มาก
เหตุเป็นเพราะตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ ซึ่งมีขนาดเล็กมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี
ส่วนใหญ่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยอยู่ในรูปแบบของการเจรจาต่อรอง (Over-the-Counter: OTC)
ถามว่าซื้อขายกันที่ราคาเท่าไหร่?
ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ระหว่าง 15-200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จึงทำให้เกิดเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER จะช่วยสนับสนุน และขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศให้มีสภาพคล่องและขยายตัวมากขึ้น
มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การสนับสนุนให้เกิดการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
แทนที่จะบริจาคเงินให้ชุมชนนำไปใช้ในการปลูกป่าโดยตรงเพียงอย่างเดียว
สมาชิกเครือข่ายอาจช่วยซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับไว้ในเนื้อไม้
รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะกลับไปสู่ชุมชน
เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เพื่อใช้ในการดูแลรักษาป่าต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งคือ อบก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการจัดตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (Thailand Carbon Credit Exchange Platform)
ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขายถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER
หากทำได้ตามเป้าหมายก็จะสนับสนุนให้ไทยมีกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ในประเทศ
ผ่านตลาดซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ สร้างราคาอ้างอิงที่ยุติธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง สะดวก รวดเร็ว
เป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำสุดได้ในที่สุด
ทุกครั้งที่เราเห็นข่าวการประชุมโลกร้อนระดับสากลมักจะมีคำถามว่ามีเกี่ยวอะไรกับคนไทย และคนไทยไปเกี่ยวอะไรกับเขา
หนึ่งในคำตอบคือเรื่อง “ตลาดซื้อขายคาร์บอนในประเทศ” ของไทยเรานี่เลย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ