สงครามใหญ่รอบต่อไปอาจจะเป็นความพยายามของยูเครนที่จะยึดไครเมียคืนจากรัสเซีย
หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการศึกที่นองเลือดขนานใหญ่
เพราะประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียถือว่าไครเมียเป็น “กล่องดวงใจ” ที่ตอกย้ำความสามารถของเขาที่สามารถผนวกช่องแคบแห่งนี้กลับจากยูเครน
สำหรับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน ภารกิจการขับไล่ทหารรัสเซียออกจากนอกประเทศจะไม่สำเร็จหากไม่สามารถตีคืนไครเมียกลับมา
ทหารรัสเซียจึงกำลังสร้างสนามเพลาะรอบๆ ชายหาดไครเมียเพื่อเตรียมพร้อมทำสงครามกับทหารยูเครนหากมีการรุกคืบมาทางใต้จริง
การที่โดรนจากยูเครนถล่มทำลายสะพานที่เชื่อมระหว่างไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ปูตินเสียหน้ามาก
เพราะปูตินเป็นคนสั่งให้สร้างสะพานแห่งนี้หลังจากที่รัสเซียผนวกไครเมียกลับมาเป็นของรัสเซียเมื่อปี 2014 หรือ 8 ปีก่อน
ดังนั้นกรณีไครเมียจึงไม่มีใครยอมใครทั้งสิ้น
วิกฤตการณ์ไครเมียในปี 2014 เกิดขึ้นในสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียหลังจากการปฏิวัติยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2014
และเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดียูเครน Viktor Yanukovych ถูกโค่นล้ม
เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มชาวรัสเซียส่วนใหญ่ที่ต่อต้านเหตุการณ์ในกรุงเคียฟ
ผู้ประท้วงเหล่านี้ต้องการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
หรือไม่ก็ต้องการให้ยูเครนกลับไปรวมกับรัสเซีย
แต่มีกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งพวกตาตาร์ไครเมียที่รวมตัวกันประท้วงเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติ
พอถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทหารสวมหน้ากากกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอาคารสำคัญหลายแห่งในไครเมีย
รวมทั้งอาคารรัฐสภาและสนามบิน 2 แห่ง
หลังจากความวุ่นวายและมีการปิดล้อมตึกที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่น สภาสูงสุดของไครเมียมีมติปลดรัฐบาลของสาธารณรัฐปกครองตนเอง
และประกาศเปลี่ยนตัวประธานสภารัฐมนตรีแห่งไครเมีย
รัฐบาลกลางยูเครนกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน
รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหา
รัฐสภายูเครนขอให้ประเทศที่ลงนามใน “บันทึกข้อตกลงของบูดาเปสต์” ยืนยันที่จะยังยึดมั่นต่อหลักการที่ระบุไว้ในข้อตกลงทางการเมือง
และขอให้กลุ่มผู้ยึดอำนาจที่ไครเมียปรึกษาหารือกับยูเครนเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
แต่รัสเซียลุยต่อ
ในวันที่ 1 มีนาคม (โดยไม่มีคำประกาศสงคราม) รัฐสภารัสเซียมีมติอนุมัติให้อำนาจประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ใช้กำลังทหารในยูเครน
ในวันเดียวกันนั้น Oleksandr Turchinov รักษาการประธานาธิบดียูเครนออกคำสั่งยืนยันว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไครเมียขัดรัฐธรรมนูญ
ยูเครนประกาศว่า "เราถือว่าพฤติกรรมของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นการรุกรานโดยตรงต่ออำนาจอธิปไตยของยูเครน!"
กลางเดือนมีนาคม มีการทำ “ประชามติ” ในระดับท้องถิ่นเพื่อถามว่าไครเมียจะกลับไปอยู่กับรัสเซียหรือไม่
ต่อจากนั้นรัสเซียประกาศยอมรับไครเมียเป็นรัฐอธิปไตย
และดำเนินการผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ
กระทรวงการต่างประเทศของยูเครนเรียกตัวหัวหน้าชั่วคราวของรัสเซียในยูเครนเพื่อยื่นประท้วง
ยูเครนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรรัสเซีย ตลอดจนขึ้นบัญชีดำและอายัดทรัพย์สินของบุคคลและหน่วยงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการผนวกดินแดนนี้
ยูเครนเริ่มรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าของรัสเซีย
ประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนจุดยืนของยูเครน (เช่น สหภาพยุโรป นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ แอลเบเนีย มอนเตเนโกร สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ) ร่วมในการคว่ำบาตรรัสเซีย
รัสเซียตอบโต้ด้วยมาตรการที่คล้ายคลึงกันต่อยูเครนและผู้สนับสนุน
วันที่ 19 มีนาคม ปีเดียวกัน ทหารยูเครนจำนวนมากถูก “ทหารนอกเครื่องแบบ” ปิดล้อมที่ฐานทัพ ถูกถอนกำลังออกจากไครเมีย
วันที่ 8 เมษายน มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยมีการส่งคืนเรือที่ถูกยึดกลับไปให้ยูเครน และปล่อยเครื่องบินยูเครนจำนวนหนึ่งที่ถูกยึดในไครเมีย
ต่อจากนั้น รัสเซียส่งคืนเรือ 35 ลำของยูเครนที่ถูกอายัดระหว่างการผนวกไครเมีย
วันที่ 14 เมษายน ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียประกาศว่าเขาจะเปิดบัญชีเฉพาะเงินรูเบิลกับธนาคาร Rossiya และจะทำให้ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารหลักในแหลมไครเมียที่เพิ่งผนวกเข้ามาใหม่
พร้อมทั้งให้สิทธิ์ในการชำระค่าบริการในตลาดค้าส่งไฟฟ้ามูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ของรัสเซีย ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายปีละ 112 ล้านดอลลาร์ จากค่าคอมมิชชั่นเพียงอย่างเดียว
วันที่ 15 เมษายน ผู้นำไครเมียที่รัสเซียแต่งตั้งประกาศให้ "สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย" และเมืองท่าหลักเซวาสโทพอลอยู่ภายใต้ "การยึดครองชั่วคราว" โดยกองทัพรัสเซีย
ปูตินประกาศว่ากองทัพรัสเซียสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนไครเมีย
โดยระบุว่าการแทรกแซงของรัสเซียมีความจำเป็น "เพื่อให้แน่ใจว่ามีเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับประชาชนในไครเมียที่จะสามารถแสดงเจตจำนงของตนได้อย่างอิสระ"
ตลอดเดือนมีนาคมและเมษายนปีนั้น เกิดความวุ่นวายจากฝ่ายสนับสนุนรัสเซียแพร่กระจายในยูเครน
กลุ่มเหล่านี้ประกาศก่อตั้ง "สาธารณรัฐประชาชน" ในแคว้นโดเนตสค์และลูฮานสค์ภายในปี 2017
วันที่ 17 กรกฎาคม 2014 สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 ถูกยิงตกโดยขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศ Buk ที่ยิงจากดินแดนที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนควบคุมโดยกลุ่มฝักใฝ่รัสเซียในยูเครน
ผู้โดยสารทั้งหมด 283 คน และลูกเรือ 15 คนเสียชีวิต
การปะทะทางทหารระหว่างกลุ่มกบฏนิยมรัสเซีย (ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพรัสเซีย) และกองทัพยูเครนเริ่มขึ้นในภูมิภาคดอนบัสในเดือนเมษายน 2014
วันที่ 5 กันยายน ปีนั้นเอง รัฐบาลยูเครนและตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ที่ประกาศแยกดินแดนลงนามในข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว
แต่ก็ไร้ผล เพราะการสู้รบครั้งใหม่ที่เข้มข้นกว่าก็ระเบิดขึ้นเดือนมกราคมปีถัดมา
รัสเซียถูกนาโตและยูเครนกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการทางทหารโดยตรงเพื่อสนับสนุนสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์
รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2015 ปูตินยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารของรัสเซียกำลังปฏิบัติการในยูเครน
รัสเซียบอกว่า "อาสาสมัคร" ของรัสเซียกำลังช่วยเหลือสาธารณรัฐประชาชนแบ่งแยกดินแดน
ในการประชุมสมัชชารัฐสภาแห่งสภายุโรป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2014 ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน แถลงว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างยูเครนกับรัสเซีย “ไม่สามารถทำให้เป็นปกติได้”
เว้นแต่ว่ารัสเซียจะยกเลิกการผนวกไครเมียและคืนการควบคุมไครเมียให้กับยูเครน
นั่นคือที่มาของสถานการณ์ไครเมียที่กำลังจะระเบิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
หากทหารยูเครนเดินแผนตีคืนไครเมียในอนาคตอันใกล้นี้อย่างที่นักยุทธศาสตร์ฝั่งยูเครนกล่าวอ้างในสัปดาห์ที่ผ่านมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ