ปกติ “จุดเปราะบาง” ที่อาจจะระเบิดตูมตามกลายเป็นสงครามในเอเชียนั้นเรามักคิดถึงช่องแคบไต้หวัน, คาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้
แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุปะทะกันที่ชายแดนจีนกับอินเดียอีกครั้ง
ทำให้เราไม่อาจจะลืมว่า 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียนั้นยังมีประเด็นระหองระแหงที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ตลอดเวลาเช่นกัน
จีนกับอินเดียมีทั้งเรื่องที่ร่วมมือกันสร้างความรุ่งเรืองร่วมกันได้ แต่ก็มีประเด็นขัดแย้งที่ทำให้โลกวุ่นวายปั่นป่วนได้ไม่น้อยเช่นกัน
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดนั้นเกิดจากที่อินเดียออกข่าวว่าทหารของตนได้พยายามสกัดกั้นทหารจีนกลุ่มหนึ่งไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของของตน
พอยันกันอยู่ก็เกิดการปะทะกันรอบใหม่บริเวณพรมแดนในเขตรัฐอรุณาจาล ประเทศของอินเดีย
ทำให้ชาวโลกต้องกลับมาให้ความสนใจเทือกเขาหิมาลัยและชายแดนของ 2 ประเทศที่ยาวเหยียดถึง 3,440 กิโลเมตร
และหลายๆ ส่วนของชายแดนนี้มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่เป็นเรื่องเป็นราวกันมายาวนาน
การเผชิญหน้าล่าสุดเกิดขึ้น 2 ปีหลังจากการต่อสู้ระหว่างทหารทั้ง 2 ฝ่ายในอีกด้านหนึ่งของพรมแดนตรงเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปี 2020
คราวนั้นทหารอินเดียเสียชีวิต 20 คน ฝ่ายจีนสูญเสียทหาร 4 คน
ความจริงความขัดแย้งระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียมีมายาวนานตั้งแต่ตอนต้นของศตวรรษที่ 20
เป็นผลพวงของอังกฤษอีกนั่นแหละที่พยายามจะแบ่ง “เขตอิทธิพล” ระหว่างอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษกับทิเบต
ในขณะนั้นทิเบตยังไม่ได้อยู่ใต้จีน
ทางตะวันตกของชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียนั้น อินเดียอ้างสิทธิ์เหนือ Aksai Chin ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ใต้การควบคุมของจีนที่ควบคุมเขตซินเจียง
ทางด้านตะวันออก จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐอรุณจาลทั้งหมดของอินเดีย
โดยจีนอ้างว่าบริเวณนั้นในประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของทิเบตมาตลอด
ทะไล ลามะ องค์ก่อนประสูติที่วัดที่เมือง Tawang
เมื่อ 60 ปีก่อน อินเดียกับจีนก่อสงครามก็ด้วยข้อพิพาทดินแดนในบริเวณนั้น
คราวนั้นการสู้รบจบลงด้วยกองทัพปลดแอกประชาชนของจีนได้ชัยเหนือทหารอินเดีย
กลายเป็นความเคียดแค้นระหว่าง 2 ประเทศมาตลอดจนถึงวันนี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งก็ปะทุระหว่างกองกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นระยะๆ
แต่มีข้อตกลงกันว่า ทหารทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่พกอาวุธปืนหากมีการเผชิญหน้ากัน
เราจึงเห็นคลิปวิดีโอเก่าที่ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันด้วยกระบอง เหมือนการทำสงครามในอดีตที่ใช้หอกแหนแหลนหลาวมากกว่าใช้กระสุนปืนยิงใส่กัน
ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการยอมรับเส้นทางการลาดตระเวนของแต่ละฝ่ายเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการปะทะกัน
เส้นแบ่งที่กั้นระหว่าง 2 ฝั่งอย่างไม่เป็นทางการเรียกกันว่าเป็น Line of Actual Control หรือ “เส้นควบคุมของจริง”
เหตุการณ์ล่าสุดครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย ราชนาธ ซิงห์ รายงานต่อรัฐสภาว่า "เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ทหารจีนได้พยายามเปลี่ยนสถานะ (status quo) ด้วยการรุกล้ำเข้ามาในเส้นแบ่งพรมแดนในเขตตาวัง”
พร้อมกับรายงานว่า ทหารอินเดียได้เข้าสกัดกั้นและขับไล่ทหารจีนกลับออกไป
ทางการอินเดียยืนยันว่า ไม่มีทหารอินเดียเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดนี้
จากนั้นก็แจ้งว่า ผู้บัญชาการทหารของอินเดียได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารของจีน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม หารือที่มาที่ไปของเหตุการณ์ครั้งนี้
แถลงการณ์ของกองทัพอินเดียอ้างว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างถอนกำลังออกจากบริเวณนั้นทันทีหลังการปะทะ
ฝ่ายจีนดูเหมือนจะพยายามไม่กระพือให้เหตุการณ์ครั้งนี้บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่เป็นข่าวไปทั่วโลก
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน ใช้การแถลงข่าวประจำวันว่า แจ้งว่าสถานการณ์บริเวณพรมแดนติดกับอินเดียค่อนข้างจะ “มีเสถียรภาพ”
ขอให้อินเดีย "ช่วยกันปกป้องสันติภาพและความสงบสุขของพรมแดน 2 ประเทศ"
ท่าทีของจีนกับอินเดียต่างกันอย่างน่าสนใจ
อินเดียต้องการจะออกข่าวให้เห็นว่าฝ่ายจีนรุกล้ำเข้ามาก่อน ฝ่ายจีนพยายามจะทำให้สถานการณ์ดูเหมือนจะไม่มีอะไรร้ายแรง
จึงควรจะมีการเจรจาหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
รายละเอียดของการปะทะกันไม่เป็นที่เปิดเผยจากรัฐบาลทั้ง 2 ฝั่ง
แต่สื่ออินเดียอ้างคำพูดของแหล่งข่าวว่า ณ ที่เกิดเหตุว่าการต่อสู้ส่วนใหญ่ใช้ท่อนไม้และมือเปล่า ไม่มีการใช้อาวุธร้ายแรงยิงใส่กัน
แต่ก็เป็นการ “ปะทะกัน” เป็นเวลานับชั่วโมง
โดยมีทหารของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมหลายร้อยคน
จุดที่เกิดเหตุคือเขตตาวัง (Tawang) ในรัฐอรุณาจาล ประเทศที่อินเดียครอบครองอยู่
แต่จีนอ้างกรรมสิทธิ์บริเวณนั้นมายาวนาน
โดยปักกิ่งเรียกบริเวณนั้นว่าเป็น "ทิเบตใต้" (Southern Tibet)
ณ จุดนี้แหละเมื่อปี 1962 ที่จีนกับอินเดียเปิดศึกร้อนแรง
เป็นจังหวะที่จีนได้รุกคืบเข้ายึดรัฐนี้
แต่หลังการเจรจาหลายรอบ จีนยอมส่งคืนพื้นที่ให้อยู่ในการควบคุมของอินเดีย และตกลงจัดทำ Line of Actual Control
เพื่อเป็นเส้นสมมติที่ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ละเมิดกันและกันเพื่อป้องกันสงครามขนานใหญ่ตรงเทือกเขาหิมาลัย
ความจริง ก่อนหน้านั้นมีสัญญาณของความไม่ปกติตรงชายแดนอยู่แล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียแจ้งรัฐสภาอินเดียว่า ได้แจ้งเตือนจีนทราบอย่างชัดเจนว่าจะ “ไม่อดทน” ต่อความพยายามใดก็ตามที่จะเปลี่ยนสถานะของ Line of Actual Control นี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากอินเดีย
อีกทั้งยังนิวเดลฮียังเตือนปักกิ่งว่า จะต้องไม่มีการเพิ่มกำลังทหารในบริเวณที่เปราะบางตรงนั้นด้วย
นักวิเคราะห์มองว่า เหตุการณ์ครั้งล่าสุดจะทำให้การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ประสบกับอุปสรรคมากขึ้น
เพราะทั้งนายกฯ นเรนทรา โมดี และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่อาจจะยอมมีภาพที่ต้องยอมเสียดินแดนให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
มันคือศักดิ์ศรีของทั้ง 2 ประเทศ
และผู้นำทั้ง 2 ก็ต้องการจะยึด “กระแสชาตินิยม” เอาไว้เป็นแนวทางรักษาความนิยมชมชอบของตนสำหรับการเมืองภายใน
แม้ว่าอินเดียกับจีนต่างพยายามจะรักษาภาพลักษณ์ของการคบหากันในเวทีระหว่างประเทศ เมื่อทั้ง 2 ได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การที่อินเดียกับจีนต่างอยู่ในกลุ่ม BRICS (ที่มีรัสเซีย, บราซิลและแอฟริกาใต้ร่วมด้วย)
แต่อินเดียก็เป็นสมาชิกของ “จตุภาคี” QUAD ที่มีสหรัฐฯ, ญี่ปุ่นและออสเตรเลียร่วมด้วยเช่นกัน
จีนมอง QUAD เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตนที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวหอก
ดังนั้นลึกๆ แล้ว 2 ยักษ์แห่งเอเชียก็ยังคบกันอย่างไม่สนิทใจนัก
การปะทะกันตรงชายแดนจึงยังจะเป็น “ภาวะตึงเครียดถาวร” ไม่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ยังไม่อาจจะ “ลงรอย” กันได้อีกยาวนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ