ทำไมญี่ปุ่นจึงต้องเสริมเขี้ยวเล็บทางด้านทหารอย่างเปิดเผยและเป็นรูปธรรมอย่างที่เพิ่งประกาศไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา?
เอกสารทางการแจ้งว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งสำคัญนี้ระบุว่า “ศูนย์กลางอำนาจของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่เอเชียแปซิฟิก"
และเตือนว่า "บางประเทศ" กำลังพยายามเพิ่มอิทธิพลและสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นๆ ด้วยวิธีจำกัดการนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติและให้เงินกู้ในลักษณะที่ไม่สนใจว่าลูกหนี้จะมีความสามารถจ่ายคืนหรือไม่
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าญี่ปุ่นหมายถึงใคร
นายกฯ ฟูมิโอะ กิชิดะ กล่าวในการแถลงข่าวว่า “สภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยโดยรอบญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
และสำทับว่า “ผมจะปฏิบัติภารกิจในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อปกป้องประเทศชาติและประชาชนท่ามกลางจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์”
เขาเน้น “จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์” เป็นหัวใจของการที่ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย
ที่ในอดีตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คนญี่ปุ่นจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง
นั่นคือเรื่องของกองกำลังทางทหาร
เพราะรอยด่างที่ญี่ปุ่นเคยร่วมมือกับเยอรมนีในการทำสงครามกับตะวันตกจนถูกทำลายด้วยระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
คิชิดะบอกว่า รัฐบาลได้ทำการจำลองสถานการณ์เพื่อประเมินว่าประเทศญี่ปุ่นวันนี้มีความสามารถในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามเพียงพอหรือไม่
และสรุปอย่างน่าตกใจว่า “ความเข้าใจของผมคือขีดความสามารถในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ”
อีกทั้งยังวิเคราะห์ในฐานะผู้รับผิดชอบกองทัพด้วยว่า ญี่ปุ่นต้องเสริมความแข็งแกร่งในบางด้าน เช่น ศักยภาพในการตอบโต้หากถูกโจมตี
และยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการป้องกันประเทศด้านไซเบอร์
เพราะ "เส้นแบ่งระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินกับช่วงเวลาสงบสุขกำลังเลือนรางมากขึ้นเรื่อยๆ"
นี่เป็นภาษาของนักการเมืองที่กำลังใช้ศัพท์แสงทางยุทธศาสตร์ทางทหารมาบรรยายสรุปให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปด้วยภาษาง่ายๆ ที่สะท้อนทิศทางใหม่ของรัฐบาล
เอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนี้เป็นการวางนโยบายพื้นฐานสำหรับการทูตและกลาโหมได้รับการแก้ไขเป็นครั้งแรก
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2013 เอกสารอีก 2 ฉบับคือ "ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ" และ "แผนพัฒนากองกำลังป้องกันประเทศ"
เอกสารที่วางแผนทางยุทธศาสตร์ทางทหารที่ว่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกว่า National Security Strategy หรือ NSS หรือ "แนวทางโครงการป้องกันประเทศ"
เอกสารชุดนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1976 อันเป็นปีที่ทั้งโลกตกอยู่ภายใน “สงครามเย็น”
พอบรรยากาศสงครามเย็นเริ่มผ่อนคลาย NSS ก็ปรับยุทธศาสตร์ออกจากแนวคิดเดิมที่มีกองทัพไว้เพื่อป้องกันตัวเองเป็นหลัก
แต่เพราะข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลญี่ปุ่นเกือบทุกชุดก็วางจุดยืนไว้ในแนวทางที่ยังพึ่งพิงสหรัฐฯ สำหรับการป้องกันประเทศ
มีการเปรียบเทียบว่า ภายใต้ข้อตกลงระหว่างโตเกียวกับวอชิงตันนั้น สหรัฐฯ รับบทเป็น "หอก" และญี่ปุ่นเป็น "เกราะกำบัง"
แต่ในอนาคตกองกำลังญี่ปุ่นจากการเน้นที่ระบบการตั้งรับด้วยการสกัดขีปนาวุธมาเป็น "การป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการ"
จุดระหองระแหงระหว่างญี่ปุ่นกับจีนคือบริเวณรอบเกาะ Senkaku (ที่จีนเรียก “เตี้ยวหยู”) ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของ
เอกสารญี่ปุ่น NSS ระบุชัดแจ้งว่า จีนเป็น "ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเผชิญมา"
ทั้งๆ ที่เดิมเคยเรียกประเด็นขัดแย้งนี้ว่าเป็น "ความกังวลของประชาคมนานาชาติ”
ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศแนวทางเสริมเขี้ยวเล็บใหม่ ปักกิ่งก็ออกมาต่อต้านฉับพลัน
สถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงโตเกียว ออกแถลงการณ์ว่าญี่ปุ่น "กล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่าท่าทีภายนอกและกิจกรรมทางทหารของจีนเป็น 'ประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง' ต่อประชาคมระหว่างประเทศ"
จีนอ้างว่าเอกสารของญี่ปุ่นจงใจ "บิดเบือนข้อเท็จจริงพื้นฐานอย่างร้ายแรง ละเมิดเจตนารมณ์ของเอกสารทางการเมืองทั้ง 4 ฉบับ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น จงใจยุยงให้เกิดภัยคุกคามจากจีน และกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดและการเผชิญหน้าในระดับภูมิภาค"
โดยจีนอ้างถึงสนธิสัญญาสำคัญและแถลงการณ์ร่วมของทั้ง 2 ประเทศ
ปักกิ่งกล่าวหาญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะสร้างและขยาย เครือข่ายพหุภาคี กับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน
เอกสารของญี่ปุ่นยังชี้ให้เห็นถึงการตระหนักถึง การป้องกันทางไซเบอร์ที่ใช้งานอยู่
โดยซึ่งผู้โจมตีทางไซเบอร์จะถูกตรวจสอบและแทรกซึมเพื่อจัดการกับแหล่งที่มาของการโจมตีอย่างรวดเร็ว
จึงต้องมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงนี้
โดยยอดรวมแล้ว งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของญี่ปุ่นภายใต้แผนใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านล้านเยน (ประมาณ 11 ล้านล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ถึงปีงบประมาณ 2570
ซึ่งสูงกว่าแผนปัจจุบัน 1.5 เท่า งบประมาณ
รวมถึงงบประมาณการเพิ่มหน่วยยามฝั่ง โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้าใกล้ 2% ของ GDP ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2027
รัฐบาลของคิชิดะมีเป้าหมายที่จะขึ้นภาษีเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
สมาชิกพรรค Liberal Democratic Party ของรัฐบาลกำลังถกแถลงว่าจะออกพันธบัตรหรือลดการใช้จ่ายที่อื่น
นายกฯ คิชิดะบอกว่า “ผมตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นการดีจริงๆ หรือไม่ที่จะนำเงินไปซื้อขีปนาวุธโดยการกู้เงินมาใช้”
และสรุปว่าจะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและถาวร
ตั้งแต่ปี 1976 งบประมาณด้านกลาโหมของญี่ปุ่นถูกจำกัดไว้ที่ 1% ของ GDP โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีตากิโอะ มิกิ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งบทหารก็จะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 1% ของ GDP มาตลอด
คิชิดะเรียกร้องความร่วมมือและความเข้าใจจากสาธารณชน
“ความสำคัญของการตระหนักรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการปกป้องประเทศของเราคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากชาวยูเครน”
เขากล่าวเสริมว่า “ในจุดเปลี่ยนของนโยบายความมั่นคงของประเทศนี้ ผมขอความเข้าใจกับประชาชนเพื่อเติมเต็มความรับผิดชอบของเราต่อคนรุ่นหลัง”
ขณะที่จีนคัดค้าน สหรัฐฯ ก็แสดงความยินดีและสนับสนุนอย่างฉับพลัน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขียนขึ้นทวิตเตอร์ว่า "พันธมิตรของเราเป็นรากฐานที่สำคัญของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และเรายินดีที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง"
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า
"วันนี้ญี่ปุ่นได้ดำเนินการอย่างกล้าหาญและเป็นประวัติศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและปกป้องอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ด้วยการนำยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ และโครงการเสริมสร้างกลาโหมฉบับใหม่มาใช้"
เมื่อทุกฝ่ายต่างเสริมเขี้ยวเล็บทางทหาร ความตึงเครียดก็กลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว