สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวคราวจากญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, ไต้หวันและเกาหลีเหนือที่ทำให้เห็นภาพของความเปราะบางของสถานการณ์ความมั่นคงในย่านนี้หนักขึ้นทุกที
ขณะที่สงครามยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนเบาลงในอนาคตอันใกล้
และความตึงเครียดในมุมต่างๆ ของโลกก็ยังเพิ่มดีกรีมากขึ้นตลอดเวลา
และล่าสุดเกาหลีเหนือก็ยิงขีปนาวุธอีก 2 ลูกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ข่าวที่ยกระดับความน่ากังวลว่าการเผชิญหน้าของหลายประเทศที่อาจจะนำไปสู่การใช้กำลังกันนั้นมีอย่างน้อย 3 เรื่อง เฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
เริ่มด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเพิ่มงบประมาณทหารอย่างมีนัยสำคัญเพื่อสร้างแสนยานุภาพทางทหารให้ญี่ปุ่นมีศักยภาพทางด้านการสู้รบในระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ข่าวชิ้นที่ 2 คือสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่นักการเมืองทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่าจะเพิ่มงบประมาณความช่วยเหลือทางทหารให้กับไต้หวัน
เพื่อระงับยับยั้งความพยายามใดๆ ของจีนที่จะยึดเกาะไต้หวันด้วยกำลังในอนาคต
ข่าวชิ้นที่ 3 คือผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ไปกำกับดูแลการพัฒนาเชื้อเพลิงพลังงานสูงสำหรับการผลิตขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีปที่เรียกว่า ICBM ที่อาจยิงไปถึงทวีปอเมริกาเหนือได้เลยทีเดียว
เปียงยางได้ยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องด้วยการเพิ่มความถี่และเปิดตัวขีปนาวุธร้ายแรงที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำลายสูงขึ้นตลอดเวลา
และยืนยันว่าอย่างไรเสียเกาหลีเหนือก็จะไม่มีวันยกเลิกโครงการนิวเคลียร์
เพราะนั่นคือข้อต่อรองเรื่องเดียวที่เกาหลีเหนือพึงมีเพื่อไม่ให้โลกตะวันตกวางแผนโค่นอำนาจของตน
ทั้ง 3 ข่าวชี้ไปในทางเดียวกัน...นั่นคือสงครามหรือการปะทะกันด้วยกองกำลังทหารและอาวุธร้ายแรงนั้นไม่ใช่เรื่องของอนาคตอันแสนยาวไกลอีกต่อไป
ข่าว “ซามูไรติดเขี้ยวเล็บ” ครั้งใหญ่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการป้องกันตัวเองเท่านั้น
แต่ญี่ปุ่นยังระบุว่า ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดสำหรับตนคือจีน
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อปลายสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้เตรียมแผนเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 3 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือไม่ต่ำกว่า 11.2 ล้านล้านบาท”) ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ใครอ่านแผนนี้แล้วจะหนาว เพราะท่ามกลางความห่วงใยเรื่องสงครามทั้งที่คุกรุ่นในเอเชีย และการที่รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน ก็เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นที่ญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่ง
คำประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่อ้อมแอ้ม บอกชัดว่าภายใต้แผนนี้ญี่ปุ่นจะจัดหาขีปนาวุธที่สามารถยิงไปถึงประเทศจีนได้
ถือเป็นครั้งแรกที่ระบุเป้าหมายคือจีน
อีกทั้งยังสำทับว่าการสั่งสมอาวุธคราวนี้จะต้องมีความพร้อมที่จะปกปักรักษาความมั่นคงของประเทศในกรณีเกิดความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออีกด้วย
หากเป็นไปตามแผนสร้างความแกร่งกล้าทางทหารนี้ใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่จัดสรรงบประมาณกลาโหมมูลค่าสูงสุดอันดับ 3 ของโลกกันเลยทีเดียว
ตามหลังเฉพาะสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น
ทั้งๆ ที่มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่สหรัฐฯ เขียนไว้หลังโตเกียวแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นห้ามประเทศนี้มีกองกำลังติดอาวุธของตนเพื่อการรุกรานประเทศอื่นใด
มีทหารและอาวุธก็เพียงเพื่อ “ป้องกันตนเอง” เท่านั้น
จึงเรียกองทัพญี่ปุ่นว่าเป็น Self-Defence Force (SDF) มาตลอดถึงวันนี้
ทำนองเดียวกับที่จีนยังเรียกกองทัพตัวเองว่าเป็น “กองกำลังปลดแอกแห่งประชาชน” หรือ People’s Liberation Army (PLA) อยู่เช่นกัน
ดังนั้น การประกาศนโยบาย “ฉีกแนว” ของญี่ปุ่นว่าด้วยยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ตอกย้ำว่าญี่ปุ่นและประชาชนแดนอาทิตย์อุทัยกำลังมายืนอยู่ที่ “จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์”
และยืนยันว่าแผนยกระดับเพิ่มศักยภาพทางทหารครั้งนี้ “คือคำตอบของผมต่อความท้าทายด้านความมั่นคงมากมายที่เรากำลังเผชิญอยู่”
นักวิเคราะห์มองว่าญี่ปุ่นมีความกังวลว่า การที่รัสเซียบุกยูเครนนั้นเป็นการสร้างตัวอย่างที่ประเทศอื่นอาจจะเอาอย่าง
โดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้ารัสเซียส่งทหารเข้ายึดยูเครนได้ จีนก็อาจจะยกพลขึ้นบกไต้หวันได้เช่นกัน
และหากเกิดเรื่องทำนองนี้จริง ญี่ปุ่นก็จะตกอยู่ในภยันตราย
เพราะเท่ากับเป็นภัยคุกคามต่อเกาะในญี่ปุ่นอย่างปฏิเสธไม่ได้
มิหนำซ้ำหากเกิดการสู้รบขึ้นมาในย่านนี้ก็จะมีผลกระทบต่อสายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
อีกทั้งยังจะกระเทือนระบบขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังภูมิภาคนี้ของโลก
ใครที่ได้อ่านเอกสารของทางการญี่ปุ่นเรื่องนี้จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าฉากทัศน์ที่ประเทศนี้มองไปข้างหน้าคือหลักคิดของยุทธศาสตร์ทางกลาโหมของญี่ปุ่นที่บอกว่า “การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและสั่นสะเทือนฐานรากของระเบียบโลก” อย่างรุนแรงเช่นกัน
คำว่า “ความท้าทายจากจีน” อาจจะฟังดูเบากว่า “ภัยคุกคามจากจีนต่อญี่ปุ่น”
แต่ความหมายก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
“ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่มาจากจีน เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อญี่ปุ่น”
ไม่ต้องตีความระหว่างบรรทัดก็คือ วันนี้ญี่ปุ่นถือว่าจีนเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของตน
ยิ่งเมื่อญี่ปุ่นเห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทหารเพื่อ “รวมชาติ” ในกรณีที่จีนเห็นว่ามีความพยายามจะ “แยกดินแดน” โดยคนบางกลุ่มที่ถูกยั่วยุและสนับสนุนโดยตะวันตก ก็ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้
ในมุมมองของญี่ปุ่นแล้ว พันธมิตรกลุ่มก้อนของจีนย่อมหมายรวมถึงรัสเซียและเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแนวทางป้องกันประเทศของญี่ปุ่นจึงหนีไม่พ้นต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และชาติที่มีมุมมองเดียวกัน เพื่อป้องปรามภัยคุกคามต่างๆ ในวันข้างหน้า
วอชิงตันดูเหมือนจะสนับสนุนแนวคิดเช่นนี้ของญี่ปุ่นค่อนข้างจะเต็มที่ แม้ว่าจะเป็นการเดินฉีกออกจากรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมากพอสมควรก็ตาม
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ราห์ม เอ็มมานูเอล พูดในแถลงการณ์ว่า “นายกรัฐมนตรี (คิชิดะ) ได้บอกกล่าวอย่างชัดแจ้งถึงแนวทางของรัฐบาลญี่ปุ่น นั่นคือบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะผู้มีส่วนสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
รัฐบาลที่ไต้หวันก็มีแนวโน้มจะยืนข้างเดียวกับญี่ปุ่นในกรณีนี้เช่นกัน
ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน บอกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นว่า จากนี้ไปเธอคาดหวังที่จะมีความร่วมมือทางกลาโหมมากขึ้นกับญี่ปุ่น
แต่หากพิจารณาตัวเลขงบประมาณทางทหารของจีน ปักกิ่งก็ยังมีเงินใช้เพื่อเสริมสร้างกำลังทางทหารมากกว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่า
และหากย้อนกลับไปดูตัวเลขงบประมาณกลาโหมของ 2 ประเทศนี้แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าปักกิ่งมีเงินใช้จ่ายด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าญี่ปุ่นแล้วตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21
ภายใต้แผนเสริมเขี้ยวเล็บใหม่นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดสรรงบคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศในช่วง 5 ปีจากนี้
เปรียบเทียบกับนโยบายเดิมที่ญี่ปุ่นจำกัดงบการทหารของตนเองอยู่ที่ร้อยละ 1 ของ GDP ตั้งแต่เมื่อ 46 ปีก่อน
เมื่อวางแผนเพิ่มศักยภาพทางทหารกันถึงขนาดนี้แล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ต้อง “จัดเต็ม”
โดยเฉพาะต้องให้มีครบตามแนวโน้มของเทคโนโลยีทางกลาโหมที่พัฒนาขึ้นอย่างมากมายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
คลังแสงอาวุธจึงไม่ได้มีเพียงอาวุธยุทโธปกรณ์ตามรูปแบบดั้งเดิมต่างๆ เช่น ระเบิด กระสุนและปืน
แต่จะต้องมีการจัดหาพัฒนาและสั่งซื้อโดรนสอดแนม อุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารผ่านดาวเทียม เรือดำน้ำ เรือรบ เครื่องบินรบล่องหน เอฟ-35
ทั้งหมดนี้ผู้ตอบสนองความต้องการของญี่ปุ่นก็หนีไม่พ้นสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ.
(พรุ่งนี้ : ก้าวต่อไปของซามูไร)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ