พอเกิดสงครามยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอิหร่านก็ถูกจับตาโดยโลกตะวันตกทันที
เพราะอิหร่านเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในหลายด้าน
ทั้งสองประเทศก็มีข้อตกลงด้านความมั่นคงที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ปี 2015
ล่าสุด สหรัฐฯ เตือนว่ารัสเซีย-อิหร่านกำลังเดินหน้ากระชับความเป็น 'หุ้นส่วน' ด้านกลาโหม ‘เต็มรูปแบบ’
ความหมายก็คือตะวันตกเริ่มจะเห็นการแบ่งขั้วด้านความมั่นคงชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่ากำลังให้ความช่วยเหลือทางทหารขั้นสูงแก่อิหร่าน
ซึ่งรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินรบ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ
ในขณะที่เตหะรานจัดหาโดรนเพื่อสนับสนุนการรุกรานยูเครนของประธานาธิบดีปูติน
สัปดาห์ที่ผ่านมา จอห์น เคอร์บี โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว อ้างถึงการประเมินข่าวกรองของสหรัฐฯ ว่ารัสเซียได้เสนอ “การสนับสนุนทางทหารและทางเทคนิคในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับอิหร่าน”
ซึ่งเท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้สู่การเป็น “หุ้นส่วนด้านกลาโหมอย่างเต็มตัว”
เคอร์บีกล่าวว่ารัสเซียและอิหร่านกำลังวางแผนที่จะตั้งสายการผลิตโดรนในรัสเซียเพื่อใช้ในการทำสงครามในยูเครน
ข่าวกรองตะวันตกอ้างว่ารัสเซียกำลังฝึกนักบินอิหร่านในเครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-35
และอิหร่านสามารถรับมอบเครื่องบินได้ภายในปีนี้
“เครื่องบินรบเหล่านี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพอากาศของอิหร่านเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค” เคอร์บีกล่าว
วงการความมั่นคงระหว่างประเทศเชื่อว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยเจตนาของสหรัฐฯ ที่จะเดินหน้า “โดดเดี่ยวรัสเซียทั่วโลก”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ กล่าวหาว่าซาอุดีอาระเบียเข้าข้างรัสเซียในความขัดแย้งโดยการลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มพันธมิตร OPEC+ เพื่อเพิ่มราคาน้ำมัน
ซึ่งตะวันตกเห็นว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับรัสเซียในการทำสงครามยูเครน
ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านอยู่คนละฟากของสงครามตัวแทนในเยเมนที่ดำเนินมายาวนานหลายปี
เคอร์บีอ้างว่าการผ่องถ่ายอาวุธระหว่างรัสเซียกับอิหร่านเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
และประกาศว่าสหรัฐฯ จะ “ใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่เพื่อเปิดโปงและขัดขวางกิจกรรมเหล่านี้”
สังเกตได้ว่าข้อกังวลว่าด้วย “หุ้นส่วนด้านการป้องกันที่ลึกซึ้งและขยายตัว” ระหว่างรัสเซียและอิหร่านล่าสุดนี้มีขึ้นในขณะที่อเมริกากล่าวหาอิหร่านหลายครั้งว่าช่วยเหลือรัสเซียในการรุกรานยูเครน
อิหร่านถูกกล่าวหาว่าได้ขายโดรนโจมตีหลายร้อยลำให้กับรัสเซียในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
เคอร์บีย้ำความเชื่อของสหรัฐฯ ว่าอิหร่านกำลังพิจารณาขายขีปนาวุธหลายร้อยลูกให้กับรัสเซีย
บาร์บารา วูดวาร์ด เอกอัครราชทูตสหประชาชาติประจำของสหราชอาณาจักรกล่าวหารัสเซียว่าพยายามจัดหาอาวุธเพิ่มเติมจากอิหร่าน
ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธหลายร้อยลูก
เพื่อแลกกับ “การสนับสนุนทางทหารและทางเทคนิคในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” แก่เตหะราน
“เรากังวลว่ารัสเซียตั้งใจที่จะจัดหาส่วนประกอบทางทหารขั้นสูงให้กับอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านเสริมศักยภาพด้านอาวุธของพวกเขา” เธอกล่าว
“ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ความจริงเกี่ยวกับการจัดหาของอิหร่านให้กับรัสเซียจะถูกเปิดเผย และได้รับการสอบสวนโดยสหประชาชาติโดยเร็วที่สุด”
ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่รัสเซียเรียกร้องให้มีขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบของอาวุธตะวันตกที่ส่งเข้าไปในยูเครนนั้น เอกอัครราชทูตสหประชาชาติของรัสเซีย วาสซิลี เนเบนเซีย ปฏิเสธอีกครั้งว่าอิหร่านไม่ได้ส่งอาวุธให้ยูเครน
“ศูนย์อุตสาหกรรมทางทหารในรัสเซียสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร ในขณะที่อุตสาหกรรมทางทหารของยูเครนไม่มีอยู่จริงและได้รับความช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมตะวันตกและบริษัทตะวันตก” เขากล่าว
แต่แม้ว่าทำเนียบขาวจะกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนความพยายามทำสงครามของรัสเซีย แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2015 ซึ่งถูกขัดขวางโดยฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018
สนธิสัญญาที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการร่วมที่ครอบคลุม หรือ JCPOA จะช่วยให้อิหร่านได้รับการผ่อนปรนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับข้อยินยอมของอิหร่านที่จะยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ไปยังขอบเขตที่กำหนดโดยข้อตกลงปี 2015
ในปีเดียวกันนั้นเอง รัสเซียและอิหร่านลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหาร
เป็นการลงนามโดยรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย Sergei Shoigu และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิหร่าน Hossein Dehghan ในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร “ระยะยาวและหลากหลายมิติ” ที่กรุงเตหะราน
นั่นนับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียเดินทางเยือนอิหร่าน และเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางทหารและการทูตที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ
ที่ผนึกกำลังกันโดยการต่อต้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและที่อื่นๆ
ตอนนั้น รัฐมนตรีกลาโหมอิหร่านเน้นย้ำว่า “อิหร่านและรัสเซียสามารถเผชิญหน้ากับการแทรกแซงของผู้แผ่ขยายและความละโมบของสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือ การผนึกกำลัง และการเปิดใช้ศักยภาพเชิงกลยุทธ์ … ในฐานะเพื่อนบ้านทั้งสอง อิหร่านและรัสเซียมีมุมมองร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ภูมิภาค และระดับโลก”
รัสเซียและอิหร่านยังคงสนับสนุนระบอบอัสซาดในซีเรียอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2000 อิหร่านเป็นผู้นำเข้ายุทโธปกรณ์ทางทหารรายใหญ่อันดับสี่ของรัสเซีย รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยซื้ออาวุธคิดเป็นร้อยละ 6.1 ของการส่งออกอาวุธทั้งหมดของรัสเซีย
ประเมินว่าอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซียสูญเสียยอดขายอาวุธไปราว 13,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากการคว่ำบาตรของสหประชาชาติต่ออิหร่านกรณีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
วันนี้ เมื่อรัสเซียขยับเข้าใกล้อิหร่านก็เห็นภาพชัดขึ้นของการแยกขั้วระหว่างตะวันตกกับรัสเซียและพันธมิตร
สงครามยูเครนกำลังขยายวงออกไปอีกหลายมิติที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ