ผู้ชายวัย 91 คนนี้เป็นที่หมายปองของทั้งสหรัฐฯ และจีน...แต่เขาปักหลักอยู่ที่ไต้หวัน
ใครๆ ก็อยากคุยกับเขา เพราะ Morris Chang หรือ "จางจงโหมว" เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ผลิต semi-conductors หรือ chips (ชิป) ใหญ่ที่สุดของโลก
นั่นคือ Taiwan Semi-conductors Corporation (TSMC)
เพราะ “ชิป” คือชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับอุปกรณ์ที่มีความสำคัญของโลก
ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปถึงเครื่องบินทิ้งระเบิด...และดาวเทียมที่ลอยล่องอยู่กลางอวกาศ
ทุกวันนี้สหรัฐฯ กับจีนกำลังแข่งขันกันเป็นเจ้าทางด้านชิป...ใครต่อใครจึงต้องมาหา Morris Chang
เขาพูดอะไรคนทั้งโลกต้องฟัง
ล่าสุด มอร์ริสประกาศว่า “โลกาภิวัตน์” กำลัง “ใกล้ตาย” เต็มทีแล้ว
เขาแสดงความเห็นที่เขย่าโลกเช่นนี้ในสุนทรพจน์ที่โรงงานที่ผู้ผลิตชิปกำลังสร้างในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม
ในฐานะ “บิดาแห่งอุตสาหกรรมชิปของไต้หวัน” มอร์ริสบอกว่า ภูมิรัฐศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เผชิญอยู่อย่างมาก
และเตือนว่า “โลกาภิวัตน์และการค้าเสรีใกล้จะถึงกาลอวสานแล้ว”
และถ้าตายแล้วก็ไม่น่าจะกลับมาอีก!
ที่นี่คือโรงงานชิปขั้นสูงแห่งแรกของ TSMC ในสหรัฐอเมริกาในรอบกว่าสองทศวรรษ
และแม้จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านนี้ เขาก็ยังย้ำว่ายังจะต้อง “ทำงานอย่างหนัก" เพื่อให้ประสบความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง
มอร์ริสเปรียบเทียบโครงการมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ (1.4 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบันกับตอนที่ TSMC สร้างโรงงานแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่เมืองคามาส รัฐวอชิงตัน ในปี 1995
เพียง 8 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก
"ยี่สิบเจ็ดปีผ่านไป อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลก การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งมโหฬาร”
มอร์ริสบอกว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์กำลังตกอยู่ใน “สภาวะใกล้ตาย”
และ “การค้าเสรี” ก็กำลังอยู่ในระดับปริ่มน้ำ
“ผู้คนจำนวนมากยังคงหวังว่ามันจะกลับมา แต่ผมไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก" เขาย้ำ
แน่นอนว่าภูมิหลังของคำทำนายเช่นนี้คือความหวาดกลัวที่เพิ่มขึ้นว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่วนหนึ่งคือ “สงครามชิป” กำลังแบ่งห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีทั่วโลกออกเป็นสองค่าย
วอชิงตันพยายามจะสกัดความทะเยอทะยานของปักกิ่งในการสร้างแสนยานุภาพทางด้านอุตสาหกรรมชิปด้วยข้อจำกัดใหม่ๆ ที่เริ่มเห็นชัดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างๆ เช่น TSMC ให้บริการลูกค้าในจีนได้ยากขึ้น
มอร์ริสบอกว่าเขาใฝ่ฝันที่จะสร้างโรงงานชิปหรือโรงงานที่ยอดเยี่ยมในสหรัฐฯ มาโดยตลอด
เพราะในชีวิตของเขานั้นได้รับการศึกษาและทำงานในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายสิบปี
แม้ว่าประสบการณ์แรกๆ ของเขาจะไม่ราบรื่นนัก
"สำหรับผม มันเป็นความฝันที่เป็นจริง" มอร์ริสบอก "แต่โรงงานแห่งแรกประสบปัญหาค่าใช้จ่าย เราประสบปัญหาผู้คน เราประสบปัญหาทางวัฒนธรรม ความฝันที่เป็นจริงกลายเป็นฝันร้ายที่เป็นจริง เราใช้เวลาหลายปีในการคลายตัวเองจากฝันร้าย และผมตัดสินใจว่า ต้องเลื่อนความฝันออกไป”
ในทศวรรษต่อมา TSMC มุ่งเน้นไปที่การสร้างกำลังการผลิตชิปที่ทันสมัยในตลาดบ้านเกิดคือไต้หวัน
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ขณะเดียวกันก็พัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง
มอร์ริสบอกว่าจุดพลิกผันคือเมื่อเขาสามารถติดตั้งเครื่องมือที่ทันสมัย ตอบโจทย์ของลูกค้าที่สหรัฐฯ เป็นสัญญาณการสิ้นสุดของขั้นตอนหนึ่งในการทำให้การเสนอราคาของสหรัฐฯ ได้รับผลตอบแทนที่ดี
“ความรู้สึกโรแมนติกของการได้ริเริ่มอะไรใหม่ๆ หดหาย และความตื่นเต้นในตอนแรกสลายไป แต่การทำงานหนักยังคงอยู่” มอร์ริสในฐานะผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมนี้เล่าให้ฟัง
ผู้นำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยกย่องโรงงานแห่งนี้ว่าเป็น “ชัยชนะของสหรัฐฯ” ในการผลักดันการผลิตชิปล้ำสมัยในอเมริกา
TSMC ประกาศในวันเดียวกันว่าจะเพิ่มการลงทุนในรัฐแอริโซนาเป็นสามเท่าไปอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อนำเทคโนโลยีชิปขั้นสูงสุดมาสหรัฐฯ
ทำไมสหรัฐฯ ต้องเชิญชวน TSMC มาตั้งโรงงานใหญ่ที่สหรัฐฯ อย่างออกหน้าออกตาเช่นนั้น?
วอชิงตันอ้างถึง “ข้อกังวลด้านความมั่นคงของชาติและปัญหาด้านอุปทาน” ที่ต้องการนำการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญกลับคืนมาสู่ดินแดนของตน
ประเด็นเรื่องภูมิศาสตร์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
เพราะสงครามและโรคระบาดได้ทำให้ logistics หรือเครือข่ายการขนส่งของโลกถูกตัดขาดต่อหน้าต่อตาชั่วข้ามคืน
อยู่ๆ ก็เกิดปัญหาการขาดแคลนชิปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ท้ายที่สุดแล้ว ทุกประเทศก็ต้องสร้างระบบที่ให้ความมั่นใจได้ว่า ที่สำคัญที่สุดคือห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ผันแปรได้ตลอดเวลา
แม้แต่ Tim Cook ซีอีโอของ Apple ยังยอมรับความจริงข้อนี้
เขาบอกว่า "ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าที่เราได้ดำเนินการกับ Apple silicon ได้เปลี่ยนโฉมอุปกรณ์ของเรา ซึ่งได้ปลดล็อกประสิทธิภาพระดับใหม่สำหรับผู้ใช้ของเรา ทำให้พวกเขาสามารถทำสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำได้มาก่อน"
Cook เสริมว่า "และตอนนี้ ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของผู้คนมากมาย ชิปเหล่านี้สามารถประทับตราว่า 'Made in America' ได้อย่างภาคภูมิ”
เขาบอกว่าจังหวะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นโอกาสของสหรัฐอเมริกา ที่จะนำเข้าสู่ยุคใหม่ของการผลิตขั้นสูง"
สำหรับมอร์ริสแล้ว ลูกค้าสำคัญแรก ๆ ของโรงงานใหม่ของเขาในอเมริกาคือ Apple, AMD และ Nvidia
ซึ่งต้องถือว่าเป็นแกนหลักของการทำให้การย้ายฐานการผลิตจากไต้หวันมาสหรัฐฯ ครั้งนี้มีความหมายที่สำคัญ
แม้ว่าตาอีกข้างหนึ่งของเขาจะหันไปเหลือบดูปฏิกิริยาของปักกิ่งอย่างสนอกสนใจยิ่ง
เพราะจีนแผ่นดินใหญ่เองก็พยายามจะสร้างอุตสาหกรรมชิปของตัวเองขึ้นอย่างคึกคัก
“สงครามชิป” (The Chip War) จึงกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงระหว่างสองยักษ์ใหญ่
ที่มีมอร์ริสเป็นเดิมพันสูงสุด...โดยไม่ยอมตกเป็น “ตัวประกัน” ในการเผชิญหน้าระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง
ที่ไต้หวันถูกวางตัวไว้เป็นหมากสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ