ดูเหมือนว่าบริการทางการเงินแบบฝังตัวกำลังเป็นดิสรัปชันใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารทั่วโลก โดยบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนี้ เปิดทางให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นนอนแบงก์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้าและแหล่งรายได้ตลาดลูกค้ารายย่อย ซึ่งธุรกิจธนาคารควรยกระดับแพลตฟอร์มและสร้างข้อเสนอที่มีการฝังบริการทางการเงินเพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ตลอดจนปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นทางหนึ่งด้วย
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินทั้งในส่วนของภาคธนาคารและประกันภัยทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดจากบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) ซึ่งถือเป็นรูปแบบบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า
โดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้เริ่มนำบริการประเภทนี้มาใช้กับการชำระเงิน การให้กู้ยืมเงิน และการประกันภัย เป็นต้น โดยบริการทางการเงินในรูปแบบดังกล่าวฝังตัวอยู่ในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดขายของบนโลกออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
สำหรับแนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับบทความ 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance โดย Strategy& ของ PwC ที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนของบริการทางการเงินแบบฝังตัวจะคิดเป็นมากกว่า 15% ของส่วนแบ่งรายได้ของธนาคารเพื่อรายย่อยในยุโรปในปี 2573 โดยตลาดบริการทางการเงินแบบฝังตัวจะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น ค้าปลีก โทรคมนาคม ประกันภัย หรืออีคอมเมิร์ซ เข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและทำให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ๆ เช่น บริการแบงกิ้ง บริการประกัน บริการท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ
แน่นอนว่าผลบวกที่ตามมาคือ นอกจากจะทำให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ embedded finance ก็จะยิ่งเติบโตตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ธนาคารเพื่อรายย่อยก็จะมีความเสี่ยงจากการต้องสูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้เล่นที่เข้ามาใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตลาดบริการการเงินแบบฝังตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.25 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 7.88 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2568 มูลค่าดังกล่าวจะเติบโตมากกว่าสิบเท่าเป็น 2.3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 8 ล้านล้านบาทในเชิงของปริมาณรายได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าตลาดรวมของบริการทางการเงินแบบฝังตัวทั่วโลกนั้นย่อมจะต้องสูงกว่านี้มาก
ในช่วงที่ผ่านมาผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มฟินเทค ได้นำบริการทางการเงินแบบฝังตัวมาใช้กับสินค้าและบริการของตนอย่างแพร่หลาย รวมถึงนำเสนอโซลูชันทางการเงินใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจบริการทางการเงินเพื่อรายย่อย เช่น การให้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังของธุรกิจสายการบิน การจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาล และการจัดตั้งรูปแบบการชำระเงินของตนเองของธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
สถาบันการเงินที่ต้องการก้าวสู่บริการทางการเงินแบบฝังตัวควรกำหนดบทบาทและวางตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งบทบาทสำคัญที่ธนาคารและสถาบันการเงินควรพิจารณามีดังต่อไปนี้ 1.สถาบันการเงินเข้าร่วมในระบบนิเวศ นำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินฝังเข้าไปในแพลตฟอร์มของธุรกิจอื่นๆ เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม 2.สถาบันการเงินร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ โดยร่วมกันกำหนดทิศทางของระบบนิเวศ 3.สถาบันการเงินเป็นผู้สร้างระบบนิเวศของตนเองขึ้นมา โดยมีอำนาจในการควบคุมอย่างเต็มที่ (full control) และเป็นผู้ลงทุนด้านเม็ดเงิน เวลา บุคลากร และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยจะยิ่งเห็นการจับมือทางธุรกิจระหว่างฟินเทคกับบริษัทลูกของธนาคารที่แยกออกมาสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรุกธุรกิจด้านการเงินสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้หรือรีเซตโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ แต่สิ่งที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญอย่างที่กล่าวไป คือ ต้องกำหนดบทบาทของตนในระบบนิเวศที่จะยิ่งทวีความซับซ้อน พร้อมปรับปรุงคุณค่าที่นำเสนอเพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อแข่งขันในตลาด โดยยึดการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า เป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้.
รุ่งนภา สารพิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม
จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ
เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ
สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย
ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง
แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ
จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว