ปลายเดือนพฤศจิกายน 2022 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง (International Institute for Democracy and Electoral Assistance หรือ International IDEA) ในสวีเดน เผยแพร่งานวิจัยสถานการณ์ประชาธิปไตยดังเช่นทุกปี ล่าสุดเป็นรายงานชื่อว่า “Global State of Democracy 2022: Forging Social Contracts in a Time of Discontent” มีสาระสำคัญดังนี้
International IDEA แบ่งการปกครองเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ ระบอบประชาธิปไตย อำนาจนิยมและแบบลูกผสม (hybrid) 2 แบบหลังไม่เป็นประชาธิปไตย
ระบอบที่นับว่าเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ฝ่ายค้านต้องมีโอกาสชนะ ทุกเพศทุกกลุ่มได้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียม ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีพลัง สามารถตรวจสอบรัฐบาล ศาลเที่ยงธรรม สื่อมีอิสระ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน มีประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น
ระบอบลูกผสม (hybrid) สังคมการเมืองเปิดกว้างมากกว่าระบอบอำนาจนิยม มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยแต่ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ ภาคประชาสังคมทำงานได้ สื่อมวลชนมีเสรีภาพแต่ยังไม่เปิดกว้างพอ
International IDEA ยังชี้ว่า ลำพังมีรัฐบาลประชาธิปไตยไม่พอ ต้องเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศได้ดีมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะที่สุดแล้วประชาชนไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลที่เขาเลือกมา แต่ต้องการตัวแทนบริหารประเทศที่นำความอยู่ดีมีสุขมาให้
ความจริงที่น่าตกใจคือ เมื่อปี 2017 ประชาชน 52.4% ตอบว่าประชาธิปไตยมีความสำคัญ (ผู้ตอบแบบสอบถามจาก 77 ประเทศ) แต่ล่าสุด 47.4% (ไม่ถึงครึ่ง) ตอบว่าประชาธิปไตยมีความสำคัญ
ปี 2009 ผู้ตอบแบบสอบถาม 38% เห็นว่าต้องการผู้นำเข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง (เน้นผู้นำประเทศที่บริหารประเทศได้ดีมากกว่ามีการเลือกตั้ง) ปี 2021 ผู้ตอบแบบสอบถาม 52% ให้ความสำคัญกับผู้นำเข้มแข็งมากกว่ามีการเลือกตั้ง
เทียบปี 2016 กับ 2021 พบว่าจำนวนประเทศที่ขยับเข้าหาระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) เพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศที่ขยับเข้าหาประชาธิปไตยกว่าเท่าตัว ระดับความเป็นประชาธิปไตยตกต่ำลงทุกที ตัวอย่างประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอยอย่างแรง (severely backsliding) คือ บราซิล เอลซัลวาดอร์ ฮังการี และโปแลนด์ ประเทศที่ถดถอยพอสมควร (moderately backsliding) ได้แก่ อินเดีย มอริเชียส และสหรัฐ ที่น่าเป็นห่วงคือผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ทำลายสถาบันการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยจึงถดถอย ส่วนประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ที่เหลือก็ไม่ได้พัฒนาให้ดีขึ้นแต่อย่างใด การปกครองด้วยระบอบนี้ต่อเนื่องยาวนานไม่เป็นเหตุยกระดับประชาธิปไตยให้สูงขึ้นแต่อย่างใด
ฝั่งกลุ่มประเทศอำนาจนิยมก้าวสู่เผด็จการมากขึ้น พบว่าเกือบครึ่ง (49.3%) เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างที่เด่นชัดได้แก่ อัฟกานิสถาน เบลารุส กัมพูชา และคอโมโรส
พิจารณาในแต่ละภูมิภาค:
ข้อมูลปี 2021 ประชากรแอฟริกากับเอเชียตะวันตกเพียง 11% เท่านั้นที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย 14% อยู่ในระบอบลูกผสม ที่เหลือ 75% เป็นอำนาจนิยม แอฟริกายังเป็นแถบที่อ่อนไหวไม่มั่นคง บางประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น แกมเบีย ไนเจอร์และแซมเบีย ทั้งนี้มาจากประชาชนตกลงร่วมกันที่จะอยู่แบบประชาธิปไตย อิสราเอลคือประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากสุดในแถบนี้
แถบอาหรับยังมีปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่พอใจรัฐบาล ประเทศที่ขายน้ำมันได้มากและแจกจ่ายสวัสดิการยังอยู่ได้ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป กระจายผลประโยชน์ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
ประเทศแถบแอฟริกากับเอเชียตะวันตกมีลักษณะคล้ายกันตรงที่เกิดระบอบกระจายผลประโยชน์ที่ผู้ปกครองเป็นศูนย์กลาง พวกที่ใกล้ชิดผู้ปกครองจะได้ผลประโยชน์มากสุด เป็นระบอบอุปถัมภ์ที่มีอิทธิพลเหนือประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยในแถบเอเชียกับแปซิฟิกเสื่อมถอย อำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น ประชากร 54% อยู่ในระบอบประชาธิปไตย (ผลจากจีนที่อยู่กลุ่มนี้) ที่น่าตกใจคือ 85% ของกลุ่มประชาธิปไตยนี้กำลังอ่อนแอลง กระทั่งประเทศอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวันก็เป็นเช่นนั้น เสรีภาพสื่อหดหาย ชาติพันธุ์นิยมแรงขึ้น กองทัพแทรกแซงการเมือง เป็นการเมืองแบบอุปถัมภ์ ผู้บริหารประเทศทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
สังคมไม่ไว้ใจการเมือง เรียกร้องให้ตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุง สภาพเช่นนี้ปรากฏชัดที่คาซัคสถาน ศรีลังกาและไทย
ผลจากโรคระบาดโควิด-19 สงครามยูเครนซ้ำเติมประเทศในแถบเอเชียกลางกับเอเชียใต้ เป็นโอกาสให้กับทั้งประชาธิปไตยและอำนาจนิยม (เป็นไปได้ 2 ทาง)
การปรากฏตัวของชาติพันธุ์นิยมในอินเดียทำให้เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ
รวมความแล้วบางประเทศในกลุ่มนี้ยังสุ่มเสี่ยงเกิดความวุ่นวายทางการเมืองครั้งใหญ่ ส่วนประเทศที่ไปได้ดีคือเกาหลีใต้ เป็นแบบอย่างประชาธิปไตยสูงขึ้น ประชาธิปไตยในแถบหมู่เกาะแปซิฟิก (Oceania) ยังเข้มแข็งอยู่ อาจลดลงบ้างเล็กน้อย
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองหลักของยุโรป แต่ 17 ประเทศหรือ 43% อ่อนแอลงใน 5 ปีที่ผ่านมา เกือบครึ่งของ 17 ประเทศนี้เดิมมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ปัญหาหลักคือคนไม่เชื่อถือหลักประชาธิปไตยดังเช่นอดีต และไม่เชื่อถือสถาบันทางการเมือง
ประเด็นที่สังคมถกกันมากคือ ประชาธิปไตยไม่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งเห็นผลแง่ลบที่ซ้ำเติมจากโรคระบาดโควิด-19 ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงลิ่ว
กองทัพรัสเซียบุกยูเครนส่งผลสั่นสะเทือนทั่วยุโรป ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่ง เศรษฐกิจหดตัวหรือไม่โต พรรคการเมืองขวาจัดก้าวขึ้นมาเป็นที่นิยม สังคมกังวลพลังงานขาดแคลน ทั้งหมดนี้กระทบต่อประชาธิปไตย ชาติยุโรปที่ชี้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการกำลังโดนทดสอบอย่างหนัก เกิดกระแสที่รัฐบาลต้องปกป้องประชาธิปไตยในประเทศ (ลดความช่วยเหลือหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับยูเครน) ต้องต่อสู้ด้านข้อมูลข่าวสาร ต้องให้ประชาชนศรัทธาหลักปกครองนี้
รัสเซีย เบลารุส และอาเซอร์ไบจานจัดอยู่ในกลุ่มรัฐอำนาจนิยม เบลารุสเป็นเผด็จการมากขึ้น เซอร์เบียกับตุรกีจัดอยู่ในกลุ่มลูกผสมและเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส
ด้านมอลโดวาเป็นตัวอย่างประชาธิปไตยเฟื่องฟูทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและผู้แทนส่วนใหญ่ในรัฐสภา อยู่ในกลุ่ม 1 ใน 4 ของโลกที่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง
โดยรวมแล้วประชาธิปไตยยุโรปอ่อนแอลง ผู้คนสงสัยว่าระบอบนี้ให้ความยุติธรรมเท่าเทียมหรือไม่ ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงนับวันจะเป็นปัญหา ปัญหาว่างงาน สภาพการจ้างงาน คุณภาพชีวิตที่แย่ลง การบริการของรัฐไม่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถ่างกว้าง ปัญหาคนต่างด้าวอพยพ ปัญหาคนสูงวัย เหล่านี้นำสู่คำถามว่าระบอบประชาธิปไตยรับมือไหวหรือไม่ น่าตกใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าคนยุโรป 3 ใน 4 ไม่เชื่อถือพรรคการเมือง ข้อดีอย่างหนึ่งคือประชาชนบางส่วนเห็นปัญหาแล้วตื่นตัวพยายามมีส่วนร่วมทางการเมือง พยายามรวมกลุ่มภาคประสังคม ถึงขนาดจัดตั้งกลุ่มข้ามประเทศ
ประชาธิปไตยสหรัฐถดถอยหนักในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ การเมืองแบ่งขั้ว สังคมแตกแยก เกิดกระแสไม่ยอมรับเสียงข้างมาก สิทธิเสรีภาพหดหาย สังคมเต็มด้วยข่าวปลอม การบิดเบือนข้อมูล เล่นงานศาล ผู้คนไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ ความไม่เท่าเทียม ชีวิตทรัพย์สินไม่ปลอดภัย มีการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง นโยบายประชานิยมกำลังทำลายประชาธิปไตย
อันที่จริงแล้วประชาธิปไตยเคยเฟื่องฟูในทวีปอเมริกา รุ่งเรืองมากสุดในช่วงปี 2006-7 แต่บัดนี้ประเทศนิการากัวกับเวเนซุเอลาเป็นอำนาจนิยม ปี 2021 เพิ่มเฮติอีกประเทศ ส่วนประเทศที่ถดถอยหนักได้แก่ บราซิล เอลซัลวาดอร์ และสหรัฐ
โดยรวมแล้ว ประชาชนไม่คิดว่านักการเมืองฟังเสียงของพวกเขา เกิดคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยยังทำงานอยู่หรือไม่ เป็นเครื่องเกื้อกูลหรือเป็นอุปสรรคกันแน่ กลุ่มภาคประชาสังคมทำงานอย่างหนักหวังให้พรรคการเมืองตอบสนอง เรื่องนี้มีผลต่อการเมืองในอนาคต
ข้อเสนอแนะ:
2 เรื่องแรกที่ International IDEA เอ่ยถึงคือลดการคอร์รัปชันกับทำให้ประชาชนเชื่อถือ
การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นสัญญาประชาคม (Social contract) ตั้งอยู่บนความเชื่อถือไว้ใจ ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นเหตุผลที่ประชาชนจะยอมรับการปกครองนี้ กฎหมายต้องประกันเสรีภาพการแสดงออกและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
ภาคประชาสังคมจะต้องสามารถเข้าตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ ต้องมองว่าหน่วยงานรัฐกับภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิด (ไม่ใช่จบเลือกตั้งแล้วรัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาทำตามนโยบายเท่านั้น) เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวมีส่วนร่วมโดยตรง เหล่านี้เป็นตัวอย่างข้อเสนอและบางประเทศทำแล้วได้ผลดี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง