ตะวันตกกำหนดเพดานราคา น้ำมันรัสเซีย : กระทบใครกันแน่?

เมื่อโลกตะวันตกประกาศกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียที่บาร์เรลละไม่เกิน 60 เหรียญฯ ตลาดน้ำมันโลกก็เข้าสู่ภาวะวุ่นวาย

ไม่เพียงแต่หน้าหนาวกำลังถูกใช้เป็น “อาวุธสงคราม” เท่านั้น น้ำมันดิบ, ไฟฟ้าและพลังงานก็กลายเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ของการศึกครั้งนี้ด้วย

แต่มาตรการกำหนดเพดานราคาสินค้าของผู้ขายโดยผู้ซื้อเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะท้ายที่สุดหลักเศรษฐศาสตร์ก็จะเป็นตัวกำหนดเองว่าคนซื้อหรือคนขายกันแน่ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่ากัน

ก็ต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์กับอุปทาน หรือ demand และ supply

ถ้าความต้องการมากกว่าของที่จะมีขาย ราคาก็ต้องขึ้น แต่หากความต้องการมีน้อยกว่าราคาก็ต้องลง

พอเกิดสงครามร้อนๆ ตรรกะปกติที่ใช้กันมายาวนานก็ถูกท้าทาย

เอาเข้าจริงๆ ฝ่ายใดจะกำหนดเงื่อนไขให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจต่อรองมากกว่าเท่านั้น

วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ

ที่รู้แน่ๆ ก็คือรัสเซียบอกว่าถ้าตะวันตกกำหนดเพดานราคา หรือ cap เอาไว้ ณ ราคานั้นก็จะไม่ขายให้

แต่จะขายให้กับตลาดเอเชีย เช่น จีนและอินเดียที่มอสโกพร้อมจะขายใน “ราคามิตรภาพ”

ซึ่งก็ยังสูงกว่าราคาเพดานของตะวันตกอยู่ดี

แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนกลับเห็นว่าราคา 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลยังไม่ต่ำพอ และเป็นราคาที่ “อ่อนไป”

จะต้องกดลงไปที่ 30 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จึงจะเป็นมาตรการลงโทษรัสเซียได้อย่างจริงจัง

ราคาระดับนั้นยิ่งไปกันใหญ่ รัสเซียยิ่งไม่ยอมขาย และน้ำมันดิบของรัสเซียก็ยิ่งจะหาทางออกไปตลาดอื่น

หรือรัสเซียต้องลดการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกที่อยู่ในภาวะที่ผัวผวนแปรปรวนเป็นอย่างยิ่ง

การตัดสินใจของสมาชิกสหภาพยุโรปที่เห็นพ้องกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะจำกัดการค้าน้ำมันทางทะเลของรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการเดินตามกลุ่ม G7

เป้าหมายชัดเจน ไม่ต้องปิดบังอำพรางกัน นั่นคือเพื่อเป็นการตัดรายได้ของมอสโกเพื่อลดความสามารถของเครมลินในการทำสงครามกับยูเครน

นั่นคือหน้าฉาก แต่หลังฉากนั้นมีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางในหมู่สมาชิกของสหภาพยุโรปพอสมควร

เอกอัครราชทูตของอียูใช้เวลาหลายวันในการแลกเปลี่ยน “อย่างเข้มข้น” ว่าราคาสูงสุดควรสูงหรือต่ำเพียงใด

โดยพยายามสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการลดรายได้ของรัสเซีย แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักกะทันหันในตลาดโลก

โปแลนด์และรัฐบอลติกมีจุดยืนที่แข็งกร้าวและต้องการจะกดดันรัสเซียให้สุดลิ่มทิ่มประตู

นั่นคือระดับที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แต่กรีซ ไซปรัส และมอลตา ซึ่งมีอุตสาหกรรมการขนส่งภายในประเทศที่สำคัญ และมีความต้องการใช้น้ำมันดิบเป็นจำนวนไม่น้อยเสนอให้อยู่ที่ 70 ดอลลาร์

ส่วนประเทศอื่นที่พยายามจะหาทางประนีประนอมด้วยการแสวงหาจุดกึ่งกลางระหว่าง 2 ขั้ว

โดยครั้งแรกพบกันครึ่งทางที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่อมาก็ไปอยู่ที่ 62 ดอลลาร์

แต่กลุ่มยุโรปตะวันออกยังคงถือว่า “สูงเกินไป” อาจจะไม่แรงพอที่จะทำให้รัสเซีย “เจ็บพอ”

แต่การเจรจาไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องราคา เพราะที่สำคัญกว่านั้นคือ หากตกลง ณ ราคาใดราคาหนึ่งแล้ว จะเอาไปใช้ปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า

จะมีใครเบี้ยวหรือไม่ หรือจะมีสมาชิกประเทศใดแอบซื้อในตลาดมืดที่ราคาสูงกว่าหรือเปล่า

ดังนั้นการเจรจาจึงพุ่งไปที่การบังคับใช้ ความโปร่งใส และมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ของสหภาพยุโรปที่อาจเกิดขึ้น

ข้อตกลงขั้นสุดท้ายบรรลุในเย็นวันศุกร์ หลังจากโปแลนด์เปิดไฟเขียวที่รอคอยมานาน              

ในแวดวงตลาดราคาน้ำมันดิบนั้นเป็นที่รู้กันว่ารัสเซียได้ขายน้ำมันดิบ Urals ของตนในราคาที่มีส่วนลดอยู่แล้ว

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 77-64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ซึ่งถูกกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนต์ประมาณ 20 ดอลลาร์

หากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่ประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นไปตามคำประกาศจริง ประเมินกันว่ารัสเซียจะสูญเสียส่วนต่างระหว่างราคาการค้าและราคาเพดานที่กำหนด

โดยที่อียูต้องตรวจตราอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ายังคงต่ำกว่าจุดขายของรัสเซียอย่างน้อย 5%

เป้าหมายของตะวันตกนั้นคือการพยายาม "จะทำให้รายได้ของรัสเซียลดลงไปอีก" เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว     "ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ตลาดพลังงานทั่วโลกมีเสถียรภาพ"

เป็น 2 เป้าหมายที่ยากแก่การที่จะบรรลุได้อย่างราบรื่น เพราะมีอุปสรรคนานาประการที่จะต้องได้รับการแก้ไขตลอดเส้นทางของการ “คว่ำบาตร” ชุดนี้

นอกจากเรื่องราคาแล้ว G7, EU และออสเตรเลียจะห้ามบริษัทการเงิน ประกันภัย การตั้งค่าสถานะและการขนส่งจากการทำงานร่วมกับบริษัทรัสเซียที่ขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการกลั่น เช่น แนฟทาและน้ำมันแก๊สโซลีนสำหรับส่วนใดๆ ที่เกิน 60 ดอลลาร์

ข้อมูลทางการบอกว่า รายได้จากการขายเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซีย       

ซึ่งคิดเป็นกว่า 40% ของงบประมาณของรัฐบาลกลาง

สถิติที่รับรู้กันคือจากจุดเริ่มต้นของสงคราม ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึง 28 พฤศจิกายน มอสโกมีรายได้มากกว่า 1.16 แสนล้านยูโร จากการขายน้ำมันดิบ และ 3.8 หมื่นล้านยูโร จากผลิตภัณฑ์น้ำมันและเคมีภัณฑ์

เป็นข้อมูลที่อ้างอิง Center for Research on Energy and Clean (CREA) ซึ่งเป็นองค์กรในเฮลซิงกิของฟินแลนด์

และสหภาพยุโรปเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาที่ว่านี้

แต่ไม่ใช่ว่ามาตรการอย่างนี้จะไม่มีผลย้อนกลับมาลงโทษยุโรปและประเทศที่เป็นมิตรกับตน

ผล “บูมเมอแรง” นั้นอาจจะมาในรูปของการกระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน และทำให้ประเทศที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบมีความรู้สึกต่อต้านชาติตะวันตก

เพราะหากเป็นเช่นนี้ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่รัสเซีย แต่เป็นประเทศยากจนทั้งหลายที่กลายเป็นเหยื่อของสงครามด้วยฝีมือของประเทศตะวันตกนั่นเอง

ตามการประเมินก่อนสงคราม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รัสเซียจำเป็นต้องขายน้ำมันในราคาระหว่าง 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการขนส่ง การสกัด และการพัฒนาหลุมใหม่

ดังนั้นแม้ว่ารัสเซียได้จะ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ก็อาจจะไม่ถึงกับต้องขาดทุนหนักมาก

แต่ประเด็นวันนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวอีกต่อไป

ปัจจัยเรื่องการเมือง, ความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาอย่างร้อนแรงด้วยเช่นกัน

 (พรุ่งนี้ : พอถูกตะวันตกสกัด, น้ำมันดิบรัสเซียหันมาหาตลาดเอเชีย)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ