รถบัสบริษัท Expreso Singer เข้าเทียบจอดที่สถานีรถบัส Terminal de Omnibus de Posadas เวลา 8 โมง 15 นาที จากกรุงบัวโนสไอเรสถึงเมืองโปซาดัสระยะทางประมาณ 1 พันกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมงพอดิบพอดี
ก่อนเดินทางมาเมืองโปซาดัส (Posadas) เมืองหลวงของรัฐมีซีโอเนส (Misiones Provincia) ทางเหนือของอาร์เจนตินา ผมได้คุยแอปเมสเซนเจอร์กับ “พระสีวอน ธัมมพิสิทโธ” เจ้าอาวาส “วัดลาวรัตนรังสิยาราม (แก้วสว่าง)” หรือที่นิยมเรียก “วัดลาวโปซาดัส” ว่าจะมากราบเยี่ยม
ระยะทางระหว่างสถานีขนส่งโปซาดัสกับวัดลาวโปซาดัสห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตร ผมจะใช้บริการรถอูเบอร์ อาจารย์สีวอนห้ามไว้ ท่านว่าจะมารับ ให้ผมนั่งรอในร้านแมคโดนัลด์ ใกล้ๆ กับสถานีขนส่ง
รถบัสของบริษัท Expreso Singer เข้าจอดที่สถานีขนส่งโปซาดัส
ลงจากรถบัสแล้วมองหาร้านแมคโดนัลด์ เห็นร้านอยู่ห่างไปไม่เกิน 300 เมตร แต่ผมไม่รู้ว่าจะเดินไปยังไง เพราะมองไม่เห็นถนน กลัวว่าเดินมุ่งหน้าไปแล้วไม่มีทางออกแล้วต้องเดินกลับมาที่เดิม
ไม่รู้นึกอะไรขึ้นมา ผมโพล่งถามผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่บริเวณชานชาลาเป็นภาษาอังกฤษ Excuse me ma’am, do you know how to walk to that McDonald’s? คำตอบที่ผ่านหน้ากากอนามัยเป็นภาษาอังกฤษระดับเจ้าของภาษา สำเนียงก็ฟังง่าย เธอไม่แน่ใจเหมือนกันว่าต้องเดินไปทางไหน แล้วก็ชี้มือพลางพูดว่าน่าจะต้องเดินออกจากสถานีไปที่ถนนใหญ่ก่อน
สุดท้ายเธอว่า “ถ้าไม่รีบ จะไปส่ง ฉันกำลังรอน้องชายอยู่ รถบัสของเขากำลังจะมาถึง” แล้วก็ถามผมว่าทำไมถึงได้มั่นใจว่าเธอพูดภาษาอังกฤษได้ ผมตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน
เธอสูงประมาณ 180 เซนติเมตร คะเนอายุโดยมีหน้ากากอนามัยปกปิดใบหน้า คงจะอยู่ที่สี่สิบกลางๆ ถึงปลายๆ แนะนำตัวว่าชื่อ “ลิลลี” เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พอผมพูดถึงนิคมผู้อพยพชาวลาว เธอก็บอกว่าเคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งมาจากนิคมดังกล่าว แต่จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว
น้องชายของลิลลีตัวสูงประมาณ 190 เซนติเมตร เดินลงจากรถบัสแล้วพุ่งเข้าสวมกอดพี่สาว ก่อนจะเดินไปรับกระเป๋าใต้ท้องรถ เมื่อเขาได้กระเป๋าแล้ว ลิลลีก็หันมากวักมือเรียกให้ผมเดินไปด้วยกัน
เธอเรียกแท็กซี่ที่จอดอยู่ในสถานีขนส่ง ให้ผมยกกระเป๋าล้อลากใส่ท้ายรถแท็กซี่ต่อจากกระเป๋าของน้องชาย ลิลลีนั่งหน้า น้องชายนั่งหลัง ผมตามเข้าไปนั่งพร้อมเป้ 2 ใบ แล้วเธอก็แนะนำ “นี่น้องชายฉัน ชื่อวิลลี เขามาเยี่ยมฉัน” ลิลลีไม่ได้บอกว่าวิลลีอยู่เมืองอะไร เขาพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่คล่องเท่าพี่สาว
วิลลีไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ดูจากใบหน้าอายุคง 40 ต้นๆ ทำให้ผมยิ่งมั่นใจว่าลิลลีน่าจะ 40 กลางๆ ถึงปลายๆ
นั่งรถไปได้ประมาณนาทีเดียวก็ถึงหน้าร้านแมคโดนัลด์ ลิลลีจดเบอร์โทร.ของเธอลงกระดาษยื่นให้ผม และบอกว่าถ้ามี WhatsApp ก็จะได้ส่งข้อความหากัน ตอนหลังจึงได้รู้ว่าเธอมีเชื้อสายเยอรมัน ผมมั่นใจเพราะนามสกุลมีคำว่า Von
ในอาร์เจนตินามีคนเชื้อสายเยอรมันอยู่เกือบ 4 ล้านคน หรือราวๆ 9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ถือเป็นหนึ่งในเชื้อชาติหลักของอาร์เจนตินา รองจากอิตาเลียนและสเปน ชาวเยอรมันอพยพมายังอาร์เจนตินาหลายระลอก ครั้งใหญ่สุดคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ชาวเยอรมันเกินครึ่งที่อพยพมาตั้งรกรากใหม่ในอาร์เจนตินามาจากลุ่มน้ำโวลกาในรัสเซีย ก่อนหน้านั้นระหว่างปี ค.ศ.1764-1767 จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 หรือ “แคทเธอรีนเดอะเกรต” (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.1762-1796) ได้ทรงชักชวนชาวเยอรมันจาก “ปรัสเซีย” ให้ย้ายถิ่นไปลงหลักปักฐานในดินแดนดังกล่าว และให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ชาวเยอรมันจากปรัสเซีย เนื่องจากว่าพระองค์ทรงเป็นอดีตเจ้าหญิงเยอรมันแห่งปรัสเซียนั่นเอง แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ชาวเยอรมันก็เริ่มถูกต่อต้านจากชาวรัสเซีย ถูกคุกคามหนักขึ้นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากทางการ จนต้องอพยพหลบหนีออกมาในที่สุด
ปัจจุบันคนอาร์เจนตินาเชื้อสายเยอรมันอาศัยอยู่ในหลายรัฐทั่วประเทศ ในรัฐมีซีโอเนสก็มีไม่น้อย แต่มากสุดคือรัฐบัวโนสไอเรส อิทธิพลของวัฒนธรรมเยอรมันสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไส้กรอกหลากหลายชนิด และการผลิตเบียร์ มีเบียร์ที่ชาวเยอรมันเป็นผู้ก่อตั้งและโด่งดังมากคือเบียร์ยี่ห้อ Quilmes
ผมลากกระเป๋าเข้าร้านแมคโดนัลด์ กินมื้อเช้าแล้วเข้าห้องน้ำ พอออกจากห้องน้ำเดินออกไปดูนอกร้าน ก็เห็นอาจารย์สีวอนเดินมาจากลานจอดรถพร้อมกับพ่อออกเจ้าของรถยนต์
อาจารย์สีวอนให้พ่อออกท่านนี้ขับไปส่งที่วัดลาวอีกแห่ง อยู่ห่างจากสถานีขนส่งประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นสาขาของ “วัดรัตนรังสิยาราม (แก้วสว่าง)” เรียกว่า “วัดน้อย” เพราะมีขนาดเล็ก ทราบว่าเป็นบ้านคนมาก่อน เจ้าของถวายให้กับวัด มีภิกษุหนุ่มวัย 28 ชื่อ “พระสมสัก” จำวัด เวลานี้ภิกษุอาวุโสแต่พรรษายังไม่มากชื่อ “พระพูเวียง” จาก “วัดรัตนรังสิยาราม (แก้วสว่าง)” มาจำวัดอยู่ด้วย ท่านอาพาธด้วยโรคเกี่ยวกับไต การมาอยู่วัดน้อยนั้นสะดวกเพราะใกล้หมอ อีกทั้งญาติโยมชาวลาวในย่านนี้ก็มีมากกว่า
บรรยากาศฉันเพลในวัดลาวโปซาดัสแห่งที่ 2 (วัดน้อย)
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ญาติโยมชาวลาวที่เมืองชาสโคมุส รัฐบัวโนสไอเรส นิมนต์พระสงฆ์ทั้ง 3 รูปไปจำวัดที่วัดหลวงอาร์เจนตินา เพราะต้องการทำพิธีบังสุกุลทั้งแก่ผู้วายชนม์และบังสุกุลคนยังอยู่สามสี่รายติดๆ กัน ช่วงเวลานั้นผมเดินทางถึงวัดหลวงอาร์เจนตินาพอดี
ทั้งนี้ ที่ผมเขียนชื่อเต็มวัดลาวโปซาดัส โดยวงเล็บ “แก้วสว่าง” ไว้ด้วยตลอด เพราะชื่อวัดอย่างเป็นทางการเขียนไว้อย่างนั้น ซึ่ง “แก้วสว่าง” ก็คือความหมายของ “รัตนรังสี”
หลวงน้องสมสักให้ผมเก็บสัมภาระในห้องของท่าน รวมทั้งจัดที่นอนไว้ให้ผมงีบด้วย ท่านคงคิดว่าผมคงเพลียมาจากการเดินทางไกล แต่อย่างที่ได้บอกไปเมื่อตอนที่แล้ว รถบัสของบริษัท Singer เก้าอี้ขนาดใหญ่ ปรับนอนแนวราบได้คล้ายนอนบนเตียง มีม่านกั้นเหมือนเคบินส่วนตัว ทำให้ผมหลับสนิทรวดเดียวประมาณ 7 ชั่วโมง เช้านี้จึงไม่มีอาการง่วงและอ่อนเพลีย พอได้อาบน้ำยิ่งสดชื่นขึ้นอีก
เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ผมได้ใส่เสื้อยืดตัวเดียวโดยไม่ต้องสวมแจ็กเกตทับ และใส่รองเท้าแตะเดินไปไหนมาไหนได้ รัฐมีซีโอเนสอากาศอบอุ่น เฉลี่ย 20-30 องศา แต่สภาพอากาศแปรปรวนได้ง่าย บางทีอากาศร้อนๆ อยู่ฝนก็ตกลงมา อีกวันอุณหภูมิลดลงไปเหลือ 10 องศาต้นๆ
ภาพประทับใจในละแวกวัดน้อย
ใกล้ๆ 11 โมง พ่อออก-แม่ออกในละแวกวัดน้อยทยอยนำอาหารมาถวายพระ มาถึงก็จัดสำรับของใครของมันวางไว้บนโต๊ะฉันจนเต็มโต๊ะ พอคิดว่าไม่มีใครมาเพิ่มแล้วก็นิมนต์พระไปนั่ง จากนั้นคุกเข่าลงเอามือจับขอบโต๊ะประเคนพร้อมกัน
พระฉันเสร็จก็ส่งสัญญาณบอกญาติโยมให้เข้าไปขอข้าวพระโดยการกล่าว “เสสัง มังคะลัง ยาจามิฯ” พอพระพูดว่า “อนุญาต” แล้วท่านลุกจากโต๊ะไป ญาติโยมก็ยกเก้าอี้มาเพิ่ม เข้านั่งโต๊ะเดียวกับที่พระฉัน ผมถูกเรียกเข้าไปด้วย อาหารถูกปากมาก โดยเฉพาะเนื้อทอดของพ่อออกที่ผมรู้จักท่านหนึ่ง เคยเจอที่ชาสโคมุสหลายครั้ง
แม่ออกท่านหนึ่งพูดด้วยเสียงที่ไพเราะมากและพูดไทยชัดมาก เพราะเคยอยู่เมืองไทยหลายปี ก่อนพาครอบครัวเข้าศูนย์ผู้อพยพจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อยื่นเรื่องลี้ภัยในต่างประเทศ และได้มาอยู่อาร์เจนตินาพร้อมกับชาวลาวอีก 293 ครอบครัว เมื่อกว่า 40 ปีก่อน
ด้วยอาหารเต็มโต๊ะและผมก็กินเข้าไปมากพอสมควร สุดท้ายก็ง่วงนอนจนได้ ที่นอนที่อาจารย์สมสักปูไว้จึงถูกใช้งานหลังพ่อออก-แม่ออกกลับออกไปจากวัด
งีบได้สัก 15 นาที อาจารย์สีวอนชวนไปซูเปอร์เมร์คาโด ซึ่งก็คือซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ วัด ผมหาซื้อโฟมล้างหน้ามาเกือบ 2 เดือน ไม่เจอในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใดเลยสักแห่ง ที่นี่ก็เช่นกัน แม้ในประเทศบราซิล ที่หมายหลังจากนี้ของผมก็หาไม่เจอ ทราบภายหลังว่าต้องซื้อใน Farmacia หรือร้านขายยา เครื่องสำอางสารพัดอย่างจะวางขายในนั้น
ตอนบ่ายแก่ๆ อาจารย์สมสักพาผมออกไปเดินเล่นละแวกใกล้วัด ท่านเข้าร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ซื้อเครื่องมือบางอย่างไปซ่อมแซมวัด ขากลับผมขอแวะร้านเบเกอรี่ ซื้อถวายท่านและอาจารย์สีวอนสำหรับเป็นจังหันวันพรุ่งนี้ รวมถึงมื้อเช้าสำหรับตัวเอง ส่วนอาจารย์พูเวียงผมถวายวิตามินบำรุงร่างกาย ซึ่งได้มาจากหญิงชาวลาวในกรุงบัวโนสไอเรสผู้มีสามีเป็นคนอาร์เจนตินา
อาจารย์สีวอนรอให้โยมอีกคนมารับไปส่งที่วัดลาวโปซาดัส เย็นมากแล้วตอนที่โยมชื่อซินดีมารับ เธอเกิดที่โปซาดัสเมื่อ 32 ปีก่อน เป็นคนลาว 100 เปอร์เซ็นต์ พูดลาวไพเราะพอๆ กับแม่ออกเมื่อตอนเที่ยง แต่มักจะหลุดพูดภาษาสเปนกับอาจารย์สีวอนซึ่งท่านพอพูดได้บ้าง และพูดภาษาอังกฤษกับผมในบางครั้ง
ก่อนไปวัด เธอขับเข้าเขตใจกลางเมืองไปรับน้องสาววัย 16 ปีที่เพิ่งเลิกเรียน ผมสังเกตดูทั้งที่ชาสโคมุสและที่โปซาดัสแห่งนี้ โรงเรียนระดับมัธยมเข้าเรียนตอนบ่ายและเลิกเรียนเมื่อค่ำมืดแล้ว แต่ถึงแม้เด็กจะเลิกเรียนช้าก็ไม่มีปัญหาเรื่องมื้ออาหาร เพราะคนอาร์เจนตินากินข้าวเย็นประมาณ 2 ทุ่ม หรือหลังจากนั้น
โปซาดัส เมืองหลวงของรัฐมีซีโอเนส
น้องสาวของซินดีชื่อดารา พูดภาษาสเปน พูดลาวไม่ได้ แต่พอฟังออก ภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดีมากหากเทียบกับระดับอายุ และดีกว่าเด็กอาร์เจนตินาทั่วไปอย่างแน่นอน พวกเขาไม่ค่อยใส่ใจภาษาอังกฤษ เพราะในอเมริกาใต้ทั้งทวีป ยันเม็กซิโกในอเมริกาเหนือใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก
ทั้งอเมริกาใต้ มีบราซิลที่พูดโปรตุเกส เฟรนช์กิอานาพูดฝรั่งเศส และสุรินามพูดดัตช์ ส่วนประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการมีเพียงกายอานา ประเทศที่เหลือทั้งหมดใช้ภาษาสเปน
ซินดีกำลังจะไปทำงานที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่นั่นมีคนลาวยึดหัวหาดไว้บ้างแล้ว และนี่คงเป็นแรงผลักดันให้เธอใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนดารา ผมไม่ได้ถามว่าเหตุใดภาษาอังกฤษถึงดีเกินวัยทั้งที่ไม่ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ
เรามาถึงวัดลาวโปซาดัสราวๆ 2 ทุ่ม สองพี่น้องกลับเข้าเมือง อาจารย์สีวอนให้ผมพักกุฏิหลังใหญ่ซึ่งเป็นของหลวงพ่อพูเวียง มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเก็บของ และห้องโถงใหญ่ อาจารย์สีวอนจัดที่นอนไว้ให้ผมล่วงหน้ากลางห้องโถงใหญ่ กุฏิใกล้ๆ กันเป็นของแม่ชีเฒ่า ผมจำชื่อท่านไม่ได้ ส่วนอาจารย์สีวอนมีกุฏิอยู่ใกล้ๆ วิหารและหอฉัน อยู่ห่างออกไปราว 100 เมตร
วัดลาวโปซาดัสมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นวัดพุทธเถรวาทแห่งแรกในอาร์เจนตินา สร้างเมื่อ พ.ศ.2540 หลังชาวลาวอพยพลี้ภัยสงครามมาอยู่ในอาร์เจนตินาได้ 18 ปี มีซีโอเนสถือเป็นรัฐที่ชาวลาวอาศัยอยู่มากที่สุด แต่ผมไม่ทราบจำนวน สอบถามแล้วไม่มีใครให้ตัวเลขที่แน่ชัดได้
กุฏิพระสงฆ์ลาวที่ผู้เขียนได้รับเมตตาให้เข้าพัก
ส่วนสาเหตุที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้มากที่สุดนั้นชัดเจนว่ามาจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่มีความใกล้เคียงกับถิ่นฐานบ้านเกิด การเพาะปลูกทำได้ดี เพราะดินอุดมสมบูรณ์ พืชที่เพาะปลูกก็คล้ายๆ ที่เมืองลาว เรียกได้ว่าปลูกอะไรก็ได้ผล แม้แต่บักหุ่งหรือมะละกอ ถึงลูกจะไม่โตเท่าบักหุ่งที่เมืองลาว อย่างน้อยก็ยังมีตำบักหุ่งกิน
เมืองชาสโคมุสที่ผมไปอาศัยอยู่เกือบ 3 เดือนปลูกมะละกอไม่ขึ้น ส้มตำที่ทำได้คือตำแตงและตำบักสะเว่อ หรือฟักแม้ว ยามที่มีคนจากโปซาดัสลงไปก็จะเก็บมะละกอใส่ลังใบใหญ่ไปฝากญาติมิตร ผมเคยประจักษ์แก่สายตา เห็นการแบ่งมะละกอลูกเล็กๆ ออกเป็นกองๆ แล้วให้เลือกที่ละคน เป็นภาพที่มีชีวิตชีวาและดูสนุกสนานมาก
ก่อนอาบน้ำนอนคืนนี้ ผมได้ส่งข้อความทาง WhatsApp หาลิลลีเพื่อขอบคุณสำหรับน้ำใจ ลิลลีตอบกลับมาว่าหากต้องการความช่วยเหลือหรือเกร็ดความรู้เกี่ยวกับรัฐมีซีโอเนส เธอยินดีช่วย อีกประโยคเขียนว่า Welcome to Misiones, Tierra Colorado
ซึ่ง Tierra Colorado แปลว่า “ดินแดนแห่งดินแดง”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4 กลุ่มชั่วน่ากลัวเป็นนักหนา กลุ่มที่ 5 ยิ่งน่าสยอง
ณ เวลานี้ หลายคนมองประเทศไทยด้วยความห่วงใยว่า ประเทศไทยของเราที่เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก ทั้งการลงทุน การทำมาค้าขาย การเข้ามาพำนักยามชรา และการมาท่องเที่ยว
ลิ้นงู...ที่อยู่ในปากงู!!!
ถึงแม้นจะพะงาบๆ อยู่ห่างๆ...ไม่มีโอกาสได้ลงลึก เจาะลึก ในรายละเอียด ด้วยเหตุเพราะสุขภาพ สังขาร ร่างกาย และอาจด้วยความห่างเหิน ห่างหาย กับใครต่อใครมานานแสนนาน
ตั้ง 'นายพัน' สีกากีเริ่ม
อะไรจะเร็วขนาดนั้น! โผแต่งตั้ง "ตำรวจ" ระดับ "นายพันสีกากี" เริ่มขยับนับหนึ่งกันแล้ว ทั้งๆ ที่ระดับ "นายพล" ล็อตแรก ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)
ลัคนาตุลกับเค้าโครงชีวิตปี2568
ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีที่มีระยะแตกแยกพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท หรือยุ่งยากมรดก-การเงิน
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม