ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงปลอดภัยจึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมานั้นกลับเกิดเหตุการที่สร้างความเสียหายและหวาดผวาให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดเพลิงไหม้โรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และการผลิตหรือแปรรูปพลาสติก ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ซึ่งจากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะพบว่า เฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและแปรรูปพลาสติกในช่วงระหว่างปี 2560-2564 มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานถึง 24 ครั้ง
และยังพบในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาเกิดเหตุมากที่สุดถึง 10 ครั้ง ส่วนใหญ่เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วจะมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบเป็นอันมาก เนื่องจากพลาสติกและสารเคมีตั้งต้นต่างๆ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี สามารถติดไฟได้ง่าย ให้ความร้อนสูง ทำให้ยากแก่การควบคุมและดับเพลิง
นอกจากนี้ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 ว่า เพียงแค่ 5 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.-ต.ค.64 เกิดระเบิดและไฟไหม้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีสารเคมีอันตรายถึง 9 แห่งในเขตกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง ขณะไฟไหม้ทำให้สารเคมีและสารก่อมะเร็งหลายชนิดฟุ้งกระจายไปในอากาศ รวมทั้งน้ำที่เกิดจากการดับเพลิงได้ปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินใกล้เคียง มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยโดยรอบ
โดยเฉพาะเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 ถ.กิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564 ที่ผ่านมานั้น ได้มีสารสไตรีนโมโนเมอร์ฟุ้งกระจายในอากาศจนต้องทำการอพยพประชาชนออกไป 10 กิโลเมตร และยังส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังพบมีโรงงานอยู่จำนวนมากที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายอันตรายทั้งจังหวัดกว่า 200 แห่ง ซึ่งในนี้มีโรงงานลักษณะเดียวกับหมิงตี้เคมีคอลประมาณ 17-18 แห่ง มีทั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ ร่วม 4 เดือน ความคืบหน้าในการจัดการโครงสร้างอาคารและกากของเสียที่ถูกเพลิงไหม้นั้น ล่าสุดบริษัทประกันภัยอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมามารื้อถอนโครงสร้างอาคารจำพวกเหล็กและวัสดุที่มีมูลค่า ส่วนของเถ้ากากของเสีย ดินที่ปนเปื้อน มีแผนให้บริษัท เบตเตอร์ เวิล์ดกรีน จำกัด (มหาชน) รับนำไปกำจัด หลังจากงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ แต่เนื่องจากพื้นที่โรงงานอยู่ในความควบคุมของท้องถิ่น โดย อบต.ราชาเทวะ ที่มีคำสั่งประกาศ เรื่องปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ที่บริเวณบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้าง ดัดแปลง ซ่อมแซม รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารในเขตเพลิงไหม้ ภายในระยะเวลา 60 วัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี พ.ศ.2522 ซึ่งครบกำหนดแล้ว
ดังนั้นทางหมิงตี้ฯ จึงยื่นแผนปฏิบัติการรื้อซากและขนย้ายกากอุตสาหกรรมที่ยังคงคงค้างอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานที่ถูกเพลิงไหม้ไปกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อ อบต.ราชาเทวะแล้ว เพื่อให้ท้องถิ่นพิจารณาอนุญาต แต่เนื่องด้วยหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีผู้ตรวจสอบจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานที่กำกับ ได้แก่ กรมโยธาธิการ เป็นผู้พิจารณาเพื่ออนุมัติต่อไป
สรุปชัดร่วม 4 เดือนแทบจะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากการออกกฎระเบียบ ชนกลุ่มน้อยไร้อำนาจอย่างประชาชนก็รอต่อไป...อยู่อย่างกังวลกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ต่อไป และก็คงได้รอแล้วรออีกว่าใครจะเข้ามาดำเนินการกำลังขยะและกากในครั้งนี้ออกไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลและอนุญาตอย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องใช้เป็นบทเรียนทบทวนมาตรการความปลอดภัยของการประกอบกิจการโรงงานใหม่ทั้งหมด ว่ามีจุดใดต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ครอบคลุมโรงงานทุกประเทศทั้ง 64,038 แห่ง โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายในการประกอบกิจการ แล้วตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่มีชุมชนล้อมรอบ จะทำเพียงแค่วัวหายแล้วล้อมคอกกันต่อๆ ไป
และการดำเนินการนั้นต้องเข้มข้น ถูกต้องตามมาตรฐาน ปราศจากการทุจริต และต้องจริงใจ ถูกต้องตามกฎหมาย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องรีบแก้ไข อย่าให้ขยะเน่าใต้พรมที่ซุกเอาไว้หลุดออกมาโชว์ต่อสาธารชน เหมือนกับไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ ที่แอบซุกไว้จนได้เรื่อง ตอนนี้คงทำให้เก้าอี้หลายๆ คนร้อนจนนั่งไม่ติดกันเสียแล้ว ใครทำอะไรไว้ก็คงรู้ตัวเองดี นั่งร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างแล้วล่ะ.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม
เคลียร์ปมสถานีอยุธยา
เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research