ประชานิยมซ่อนรูป

จะพัฒนาประเทศยังต้องทำอีกหลายสิ่งครับ

เรื่องขจัดนักกินเมือง คงจะยากครับ เพราะเงื่อนไขยังไม่สุกงอมพอ

ปฏิรูปการเมือง ก็ยังแค่ฝัน

ปฏิรูปตำรวจยิ่งแล้วใหญ่

คงต้องรอกันอีกนาน

วานนี้ (๒๙ พฤศจิกายน) พูดเรื่องปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้รากเหง้าของตัวเองไปแล้ว 

เท่านั้นคงยังไม่พอ มีเรื่องรอให้แก้ไขอีกบานตะไท

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปีหน้านี้ สิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องตกผลึกในการสร้างนโยบายคือ ปัญหาที่รออยู่

เพลาๆ นโยบายประชานิยม แล้วไปเริ่มต้นกับปัญหาที่ต้องแก้

อย่างที่รู้กัน ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ไทยจะเผชิญวิกฤตหนัก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าเจอแน่ๆ

บางพรรคการเมืองพยายามเข็นนโยบายรัฐสวัสดิการ  แต่ที่น่ากังวลคือ รัฐมีรายได้เพียงพอที่จะเอามาบริหารจัดการหรือไม่

พรรคก้าวไกลบอกว่าสบายมาก แค่ตัดงบกลาโหม งบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอื่นๆ ก็เพียงพอที่จะ แจกตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เข้าไปดูเนื้อใน เงินผู้สูงวัยเดือนละ ๓ พันบาท ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ ๔๕๐ บาท ค่าทำศพ ฯลฯ

พูดจริงๆ นะครับ มันไม่ใช่รัฐสวิสดิการ แต่มันคือประชานิยมซ่อนรูป ลดแลกแจกแถมมากกว่าที่หลายๆ พรรคนำเสนอก่อนหน้านี้

นี่คือประชานิยมซ่อนรูปมาในคราบ รัฐสวัสดิการ เม็ดเงินจากการแก้แค้นเอาคืนกองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์

ฉะนั้นพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง และพยายามซื้อประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม

หากจะใช้นโยบายรัฐสวัสดิการจริงๆ ที่มาของงบประมาณต้องมีความเป็นสากลด้วย

คือการเก็บภาษีในอัตราที่สูง สมน้ำสมเนื้อกับการที่รัฐต้องจ่ายเพื่อดูแลประชาชน

เงินคนแก่เดือนละ ๓,๐๐๐ มันใช้ดำรงชีวิตจริงๆ ไม่ได้ครับ

ต้องหลักหมื่น

๒-๓ หมื่นต่อเดือน แบบนี้ถึงจะเรียกว่ารัฐสวัสดิการ

ทำแบบนี้ได้ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ๑๐% ขึ้นไป

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเกิน ๕๐%

ไปดูประเทศรัฐสวัสดิการเขาเสียภาษีเงินได้กันเท่าไหร่

ฟินแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๔๗%

เดนมาร์ก เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๕๖%

ญี่ปุ่น เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๕๖%

ไทย เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๓๕%

นิวซีแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๓๓%

สิงคโปร์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๒๒%

เห็นไทยจ่ายภาษีเยอะกว่านิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อย่าด่วนสรุปว่าเรารวยกว่า

เห็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าแต่รายได้ต่ำกว่า

สัดส่วนผู้เสียภาษีในไทยอยู่ที่ ๑๗% หรือประมาณ  ๑๑ ล้านคนเท่านั้น

เก็บภาษีได้ ๓ แสนล้านบาทเท่านั้น 

ไม่ใช่ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนประเทศรัฐสวัสดิการ

ฉะนั้นพรรคการเมืองต้องหัดพูดความจริงเสียบ้าง

ก็รู้อยู่มันงูกินหาง

ประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีแพง อ้างว่านักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดิน

ส่วนนักการเมือง ไม่เคยปลอดคอร์รัปชัน แต่ก็อยากได้งบประมาณ

ทีนี้มาดูว่า ทศวรรษหน้าต้องเจออะไรบ้าง

วันก่อน "ดร.อรรถพล สังขวาสี" ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พูดถึง ๕ ปัญหารุมเร้า ที่ต้องแก้เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ขณะที่ผลิตภาพแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงระดับติดลบ  

ประการแรก ในอีก ๑๑ ปีข้างหน้าผู้สูงอายุของไทยจะสูงขึ้นเป็น ๒๘% หรือมากกว่าปัจจุบันราว ๑๐% ซึ่งในทางวิชาการจะใช้ศัพท์ที่เรียกว่าสังคมสูงอายุระดับสุดยอด  และปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ๑๙.๒% อาศัยรายได้จากเบี้ยยังชีพจากราชการ ที่อัตราเพียงเดือนละ ๖๐๐-๑,๐๐๐ บาทต่อคนเท่านั้น

ประการที่ ๒ ผลิตภาพแรงงาน (Labour  Productivity) เป็นการวัดสัดส่วนผลผลิตต่อหน่วยของแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระยะยาว และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  (International Labour Organization:  ILO) พบว่า ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงของไทยมีทิศทางลดลงและปรับเป็นระดับหดตัวในปี ๒๕๖๓ ในอัตราร้อยละ -๑.๘๙ และจากการจัดอันดับโดย Institute  for Management Development (IMD) ปี ๒๕๖๔ ผลิตภาพแรงงานของไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๐ จาก ๖๔ ประเทศ

 ประการที่ ๓ ในปี ๒๕๖๒ ไทยมีกลุ่มเยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา (NEET) เยาวชนอายุ  ๑๕-๒๔ ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม มากถึง ๑.๓ ล้านคน (๑๔% ของเยาวชนไทย)  และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ ๑%

ประการที่ ๔ ในปี ๒๕๖๔ ไทยมีแรงงานฝีมือเพียง  ๑๔.๔% และมีแรงงานนอกระบบมากถึง ๕๒% ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการ เมื่อเกษียณอายุแล้วย่อมส่งผลกับการดำรงชีวิต ในระยะยาวจะกระทบต่อรัฐในการจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านสุขภาพ

และประการที่ ๕ ดัชนีทุนมนุษย์ (Human  Capital Index) ที่คำนวณโดยธนาคารโลก (World Bank) ในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๐.๖๑ หมายความว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยเมื่อเติบโตขึ้นจะมีศักยภาพในระดับร้อยละ ๖๑ ของผลิตภาพที่เป็นไปได้ของตัวเอง (Potential Productivity)

หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าเราจะเผชิญปัญหาหนัก และปัญหานี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงภาคการศึกษา (Education Sector)  เท่านั้น

จะส่งผลกระทบกับภาคอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

แต่...เราสามารถเข้าไปพัฒนา คือการเตรียมพัฒนากำลังคนให้ทำงานได้เต็มตามศักยภาพ

ครับ...นโยบายพัฒนาคน เอามาหาเสียงยากครับ นักการเมืองจึงไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ สู้แจกเงินไม่ได้

ฉะนั้นพรรคการเมืองไหนนำเสนอนโยบายมองไปในอนาคตทศวรรษหน้า ได้โปรดช่วยกันเลือกครับ

พวกประชานิยมซ่อนรูป อย่าไปสนับสนุนเด็ดขาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง